ดร.แดนชูวิสัยทัศน์ Metro Port – ทำงานได้ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ

ดร.แดนชูวิสัยทัศน์ Metro Port – ทำงานได้ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ



ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศํกดิ์ หรือ ดร.แดน ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่า กทม. ชูนโยบายด้านไอทีเอาใจคนกรุง วางแผนให้กรุงเทพ ฯ เป็นมหานคร WiMax และสร้างสำนักงานชั่วคราว (Metro Port) เพื่อหยุดรถเข้าเมือง 100, 000 คันต่อวัน


ดร. เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า  การลงเลือกตั้งครั้งนี้มีกว่า 300 นโยบาย ภายใต้ 10 ด้านหลัก เพื่อรองรับความต้องการทุกด้านของชาวกทม.

โดยภายใต้นโยบายสะดวก มีนโยบายเรื่องการจราจร ให้คนกรุงเทพ ฯ สามารถเดินทางได้สะดวกสบาย และมีนโยบายด้านไอทีเข้ามาเสริมทัพ โดยจะมี 2 เรื่องหลัก คือ “กทม. มหานคร WiMax” และ “การสร้างสำนักงานชั่วคราว (Metro Port)”
ดร. เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า  การที่กทม. ต้องพัฒนาให้เป็นมหานคร Wimax เนื่องจากปัจจุบันบางพื้นที่ใน กทม. ยังไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เช่น ADSL หรือ WiFi เนื่องจากคู่สายโทรศัพท์ที่สามารถรองรับ อินเทอร์เน็ต ความเร็วสูงยังไปไม่ถึง โดยเฉพาะพื้นที่ชานเมือง และการขยายพื้นที่ของคู่สายยังทำได้ช้า

นอกจากนี้ราคาของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงยังแพง คุณภาพไม่คงที่ (กรณี WiFi) และไม่ครอบคลุมพื้นที่สาธารณะ

ผมจึงขอเสนอนโยบาย “กทม. มหานคร WiMax” ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยี WiMax มาใช้ เพื่อให้คน กทม. เข้าถึงอินเทอร์เน็ตด้วย “ราคาถูก ความเร็วสูง ครอบคลุมทุกพื้นที่ คุณภาพแน่นอน และความปลอดภัยสูง” ประชาชนจะสามารถใช้ อินเทอร์เน็ต ณ ที่สาธารณะได้ด้วยความเร็ว 10 Mbps แทนที่จะเป็น 64 Kbps ของ Green WiFi ในปัจจุบัน เร็วกว่าประมาณ 150 เท่า นอกจากนั้นผมจะเปิดกว้างให้กับทางเลือกเทคโนโลยีต่าง ๆ ทั้งเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะตามมา และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชาว กทม.


นโยบายนี้จะทำให้ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ หมดปัญหาการขอใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไม่ได้เพราะไม่มีคู่สายถึงบ้าน

สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ ทั้งที่ส่วนบุคคลและที่สาธารณะ โดยไม่มีปัญหาสัญญาณหลุด มีบริการใหม่ ๆ เกิดขึ้นอันเกิดจากการประยุกต์ใช้ WiMax นอกจากนี้ยังช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ เช่น ค่าใช้จ่ายของสำนักงานในการติดตั้งเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในสำนักงาน และรองรับการบริการสาธารณะของภาครัฐ เช่น รถฉุกเฉินสามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายอื่น ๆ เช่น โรงพยาบาล ตำรวจ ฯลฯ


สำหรับนโยบายนี้ภาคเอกชนจะเป็นผู้ลงทุน โดยมี กทม. เป็นผู้ส่งเสริมและผู้ใช้สำคัญที่มีอุปสงค์ขนาดใหญ่ที่จะกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว

กทม. จะเป็นผู้ลงทุนงานโยธา จัดหาพื้นที่และติดตั้งโครงสร้างเสาส่ง ส่วนเอกชนเป็นผู้ลงทุนอุปกรณ์ โดย กทม. จะเก็บค่าเช่าจากเอกชน หรือแลกเปลี่ยนเป็นสิทธิในการใช้บริการอินเทอร์เน็ตของหน่วยงาน กทม. นอกจากนี้ กทม. จะเป็นผู้ริเริ่มการประยุกต์ใช้งานเชิงสังคม เช่น ระบบ online บนรถฉุกเฉิน/รถกู้ภัย ตู้บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว ฯลฯ

