ทักษิณ-พจมานต้องหนีคดีทุจริตนานแค่ไหน-จนตาย?ถึงจะพ้นเงื้อมมือศาลฎีกาของนักการเมือง

ถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ-คุณหญิงพจมานจะต้องหลบหนีกันนานเท่าไรถึงจะรอดจากการดำเนินคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คำตอบ คือ ต้องหนีจนกว่าจะตาย หรือจนกว่าคดีจะขาดอายุความ

"1. เมื่อ วันที่ 16 กันยายน 2551 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดพิจารณาครั้งแรก ในคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตกเป็นจำเลย ต้องหาว่า กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และ 157 กรณีอนุมัติให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิมแบงก์ ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับรัฐบาลพม่าจำนวน 4,000 ล้านบาท ในการพัฒนาโครงการโทรคมนาคม ของพม่า   ซึ่งตัวของจำเลยเองจะต้องปรากฏตัวต่อหน้าศาล เพื่อสอบคำให้การ เมื่อจำเลยไม่มา ศาลได้ออกหมายจับ และสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว จนกว่าจะนำตัวจำเลยมาขึ้นศาล  
 
2. เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2551 ในการนัดอ่านคำพิพากษา คดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ภรรยา เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่วมกันเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดีและเป็นเจ้าพนักงาน และผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นฯ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ม.4 , 100 และ 122  ประมวลกฎหมายอาญา ม.33, 83, 86, 91, 152 และ 157 จากกรณีที่คุณหญิงพจมานเข้าประมูลซื้อที่ดิน ย่านรัชดาภิเษก 4 แปลง จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

ปรากฏว่า จำเลยทั้งสองและทนายความจำเลยไม่มา ฟังคำพิพากษา จึงต้องออกหมายจับตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 32 วรรคสอง จึงให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 21 ตุลาคม เวลา 14.00 น. พร้อมมีคำสั่งให้ออกหมายจับจำเลยทั้งสอง มาฟังคำพิพากษาต่อไป
 
คดีตาม 1. เป็นกรณีหลบหนีศาลในนัดแรกของการพิจารณา
 
คดีตาม 2. เป็นกรณีหลบหนีศาลในนัดอ่านคำพิพากษา
 
ถามว่า จะต้องหลบหนีกันนานเท่าไรถึงจะรอดจากการดำเนินคดี
 
คำตอบ คือ ต้องหนีจนกว่าจะตาย  หรือ จนกว่าคดีจะขาดอายุความ
 
เหตุผลเป็นเพราะว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 บัญญัติไว้ว่า  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปเมื่อ
 
(1) โดยความตายของผู้กระทำความผิด
 
(6)  เมื่อคดีขาดอายุความ
 
อันที่จริงสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปได้ในอีกหลายกรณี  เช่น  (5) เมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำผิดยกเลิกความผิดเช่นนั้น หรือ (7) เมื่อมีกฎหมายยกเว้นโทษ

แต่ความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น) และมาตรา 157 (เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต) ที่พ.ต.ท.ทักษิณ  ต้องหาและถูกฟ้องเป็นจำเลยยังศาลฎีกาฯนั้น น่าจะยากที่จะมีการออกกฎหมายใหม่ยกเลิกความผิดหรือยกเว้นโทษ
 
เพราะฉะนั้น คงเหลือตาม (1) คือ ตาย และ (6) คือ คดีขาดอายุความ
 
ถ้าเกิดเหตุ (1) เสียก่อน สิทธินำคดีอาญามาฟ้องก็ระงับไป เพราะความผิดอาญานั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้กระทำ เมื่อไม่มีตัวของผู้กระทำแล้วก็ยุติไป  แต่ถ้าไม่เกิด (1) ก็ต้องรอเวลาตาม (6)

ถามว่า ระยะเวลาตาม มาตรา 39(6)ที่จะขาดอายุความนั้นนานเท่าไร
 
ตอบว่า อายุความในคดีอาญานั้นขึ้นอยู่กับโทษ 
 
โทษมากหรือโทษสูงอายุความก็ยาวหรือนาน  ที่โทษน้อยหรือโทษต่ำอายุความก็สั้น
 
เรื่องของอายุความนั้นต้องพลิกประมวลกฎหมายอาญาย้อนไปดูที่มาตรา 95 บัญญัติว่า "ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ"
 
(1) ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี
 
(2) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี
 
(3) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
 
(4) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี
 
(5) หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมาหรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
 
 ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนีหรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณา
ไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้ว นับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน
 
กำหนดโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และ 157 คือ จำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี
 
นี่คือ ระวางโทษจำคุกกว่า 7 ปี แต่ยังไม่ถึง 20 ปี
 
ดังนั้น จึงเข้าเกณฑ์ตามมาตรา 95 (2) อายุความ คือ 15 ปี
 
กรณีที่ยังมิได้ตัวมาขึ้นศาลซึ่งต้องนับระยะเวลา 15 ปีจากวันที่กระทำความผิด(วรรคแรก)
 
ส่วนกรณีได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้วหลบหนีก็ต้องนับ 15 ปีแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา(วรรคสอง)

สำหรับข้อเท็จจริงทั้งสองกรณีของคุณทักษิณนั้น เป็นกรณีตามมาตรา 95 วรรคสอง คือ ได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความ
ผิดมายังศาล แล้วผู้กระทำความผิดหลบหนี และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้
 
วันที่เริ่มต้นนับ 15 ปี  คือ วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณาไว้นั่นละ
 
ถ้าจะหลบหนีให้รอดก็ต้องนาน 15 ปี เพราะหมายจับที่ศาลออกมานั้น จะมีสภาพเป็นหมายจับอยู่จนกว่าจะจับได้ หรือไม่ก็จนกว่าคดีจะขาดอายุความ หรือศาลซึ่งออกหมายได้ถอนหมายคืน
 
ไม่เช่นนั้นก็ต้องกลับมาสู้คดี  จะผิดจะถูกก็ว่ากันอีกที

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์