ดร.แดนกับนโยบาย เร่งสร้างความปลอดภัยให้สตรีใน กทม.

เร่งสร้างความปลอดภัยให้สตรีใน กทม.



สตรีที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครจะมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเช่นเดียวกับสตรีที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่หลายเมืองทั่วโลก เช่น นิวยอร์ก ลอนดอน หรือเม็กซิโกซิตี้ เป็นต้น จากผลการศึกษาเพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงเหตุและดัชนีวัดภาวะวิกฤติในชีวิตผู้หญิงไทยวัยกลางคนที่ทำงานนอกบ้านในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดย ดร.อังศินันท์ อินทรกำแหง พบว่า สตรีวัยทำงานจำนวน 100 คนที่เข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์ มีถึง 92 คน ที่เคยถูกคุกคามทางเพศ ถูกลวนลาม ถูกละเมิดสิทธิในที่สาธารณะ บนรถโดยสารประจำทาง จากชายโรคจิต หรือผู้บังคับบัญชาในที่ทำงาน งานวิจัยนี้เป็นตัวอย่างสถิติที่แสดงให้เห็นว่า หากกรุงเทพมหานครยังไม่เริ่มต้นเอาจริงเอาจังในการป้องกันและจัดการกับปัญหาดังกล่าว สตรีจะใช้ชีวิตอยู่โดยไม่มีความมั่นใจในความปลอดภัยของตน คุณภาพชีวิตของสตรีในกรุงเทพฯ คงจะย่ำแย่ลงกว่านี้

ปัจจุบันเมืองใหญ่หลายเมืองทั่วโลกต่างได้หันมาให้ความสนใจและเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้

และได้กำหนดแนวทาง มาตรการ หรือนโยบายเพื่อความปลอดภัยของผู้หญิงขึ้น เช่น ที่เมืองโตเกียวในประเทศญี่ปุ่น ได้มีการกำหนดเที่ยวรถไฟพิเศษสำหรับผู้หญิงในช่วงเวลาเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาสตรีถูกลวนลามในขณะที่เบียดเสียดยัดเยียดขึ้นรถไฟ เช่นเดียวกับในกรุงเม็กซิโกซิตี้ ที่จัดให้ตู้รถไฟใต้ดินสามตู้แรกในช่วงเวลาเร่งด่วนเป็นตู้รถสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ หรือในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษได้มีการจัดบริการรถแท็กซี่สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ หรือในเมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ได้มีการออกแบบสถานีรถไฟใต้ดินให้มีกระจกล้อมรอบ

สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของแนวทางการป้องกันภัยและแก้ไขปัญหาเรื่องความปลอดภัยของสตรีในเมืองใหญ่

ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริหารกรุงเทพฯ ควรให้ความสำคัญ และเริ่มต้นเอาจริงเอาจังในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบนับตั้งแต่บัดนี้  โดยการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้เหมาะสมในการสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยของสตรี เช่น การป้องกันไม่ให้มีจุดอับหรือมุมมืดบริเวณสถานีรถไฟใต้ดิน การจัดการกับที่รกร้างว่างเปล่ามิให้เป็นจุดที่มิจฉาชีพจะใช้ทำการ การเอาใจใส่ความปลอดภัยเป็นพิเศษในที่เปลี่ยว การติดไฟแสงสว่างในซอยเปลี่ยว การเปลี่ยนพื้นที่ใต้ทางด่วนทุกที่ให้เป็นลานกิจกรรม สนามกีฬา หรือสถานที่สาธารณะประโยชน์อื่น ๆ ฯลฯ

กรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองที่น่าอยู่ได้ ก็ต้องเริ่มจากการทำให้คนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัยได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งก็รวมถึงสตรีทุกคนที่เป็นประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของคนในกรุงเทพมหานครด้วย

หมายเลข 2   ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์