แถลงการณ์วันสลายม็อบพันธมิตร


จากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลายกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ชุมนุมปิดล้อมหน้ารัฐสภา เมื่อรุ่งเช้าวันที่ 7 ต.ค. ต่อเนื่องตลอดทั้งวัน จนมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก

องค์กรภาคประชาชนต่างๆ ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้



องค์กรสิทธิ-ภาคประชาชนแนะ2ฝ่ายยุติความรุนแรง-ให้ทหารอดกลั้น

นายเมธา มาสขาว ประธานศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า เครือข่ายสิทธิมนุษยชนและเครือข่ายภาคประชาชน 5 องค์กร คือ มูลนิธิ 14 ตุลา คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.) คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 และศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย

ขอแถลงการณ์ เรื่อง ขอประณามการใช้ความรุนแรง ให้แก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธี ดังนี้

1.เรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกินกว่าเหตุ และให้รัฐบาลนำผลการตรวจสอบมาดำเนินการกับผู้สั่งการตามกระบวนการ

2.เรียกร้องให้พันธมิตรใช้แนวทางสันติวิธีอย่างเคร่งครัดเพื่อปกป้องชีวิตประชาชนอย่างถึงที่สุด

3.เรียกร้องให้รัฐบาลและพันธมิตรเปิดเจรจาทางการเมืองเพื่อแสวงหาทางออกของทั้ง 2 ฝ่าย

4.เรียกร้องให้ทหารใช้ความอดกลั้นและอย่าแทรกแซงความขัดแย้งทางการเมือง โดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย

ครบรอบ 35 ปี 14 ตุลา 16 และ 32 ปี 6 ตุลา 19 กลัวว่าเหตุการณ์ขณะนี้จะนำไปสู่บาดแผลเก่า เพราะรัฐบาลเรียกประชุมครม.นัดพิเศษ จากนั้นมีคำสั่งให้ตำรวจจัดการผู้ชุมนุม เป็นข้อที่รัฐบาลตั้งใจ

ขอเรียกร้องความรับผิดชอบต่อรัฐบาล ขอให้ใช้บทเรียนเก่าเป็นอนุสติเตือนใจ

น.พ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานมูลนิธิ 14 ตุลา กล่าวว่า เหตุการณ์เช้ามืดวันที่ 7 ต.ค. แม้เกิดจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเสียงส่วนใหญ่ แต่ชัดเจนว่าไม่มีความชอบธรรมเพราะเป็นตัวแทนระบอบทักษิณ

แม้ท่าทีรัฐบาลนี้จะแสดงออกแตกต่างจากรัฐบาลสมัคร แต่ธาตุแท้ไม่แตกต่างกัน รัฐบาลต้องออกมารับผิดชอบ ทำให้ข้อเท็จจริงปรากฏและดำเนินการอย่างเหมาะสม

นายสมชาย หอมลออ ประธานครส. กล่าวว่า การชุมนุมของพันธมิตรหน้ารัฐสภาถือว่าสงบปราศจากอาวุธ การใช้กำลังของรัฐบาลในการสลายการชุมนุม เราขอประณามการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคน จนมีผู้บาดเจ็บ 70 คน แขนขาด 1 คน ขาขาด 1 คน น่าจะเกิดจากการใช้อาวุธหนักของเจ้าหน้าที่รัฐ

ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อการใช้สิทธิ เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ

ช่วง 4 เดือนที่พันธมิตรชุมนุมคัดค้านรัฐบาล บางครั้งอาจเกินขอบเขตกฎหมายบ้างแต่ทรรศนะเราเห็นว่ายังอยู่ในกรอบแนวทางสันติวิธี

ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐก็ถือกรอบแนวทางสันติ ขอชมกองทัพที่ยึดถือแนวทางสันติอย่างต่อเนื่องจนสังคมสร้างบรรทัดฐานกฎเกณฑ์ไม่ใช้ความรุนแรงมาแก้ความขัดแย้งทางการเมือง

