สุวัจน์สั่งผู้ว่าฯแจงชาวบ้านให้ชัดเจนเรื่องบ้านน็อคดาวน์

"สุวัจน์" แจง บ้านน็อคดาวน์!




สุวัจน์ ปฏิเสธยัดเยียดบ้านน็อคดาวน์ ให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม สั่งผู้ว่าฯ ชี้แจงชาวบ้านให้ชัดเจน


เช้าวันนี้ (20มิย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวัจน์ ลิปตพัลลป รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงกรณีที่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดอุตรดิตถ์ อึดอัดใจที่ทางการพยายามชักชวนให้รับบ้านน็อคดาวน์ ที่บริจาคโดยมูลนิธิไทยคมโดยอ้างว่าหากไม่รับก็จะไม่มีความช่วยเหลือใดๆ อีก ว่า ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบกลางให้ความช่วยเหลือในส่วนต่างๆ แล้วค่าชดเชยบ้านที่ได้รับความเสียหายทั้งหลัง ประมาณ 700 หลัง ส่วนบ้านที่เสียหายและต้องซ้อมแซมบางส่วนประมาณ 2,000หลัง ซึ่งบ้านที่เสียหายทั้งหลังมูลนิธิไทยคมจะสร้างบ้านน็อคดาวน์ให้มูลค่าหลังละประมาณ 1 แสนบาท



โดยทางจังหวัดจะเข้ามาดูพื้นที่จะจัดสร้างบ้าน และมีเงินช่วยเหลือทางทางราชการอีก 3 หมื่นบาทต่อครอบครัว แต่หากผู้ประสบภัยไม่ต้องการบ้านน็อคดาวน์ ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นวงเงิน 6 หมื่นบาท โดยเจ้าหน้าที่ได้ไปจัดพื้นที่ จัดระบบโครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่อให้ประชาชนอยู่กันอย่างยั่งยืนเพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ใหญ่บ้านในจ.อุตรดิตถ์ ระบุว่าส่วนราชการจะยัดเยียดบ้านน็อคดาวน์ให้ประชาชนทั้งที่ประชาชนจะขอรับเงินสนับสนุน



"แจง" รับไม่รับ อยู่ที่สมัครใจ




นายสุวัจน์ กล่าวอีกว่า ไม่มีการยัดเยียดใดๆเพราะขึ้นอยู่กับความประสงค์และความสมัครใจของประชาชน เพราะหลักเกณฑ์จริงๆ เราช่วยเป็นเงินจำนวน 3 หมื่นบาทแล้วปรับเป็น 6 หมื่นบาทต่อครอบครัว แต่มูลนิธิไทยคมเห็นใจประชาชน ที่ประสบภัยก็เลยเสนอสร้างบ้านน็อคดาวน์ให้ ซึ่งใครอยากได้ก็บอก ใครไม่ อยากได้ก็ไม่เป็นไรไม่มีการบังคับ ซึ่งบ้านน็อคดาวน์ของมูลนิธิไทยคม ถือว่าเราได้ฟรีไม่ ต้องใช้งบประมาณของราชการ ทั้งนี้การช่วยเหลือใช้หลักเกณฑ์เช่นเดียวกับสึนามิ อย่างไรก็ตามเมื่อมีข่าวอย่างนี้เกิดขึ้นตนจะมอบหมายให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กำชับไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ประสบภัย ได้ชี้แจงกับประชาชนว่า จะรับบ้านหรือไม่ก็ให้ เป็นความสมัครใจ



รองนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการติดตั้งศูนย์เตือนภัย ว่าขณะนี้นายปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ นำเรื่องทั้งหมดไปทบทวนอยู่ เพราะเราต้องการให้เป็นศูนย์เตือนภัยระดับชาติ ดูแลปัญหาภัยธรรมชาติทั้งประเทศ ดังนั้นจึงต้องปรับระบบการทำงาน เครื่องมือ อุปกรณ์ การบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อรับส่งข้อมูลและเตือนภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที โดยเป็นภาพรวมทั้งประเทศ ส่วนในพื้นที่เสี่ยงภัยถือเป็นภาระกิจเร่งด่วนที่จะต้องติดตั้งสัญญาณเตือนภัย


โดยจะติดตั้งในพื้นที่ภาคเหนือเป็นอันดับแรก ทั้งนี้ติดว่าใน 2 สัปดาห์นายปลอดประสพจะเสนอครม.เพื่อพิจารณาการตัดตั้งสัญญาณเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยก่อน ส่วนภาพรวมในการติดตั้งระบบเตือนภัยทั้งประเทศจะใช้เวลาอีกประมาณ 2 เดือน เพราะต้องใช้งบประมาณหลายพันล้านบาท จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบและคุ้มค่า






แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์