โพลชี้คนกรุงส่วนใหญ่ไม่เชื่อข่าวลือ-มั่นใจชุมนุม5มี.ค.ไม่รุนแรง

โพลชี้คนกรุงส่วนใหญ่ไม่เชื่อข่าวลือ-มั่นใจชุมนุม5มี.ค.ไม่รุนแรง

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 2 มีนาคม 2549 18:08 น.

เอแบคโพล เปิดผลสำรวจความเชื่อต่อข่าวลือทางการเมืองของคนกรุงร้อยละ 69.2 ไม่เชื่อว่าจริง ส่วนเรื่องทักษิณใช้กำลังปราบผู้ชุมนุมเกินครึ่งไม่เชื่อ ขณะที่ร้อยละ85.8 เมินข่าวทหารปฎิวัติ ด้านร้อยละ49.2 ไม่คิดว่าชุมนุมวันที่5 มี.ค.จะเกิดความรุนแรง

วันนี้(2 มี.ค.) นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรต่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันและการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 ในเขตกรุงเทพมหานคร 1,277 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2549 ซึ่งกรณีความเชื่อต่อข่าวลือเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองขณะนี้ พบว่า ร้อยละ 39.4 เชื่อข่าวลือที่เกิดขึ้น ขณะที่ร้อยละ 60.6 ไม่เชื่อข่าวลือ ส่วนข่าวลือว่าจะมีการใช้ความรุนแรงในการชุมนุม ร้อยละ 30.8 เชื่อว่าจริง ขณะที่ร้อยละ 69.2 ไม่เชื่อว่าจริง

สำหรับข่าวลือว่า นายกรัฐมนตรีจะลาออกนั้น ประชาชนร้อยละ 24.6 เชื่อว่าจริง ขณะที่ร้อยละ 75.4 ไม่เชื่อว่าจริง ร้อยละ 20.8 เชื่อข่าวลือว่านายกรัฐมนตรีจะใช้กำลังตำรวจ-ทหาร ปราบกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นเรื่องจริง ขณะที่ร้อยละ 79.2 ไม่เชื่อว่าจริง ส่วนข่าวลือที่ว่านายกรัฐมนตรีและครอบครัวจะหนีออกนอกประเทศนั้น ร้อยละ 16.1 เชื่อว่าจริง ขณะที่ร้อยละ 83.9 ไม่เชื่อว่าจริง เมื่อถามความเห็นของตัวอย่างต่อข่าวลือว่าทหารจะปฏิวัติหรือรัฐประหารนั้น พบว่าร้อยละ 14.2 เชื่อว่าจริง ขณะที่ร้อยละ 85.8 ไม่เชื่อว่าจริง

ส่วนผลสำรวจการทราบข่าวการชุมนุมวันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคมนี้นั้น พบว่าประชาชนเกินกว่า 2 ใน 3 ระบุทราบข่าวดังกล่าว ขณะที่ร้อยละ 20.1 ไม่ทราบ เมื่อสอบถามถึงความตั้งใจในการเข้าไปร่วมชุมนุมวันดังกล่าวนั้น พบว่าร้อยละ 4.6 ตั้งใจว่าต้องไปร่วมแน่นอน ร้อยละ 2.7 คาดว่าจะไป ร้อยละ 12.8 อยากไปแต่กลัวอันตราย ขณะที่ส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 79.9 ไม่เคยคิดที่จะไป แต่เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการชุมนุมของประชาชนในวันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคมนั้น พบว่า ร้อยละ 28.0 คิดว่าจะเกิดความรุนแรง ขณะที่ร้อยละ 49.2 ไม่คิดว่าจะเกิดความรุนแรง และร้อยละ 22.8 ไม่มีความเห็น

สำหรับประเด็นสำคัญที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ ประชาชนร้อยละ 43.9 ระบุ แม้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะลาออกก็ยังจะเลือกพรรคไทยรักไทยอยู่ ขณะที่ร้อยละ 29.9 ไม่เลือก หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออก และร้อยละ 26.2 ไม่มีความเห็น

นายนพดล กล่าวว่า ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกนั้น ผลการสำรวจพบว่า ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออก ประชาชนกลับให้ความไว้วางใจตั้งใจจะเลือกพรรคไทยรักไทยมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจครั้งก่อนหน้านี้ จากร้อยละ 30 กว่า เป็นร้อยละ 40 เศษ ซึ่งน่าจะเป็นตัวเลขที่พรรคไทยรักไทย พอใจได้ เพราะนี่เป็นความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ หากเป็นความรู้สึกของคนต่างจังหวัด พรรคไทยรักไทยน่าจะได้รับความนิยมสูงกว่านี้ด้วย พ.ต.ท.ทักษิณ จึงไม่น่าจะเป็นห่วงกับกิจการทางการเมืองของพรรคมากเกินไป เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์ ม็อบชนม็อบล้อมปราบ พรรคไทยรักไทยจะอยู่ได้ลำบาก แต่เป็นธรรมดาของคนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิตที่มักจะปล่อยวางยาก และมักจะเป็นห่วงคนรอบข้างว่าพวกเขาจะอยู่กันไม่ได้ ถ้าตัวเองยุติบทบาททางการเมือง