แต่รัฐบาลละเมิดกฎเกณฑ์นี้ แม้อ้างต้องแถลงนโยบายตามรัฐธรรมนูญเพื่อความชอบธรรม แต่ในที่สุดกลับกลายเป็นความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลชุดนี้แล้ว

ขอเรียกร้องรัฐบาลให้ชดใช้เยียวยาผู้เสียหาย ผู้บาดเจ็บ สอบสวนเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานและผู้สั่งการควบคุมการปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเป็นผบ.ตร. หรือรองผบ.ตร. ลงโทษวินัยอาญาอย่างรวดเร็ว

นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานกป.อพช. กล่าวว่า อยากให้ 2 ฝ่ายทั้งพันธ มิตรฯ และรัฐบาลคำนึงถึงชีวิตประชาชน ยิ่งเกิดความรุนแรงก็มีโอกาสทหารเข้ามาแทรกแซงได้สูง

ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิฯ ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง และให้รัฐบาลนำผลตรวจสอบมาดำเนินการ

สถานการณ์หลังจากนี้น่าห่วง ขอให้ทหารอดกลั้นอดทนต่อความขัดแย้ง ไม่เข้าแทรกแซงด้วยวิถีที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย เพราะยังมีวิถีทางรัฐสภาไม่ว่าการยุบสภาหรือลาออก ไม่ควรให้ทหารมาแทรกแซงการเมืองจนถดถอย

ขณะที่พันธมิตรก็ต้องไม่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงเช่นกัน และต้องรับผิดชอบชีวิตคน ยืนยันสันติวิธีแท้จริง ต้องอดกลั้นทั้งคู่ หาทางเจรจาหาทางออกร่วมกัน อย่ายุติการเจรจา รัฐบาลต้องเปิดทางเจรจาอย่างจริงใจ

สังคมคาดหวังการเจรจาสันติ ไม่ทราบเหตุใดจึงเปลี่ยนแปลงแนวคิด ประสงค์อะไร สังคมตกใจมาก รัฐบาลต้องตอบสังคมให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ข่าวว่ารัฐบาลขัดแย้งกันก็ไม่ใช่หน้าที่สังคมต้องรับผิดชอบการกระทำนี้

การที่พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากรองนายกฯ ถือว่ารับผิดชอบ แต่รัฐบาลต้องรับผิดชอบมากกว่านี้

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์
ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 กล่าวว่า ขอให้รัฐบาลนี้กลับไปดูข้อตกลงที่คณะกรรมการญาติวีรชนฯ ทำกับรัฐบาลสมัยนั้น เป็นมติครม.หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่ระบุห้ามใช้ทหารควบคุมการชุมนุมเด็ดขาด ต้องใช้ตำรวจที่รับการฝึกฝนตั้งแต่เบาไปจนหนักตามลำดับ คือ 1.การเจรจากับผู้ชุมนุม 2.การใช้โล่ 3.การใช้กระบองยาง 4.การใช้แก๊สน้ำตา และ 5.การใช้กระสุนยาง

เหตุการณ์วันนี้เราขอประณามเจ้าหน้าที่ที่ข้ามไปใช้ขั้นที่ 4 โดยไม่ได้ทำตามลำดับขั้น ถือเป็นเรื่องเลวร้ายมาก ผู้ชุมนุมไม่ได้วิ่งปะทะ เหตุใดจึงยิงแก๊สน้ำตาเข้าฝูงชน ไม่มีใครทำในโลก

ที่พันธมิตรประกาศขั้นเด็ดขาดให้รัฐบาลยุบสภาภายใน 6 โมงเย็น กังวลว่าชัยชนะที่ได้มาจากการสูญเสียไม่สมควรได้ สังคมไทยอยู่ได้ด้วยความประนี ประนอม พันธมิตรให้ความรู้กับประชาชนมาก

แต่การเมืองไม่มีทางลัด การพัฒนาขอให้ค่อยเป็นค่อยไป



"กลุ่มอาจารย์แพทย์"ให้ลงโทษคนสั่งการ

อาจารย์แพทย์ แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในนาม"กลุ่มอาจารย์แพทย์" และแพทย์ประจำบ้านของโรงเรียนแพทย์ 8 สถาบัน ห่วงใยวิกฤตของชาติ

ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหา วิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงพยาบาลรามาฯ โรงพยาบาล ศิริราช มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จำนวนกว่า 300 คน

ร่วมกันแสดงจุดยืน ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 4 ไม่เห็นด้วยต่อเหตุการณ์ที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร

น.พ.เกรียง ตั้งสง่า อ.ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ประสานงานกลุ่มอาจารย์แพทย์ฯ กล่าวว่า สืบเนื่องจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มอาจารย์แพทย์ฯ ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 4 ดังนี้

1.ขอประณามเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้สั่งการในการใช้กำลังเข้าทำร้ายประชาชน ที่ชุมนุมโดยสันติวิธี เพราะเป็นการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม และเป็นสิ่งที่ไม่สมควรปฏิบัติ ในประเทศที่เจริญแล้ว

2.รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต้องยุติการกระทำรุนแรงดังกล่าว และต้องไม่นำวิธีรุนแรงมาใช้ในการปราบปรามประชาชนที่ชุมนุมโดยสันติวิธี

3.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องนำตัวผู้ที่สั่งการและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำที่รุนแรงและไร้มนุษยธรรมครั้งนี้มาลงโทษโดยด่วนทันที

เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุใช้เพียงแก๊สน้ำตาแต่กลับส่งผลถึงขั้นมีผู้ที่บาดเจ็บขาขาด 1 รายนั้น แสดงให้เห็นว่าอาจมีการใช้อาวุธที่รุนแรงกว่าแก๊สน้ำตา

กลุ่มอาจารย์แพทย์ฯ เห็นพ้องกันว่า รัฐบาลชุดนี้มีความผิดตั้งแต่เริ่มเข้ามารับตำแหน่งแล้ว จากเหตุการณ์ครั้งนี้รัฐบาลต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบ

กลุ่มอาจารย์แพทย์ฯ จะทำหนังสือแถลงการณ์ส่งไปยังผู้บัญชาการ 4 เหล่าทัพ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนาธิการทหารบก เพื่อให้รับทราบถึงข้อเรียกร้องดังกล่าวด้วย



กก.สิทธิมนุษยชนจี้สอบข้อเท็จจริง

สืบเนื่องจากการใช้ความรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุมเช้าวันที่ 7 ต.ค. 2551 บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา จนมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสหลายราย เป็นการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ที่ผิดพลาด

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอประณามการใช้ความรุนแรงครั้งนี้และมีมติหยิบยกกรณีนี้ขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป



มติแพทย์ชนบทให้ครม.ลาออก

แถลงการณ์ชมรมแพทย์ชนบท ฉบับที่ 1 โดยน.พ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ระบุ จากที่รัฐบาลใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงเกินกว่าเหตุ ชมรมแพทย์ชนบทเห็นว่า

1.วิสัยของผู้นำประเทศที่ดีควรต้องมีสัจจะในการบริหารบ้านเมืองจึงสามารถนำพาประเทศให้พ้นวิกฤตได้ แต่ผู้นำรัฐบาลในยุคนี้กลับกำลังนำพาประเทศชาติไปสู่วิกฤต เนื่องจากขณะที่รัฐบาลให้สัญญาณการเจรจากับกลุ่มพันธมิตรและมีนโยบายเน้นการสร้างความสมานฉันท์ กลับมีพฤติกรรมจับแกนนำพันธมิตร เป็นที่ทราบดีว่าตำรวจไทยไม่มีทางกล้าจับหากไม่มีการส่งสัญญาณไฟเขียวจากรัฐบาล แสดงให้เห็นถึงการตีสองหน้า

2.จากภาพการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา จนทำให้มีผู้ชุมนุมต้องขาขาดและบาดเจ็บสาหัส บาดแผลไหม้เกรียมเป็นจำนวนมากนั้น รมว. มหาดไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องแสดงความรับผิดชอบ เนื่องจากภาพที่ปรากฏ ส่อไปในทางให้เห็นได้ว่าตำรวจมีความตั้งใจทำ ร้ายประชาชนที่ต่อสู้แบบอสิงหา