อีกนโยบายหนึ่งคือ การสร้างสำนักงานชั่วคราว (Meto Port)  วิธีหนึ่งที่จะลดปริมาณรถเข้าเมืองได้ คือ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT)  มาช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน  เพราะปัจจุบันมีหลายอาชีพที่ไม่จำเป็นต้องเข้าสำนักงาน แต่สามารถทำงานจากระยะไกลได้ อาทิ นักบัญชี โปรแกรมเมอร์ สถาปนิก นักวิจัย นักกฎหมาย นักแปลภาษา พนักงานบันทึกข้อมูล ฯลฯ ผมจึงมีแนวคิดสนับสนุนการสร้างสำนักงานชั่วคราวหรือ Metro Port ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่รอบนอกของ กทม. เพื่อเป็น Third Place ในการทำงานให้กับคนกรุงเทพที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับการทำงานครบถ้วน, มีระบบตรวจสอบการเข้าทำงานของพนักงาน, มี shuttle bus บริการรับส่งระหว่างสำนักงานชั่วคราวและสถานีรถไฟฟ้า

ในกรณีที่ต้องการเดินทางเข้าเมือง สำนักงานชั่วคราวจะเป็นที่ที่สามารถเดินทางไปได้อย่างสะดวก ตั้งอยู่หลายจุด

คนทำงานสามารถเดินทางไปยังสำนักงานชั่วคราวด้วยระบบขนส่งมวลชน หรือขับรถไปจอดแล้วเข้าไปทำงาน (Park & Work) มีบริการให้เช่าสถานที่ทำงาน ทั้งแบบชั่วคราวและกึ่งถาวร โดยมีระยะเวลาการเช่าตามความต้องการ และมีลักษณะต่าง ๆ ตั้งแต่ Internet Café ไปจนถึงห้องทำงานหรือห้องประชุมส่วนตัว แนวคิดนี้จะช่วยลดการติดขัดของจราจรได้อย่างมาก เพราะหากมีผู้ที่สามารถทำงานในลักษณะนี้ได้จำนวนร้อยละ 5 หรือ 2 แสนคน ของผู้มีงานทำทั้งสิ้น 4 ล้านคนใน กทม. (ปี 2550)  และร้อยละ 50 ของคนกลุ่มนี้เป็นผู้ใช้รถส่วนตัว (ตามสัดส่วนผู้ใช้รถส่วนตัวในภาพรวมของ กทม.)  คาดว่าจะลดจำนวนรถที่วิ่งเข้าเมืองได้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนคันต่อวัน  ลดการใช้น้ำมันลงถึง 137 ล้านลิตรต่อปี ลดการนำเข้าน้ำมันได้ถึง 4,760 ล้านบาทต่อปี  และลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของรัฐเนื่องจากมลภาวะที่ลดลง

นอกจากช่วยแก้ปัญหาการจราจรแล้ว แนวคิดนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตของคน กทม.ดีขึ้น มีเวลาให้กับคนในครอบครัวมากขึ้น สุขภาพดีขึ้น

รวมถึงสำนักงานต่าง ๆ จะได้รับประโยชน์ เพราะพนักงานมีผลิตภาพในการทำงานสูงขึ้น ทั้งนี้จากงานศึกษาในต่างประเทศพบว่า การทำงานนอกสำนักงาน 1-3 วันต่อสัปดาห์จะช่วยเพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 10-20 และช่วยลดค่าใช้จ่ายของสำนักงาน โดยเฉพาะการลดค่าใช้จ่ายด้านพื้นที่เนื่องจากสำนักงานในตัวเมืองซึ่งมีราคาสูงมาก นอกจากนี้ ยังช่วยบรรเทาความแออัดในเมือง  เพราะสำนักงานชั่วคราวยังช่วยดึงดูดกิจกรรมต่าง ๆ เข้ามาตามกิจกรรมการทำงาน เช่น ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ เกิดเป็นย่านชุมชนใหม่และย่านธุรกิจใหม่


หมายเลข 2   ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์