นายนพดล กล่าวต่อว่า เมื่อสอบถามความคิดเห็นกรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายนนี้ ประชาชนจำนวนมาก หรือร้อยละ 46.3 ไม่เห็นด้วย เพราะฝ่ายค้านควรทำตามกติกา เป็นการเล่นเกมทางการเมืองมากเกินไป ทำให้เกิดความยุ่งยาก ขณะที่ร้อยละ 21.2 เห็นด้วย เพราะเป็นสิทธิตามกฎหมาย ฝ่ายค้านไม่ได้รับความยุติธรรม อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น และร้อยละ 32.5 ไม่มีความเห็น อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของผู้ที่ระบุไม่เห็นด้วยกับฝ่ายค้านดังกล่าวข้างต้นลดลงจากการสำรวจเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยถึงร้อยละ 74.1

สำหรับผลกระทบต่อความตั้งใจไปเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน เมื่อฝ่ายค้านไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งนั้น พบว่าร้อยละ 30.6 ระบุมีผลกระทบต่อความตั้งใจ ขณะที่ร้อยละ 48.2 ระบุไม่มีผลกระทบ ร้อยละ 21.2 ไม่แน่ใจ เมื่อสอบถามถึงความตั้งใจไปเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายนนั้น พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 57.3 ตั้งใจจะไป ขณะที่ร้อยละ 18.0 ไม่ตั้งใจ และร้อยละ 24.7 ไม่แน่ใจ นอกจากนี้ ประชาชนจำนวนมากหรือร้อยละ 40.7 เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากวันที่ 2 เมษายน เพราะสถานการณ์ปัจจุบันยังมีความร้อนแรงอยู่ ควรให้โอกาสฝ่ายค้าน ทุกพรรคจะได้มีเวลาในการเตรียมตัวมากขึ้น และไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ในขณะที่ร้อยละ 20.1 ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า เลือกวันไหนก็เหมือนกัน และการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา และร้อยละ 39.2 ไม่มีความเห็น อย่างไรก็ตาม ประชาชนครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50.0 ไม่ค่อยมั่นใจและไม่มั่นใจต่อความบริสุทธิ์ยุติธรรมในการเลือกตั้งที่จะมาถึง ขณะที่ร้อยละ 39.2 ค่อนข้างมั่นใจ และมั่นใจ ร้อยละ 10.8 ไม่มีความเห็น

สำหรับประเด็นข้อเสนอแนะผ่าทางตันสถานการณ์การเมืองขณะนี้ พบว่า ประชาชนเสนอแนะให้ทุกฝ่ายหันหน้าเจรจากันเพื่อยุติความขัดแย้ง รองลงมาคือ นายกรัฐมนตรีควรยุติบทบาททางการเมือง อันดับ 3 คือ ควรยกเลิกการชุมนุมประท้วง และฝ่ายค้านควรหันมาส่งผู้สมัครรับการเลือกตั้ง ตามลำดับ

นายนพดล วิเคราะห์ว่า ประชาชนที่ถูกสำรวจความเห็นครั้งนี้ กำลังคาดหวังใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองและกลุ่มชนชั้นนำของประเทศ ในเรื่องการเว้นวรรคทางการเมืองของนายกรัฐมนตรี และการหันหน้ามาเจราจายุติความขัดแย้งท่ามกลางกลุ่มการเมืองฝ่ายต่าง ๆ เพื่อสร้างประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองในเชิงสร้างสรรค์ที่ประชาชนจำนวนมากนับแสนคนชุมนุมเรียกร้องสปิริตของผู้นำประเทศ ด้วยความสงบไม่เกิดเหตุรุนแรงบานปลาย สร้างความโล่งใจแก่ประชาชนทั้งประเทศ แต่ถ้าเกิดเหตุรุนแรงบานปลาย กลุ่มบุคคลฝ่ายต่าง ๆ รวมทั้งผู้นำประเทศเองคงไม่สามารถหนีความรับผิดชอบได้ และประเทศไทยก็จะพบกับวิกฤตการณ์ประชาธิปไตยซ้ำซากบนซากปรักหักพังและความบอบช้ำของประเทศและคราบน้ำตาของประชาชนผู้สูญเสียที่ไม่มีวันเรียกร้องอดีตแห่งความสงบสุขให้กลับคืนมาได้

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์