3.ชมรมแพทย์ชนบทของประณามการสลายการชุมชุมที่ใช้ความรุนแรงเกินขอบเขตส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและทุพพลภาพ สะท้อนให้เห็นถึงธาตุแท้ของรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ภายนอกดูนุ่มนิ่ม แต่ภายในนั้นซ่อนปืนซ่อนดาบ

4.ความรุนแรงไม่ได้ทำให้สถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้น ยิ่งในค่ำคืนวันนี้นับว่าเป็นคืนแห่งวิกฤต ชมรมแพทย์ชนบทขอเรียกร้องให้โรงพยาบาลต่างๆ ในกรุงเทพฯและโรงพยาบาลชุมชนในเขตปริมณฑลเตรียมความพร้อมหรือระดมรถพยาบาล เพื่อเตรียมรับสถานการณ์การปะทะและการสลายการชุมนุมที่อาจเกิดขึ้นได้จากการลุแก่อำนาจของรัฐบาลมายา 2 หน้า

ชมรมแพทย์ชนบท ขอเรียกร้องให้รัฐบาลมายา 2 หน้าของนายสมชาย ลาออกทั้งคณะ เพื่อเปิดทางให้มีการคลี่คลายสถานการณ์บ้านเมืองด้วยกลไกทางการเมืองเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ อย่าให้ประชาชนต้องสูญเสียศรัทธาต่อประชาธิปไตยในระบอบผู้แทนไปมากกว่านี้เลย



เครือข่ายเภสัชกรยุต้านรบ.

นายวิทยา กุลสมบูรณ์ ประธานมูลนิธิเภสัชชนบท กล่าวว่า เครือข่ายเภสัชกรและสาธารณสุขเพื่อสังคม ประกอบด้วย มูลนิธิเภสัชชนบท ชมรมเภสัชชนบท กลุ่มศึกษาปัญหายา กลุ่มนักวิชาการเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม

กลุ่มเภสัชกรมหาสารคามพิทักษ์ธรรม กลุ่มเภสัชกร 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มเภสัชศาสตร์สังคมและบริหารภาคใต้ กลุ่มเภสัชกรเพื่อผู้บริโภคอุบลราชธานี กลุ่มเภสัชกรนครราชสีมาเพื่อมวลชน กลุ่มเภสัชกรเชียงใหม่พิทักษ์ธรรม

ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมกันเพื่อต่อต้านรัฐบาล เนื่องจากรับไม่ได้กับพฤติกรรมการใช้กำลังและความรุนแรง จัดการกับกลุ่มพันธมิตรที่ส่วนใหญ่คือผู้หญิง และผู้สูงอายุ ซึ่งไร้อาวุธ มีข้อเรียกร้อง คือ

1.รัฐบาลต้องหยุดใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุมทันที

2.รัฐบาลหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศแล้ว ตั้งแต่วินาทีที่เลือดของผู้ชุมนุมและตำรวจไหลรดลงแผ่นดินไทย เครือข่ายขอประกาศขับไล่รัฐบาลชุดนี้ให้ออกไป

พวกเราไม่มีวันยอมรับรัฐบาลและบุคคลในรัฐบาลทุกคนที่ได้ทำร้ายเพื่อนร่วมชาติ มีเจตนาฆ่าคนไทยด้วยกันเอง และขอเรียกว่านี่คือรัฐบาลเลือด

พวกเราจะต่อต้านรัฐบาลชุดนี้ถึงที่สุด และขอเชิญชวนให้ประชาชนไทยร่วมกันต่อต้าน อย่ายอมอยู่ใต้การบริหารของรัฐบาลสามานย์



สภาทนายไล่รัฐบาลขาดความชอบธรรม-ประณามตำรวจใช้แก๊สน้ำตา

จากที่มีการใช้แก๊สน้ำตาทำให้มีผู้บาดเจ็บสาหัสและมีอันตรายเกิดแก่กายและจิตใจหลายราย สภาทนายความเห็นว่าการใช้กำลังและอาวุธของเจ้าหน้าที่ตำรวจภายใต้การชี้นำของรัฐบาล เป็นการกระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ

