เบื้องหลังดีเบต กำหนดชะตาผู้นำสหรัฐ


ประเพณี "ดีเบต" หรือจัด "เวทีเป็นกลาง" ให้ตัวแทนผู้สมัครชิงตำแหน่ง "ประธานาธิบดีสหรัฐ" ขึ้นไปปะทะคารม-แสดงวิสัยทัศน์ห้ำหั่นกันนั้น

ตามประวัติศาสตร์เริ่มต้นทำจริงๆ จังๆ เมื่อปีพ.ศ.2503 ในยุคสมัยที่สื่อ "โทรทัศน์" เริ่มส่งอิทธิพลอย่างมากต่อวิถีชีวิต-ความนึกคิดผู้คน

โดยผู้ท้าชิงคู่แรกที่ดีเบตออกโทรทัศน์ปีดังกล่าว ได้แก่ "ริชาร์ด นิกสัน" นักการเมืองเก๋าเกมสังกัดพรรครีพับลิกัน ซึ่งกำลังนั่งเก้าอี้รองประธานาธิบดี กับ "จอห์น เอฟ. เคเนดี้" (เจเอฟเค) ส.ว.ดาวรุ่งพุ่งแรงแห่งพรรคเดโมแครต

เรื่องฮือฮาเกิดขึ้นเพราะบนเวทีดีเบตเจเอฟเคเป็นฝ่ายกำชัยชนะเบ็ดเสร็จด้วยบุคลิกมั่นคง หน้าตาหล่อเหลา ขึ้นกล้อง

ต่างจากนิกสัน ที่แม้ชั่วโมงบินทางการเมืองสูงแต่ตื่นกล้องจนเครียด อีกทั้งไม่ได้แต่งหน้าแต่งตา พอมองผ่านกล้องหน้าตาจึงไม่สดใส ห่อเหี่ยวเหงื่อแตกพลั่ก ไร้มาดผู้นำ

ว่ากันว่า ภาพพจน์แย่ๆ ของนิกสันในวันดีเบตนั่นเองที่กลายเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ "เจเอฟเค" ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 35!

พูดกันตามตรงแล้ว จุดสำคัญในศึกดีเบตที่สื่อและชาวบ้านสหรัฐต่างคอยจับตาด้วยความลุ้นระทึก หาใช่ถ้อยแถลงนโยบาย แต่มันคือการจ้องจับผิดรอดู ว่า

ผู้สมัครคนไหนจะ "ปล่อยไก่" หรือแสดงอาการ "ฉลาดน้อย" พล่ามอะไรผิดๆ ถึงขั้น "ฆ่าตัวตายกลางเวที" หรือไม่!

หนึ่งในผู้สมัครที่ต้องเจ็บปวดเพราะความผิดพลาดในวันดีเบตไปจนวันตาย เห็นจะไม่มีใครเกินประธานาธิบดี "เจอรัลด์ ฟอร์ด" สมัยปะทะคารมกับ "จิมมี่ คาร์เตอร์" ในปี 2519 แล้วดันปล่อยไก่ทั้งเล้า ตอบคำถามเรื่องต่างประเทศเสียงดังฟังชัด..





"ยุโรปตะวันออกไม่ได้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียต!?!"

คำตอบนี้เล่นเอาผู้ดำเนินการดีเบต ผู้ฟังในห้องส่ง และชาวสหรัฐทั่วประเทศ "อึ้ง" ไปตามๆ กัน

เพราะใครต่อใครล้วนทราบดีว่าขณะนั้นโซเวียต "พี่ใหญ่ค่ายคอมมิวนิสต์" ได้ส่งทหารนับแสนนายเข้าไปครอบงำดินแดนต่างๆ ทั่วภูมิภาคยุโรปตะวันออกเต็มไปหมดแล้ว!

อีกวันถัดมา ฟอร์ดก็เลยมีสภาพเป็น "จำอวด" คนใหม่ในสังคมสหรัฐไปโดยปริยาย

ปล่อยให้คาร์เตอร์ชนะเลือกตั้ง เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 39 สมใจนึก!

ฉะนั้นด้วยเหตุที่ผลลัพธ์การขึ้นเวทีดีเบตมีส่วนส่งผลสะเทือนต่อ "ภาพลักษณ์-ความน่าเชื่อถือ" ของผู้สมัคร

ทีม "กุนซือ" พรรครีพับลิกัน-เดโมแครตยุคต่อๆ มาจึงทุ่มเทเตรียมความพร้อมเพื่องานดีเบตอย่างรัดกุม

เช่น ลงรายละเอียดกันชนิดที่ว่า ต้องเจรจากำหนด "อุณหภูมิระบบปรับอากาศ" ภายในห้องดีเบต ไม่ให้ร้อนจนอาจทำให้ผู้สมัครเสียบุคลิกภาพเพราะเหงื่อแตกปุดๆ

ส่วน "โพเดียม" ที่ยืนพูดของแต่ละฝ่าย ก็ออกแบบให้สอดรับพอดีกับความสูงผู้สมัคร ไม่ให้ดูสูง-ต่ำกว่ากัน และกำหนดระดับแสงสว่างภายในห้อง ฯลฯ

นอกจากนี้ กุนซือยังจะต้องคาดการณ์-จัดเตรียมตัวอย่าง "คำถาม-คำตอบ" ซึ่งคาดว่าจะต้องพบเจอแน่ๆ บนเวทีนับสิบๆ ข้อ เพื่อให้ผู้สมัครโต้ตอบได้ทันท่วงทีและถูกต้อง เมื่อโดนผู้ดำเนินการดีเบตหรือคู่แข่งไล่บี้ขึ้นมา จะได้ไม่ลนจนปล่อยไก่

โดยกุนซือผู้รับหน้าที่ดูแลภาพพจน์ รวมทั้งคอยป้อนข้อมูลให้ผู้สมัครเอาไว้เล่นงานคู่ต่อสู้นั้นมีชื่อเรียกว่า "สปินด๊อกเตอร์" หรือ "นักปลุกปั่นกระแส"

ในวันที่เข้าไปนั่งชมการดีเบตนัดแรกระหว่าง "โอบามา-แม็กเคน" ณ มหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี้ ก็มีโอกาสเห็นลูกมือสปินด๊อกเตอร์ฝ่ายนายแม็กเคนวิ่งหัวหมุน คอยเอาเอกสารตอบโต้คำพูดนายโอบามาหนาเป็นปึกๆ มาแจกนักข่าวหลายร้อยชีวิตในห้องสื่อมวลชน

เมื่อขั้นตอนดีเบตผ่านการวางหมากมาแทบทุกเม็ด เข้าทำนองไก่เห็นตีนงู-งูเห็นนมไก่..

คำพูด-พฤติกรรมที่ปรากฏบนเวทีจึงดูไม่ต่างกับการ "เตี๊ยม" ไว้ล่วงหน้า และน่าเบื่อพอสมควร

ต้องรอจนถึงวันเข้าไปมีอำนาจบริหารประเทศจริงๆ นั่นแหละ..

อเมริกันชนถึงจะตัดสินได้ว่าไอ้ที่จ้อๆ ไว้นั้น มีส่วนจริงมากกว่าเท็จแค่ไหนกัน!

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์