จึงขอแถลงการณ์ให้ทราบเพื่องด หรือปฏิบัติโดยพลัน ดังนี้

1.รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่จัดตั้งขึ้นสืบทอดอำนาจบริหารจากรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งยังมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะถูกยุบพรรคพลังประชาชน เพราะกรรมการบริหารพรรคถูกคำพิพากษาของศาลฎีกาว่าใช้สิทธิเลือกตั้งโดยทุจริต

ดังนั้น ความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลจึงเป็นประเด็นที่ยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบของศาล

2.กรณีที่มีความเห็นทางกฎหมายภาครัฐหรือฝ่ายการเมืองว่าตราบเท่าที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดก็ยังจัดตั้งรัฐบาลได้นั้น จริงๆ แล้วที่ถูกต้องแนวความเห็นดังกล่าวใช้กับคดีอาญาเท่านั้น ต่างกับความสง่างามของพรรคการเมือง

เมื่อไม่มีความน่าเชื่อถือเพราะกรรมการบริหารพรรคทุจริตตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลฎีกา เท่ากับว่าการได้มาซึ่งเสียงส่วนใหญ่ในสภากระทำการโดยไม่สุจริต ย่อมไม่ได้รับการรับรองและไม่ควรจะรับรอง

3.แนวความคิดของการชุมนุมต่อต้านของกลุ่มพันธมิตร ได้ต่อสู้กับการทุจริตทุกรูปแบบ และเป็นเรื่องที่นานาอารยประเทศให้ความสนใจ

มีกติกาขององค์การสหประชาชาติที่สนับสนุนให้ประเทศสมาชิก ร่วมกันป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ปัจจุบันประเทศไทยเป็นเพียงภาคีสมาชิก

การชุมนุมต่อต้านการกระทำของพรรคการเมืองที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง แต่หากได้มาอย่างไม่สุจริตแล้ว ย่อมไม่มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะมีอำนาจสั่งการอย่างใด

แต่การชุมนุมต่อต้านของประชาชนที่ดำเนินไปจึงชอบด้วยกฎหมาย

4.สภาทนายความเสียใจที่เจ้าหน้าที่ตำรวจลุแก่อำนาจ ใช้อาวุธยิงเข้าใส่ฝูงชนโดยเล็งเห็นได้ชัดว่าจะเกิดการบาดเจ็บล้มตายขึ้นได้ การกระทำที่เกินไปของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องมีผู้รับผิดชอบ

5.ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สั่งระงับการดำเนินการอย่างใดที่ใช้กำลังเพื่อปะทะกับประชาชนที่ไม่มีอาวุธและส่วนใหญ่เป็นสตรี



มหิดลขอพธม.เลิกตั้งเงื่อนไข

ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ออกแถลงการณ์เป็นจดหมายเปิดผนึก ระบุ กลุ่มนักวิชาการและนักกิจกรรมด้านสันติวิธีเห็นว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นขยายตัวจนเกิดความสูญเสียชีวิตประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจถูกนำมาใช้เป็นเงื่อนไขของการทำลายระบอบประชาธิปไตย จึงเรียกร้อง ดังนี้

1.พันธมิตรและคู่ขัดแย้งทางการเมืองฝ่ายต่างๆ จะต้องยุติการสร้างเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรง เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองของตน โดยไม่คำนึงถึงชีวิตประชาชน

2.รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการควบคุมการชุมนุม จะต้องระมัดระวังไม่ใช‰ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม คำนึงถึงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น และหามาตรการที่เหมาะสมในการควบคุมการชุมนุม

และ 3. ประชาชนชาวไทยจะต้องร่วมกันคัดค้านการใช้ความรุนแรงของทั้ง 2 ฝ่าย และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหาทางออกจากความขัดแย้งทางการเมือง โดยวิธีการเจรจา และนำมาสู่การปฏิรูปการเมืองโดยสันติ ซึ่งเป็นความปรารถนาร่วมกันของคนในสังคมขณะนี้

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์