วิปรบ.ดันแก้ กม.คดีนักการเมืองต้อง3ศาล-รุมยำกฎหมายป.ป.ช.ประเคนอำนาจยึด-อายัดทรัพย์

วิปรัฐบาลรุมยำ กม.ป.ป.ช.ชี้ให้ออกระเบียบปฏิบัติได้เหมือนเช็คเปล่ารอใส่ตัวเลขเอง ข้องใจประเคนอำนาจยึด-อายัดทรัพย์สินต้องสงสัย แย้มอาจตีตก เพราะเข้าข่าย พ.ร.บ.การเงินที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกฯก่อน จ้องรื้ออีก กม.พิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แก้ผิดศาลเดียวติดคุก เปิดทางให้ต่อสู้คดีได้ 3 ศาล อ้างไม่เกี่ยวช่วย 'ทักษิณ'

นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) จากพรรคพลังประชาชน (พปช.) เป็นประธานการประชุมวิปรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล จากนั้นเปิดเผยว่า ที่ประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่) พ.ศ..... ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้ยกร่าง และต่อมาถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระบวนการตรากฎหมายดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบในการตรากฎหมาย โดยเชิญนายศราวุธ เมนะเศวต เลขาธิการ ป.ป.ช.เข้าชี้แจง

นายสามารถกล่าวว่าวิปรัฐบาลตั้งข้อสังเกตและติดใจในหลายประเด็น อาทิ

1.การกำหนดให้ ป.ป.ช.มีอำนาจจัดทำบัญชีค่าตอบแทนต่างๆ ได้เอง ซึ่งอาจเข้าข่าย พ.ร.บ.การเงินที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี ก่อนนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

 2.การทำงานของ ป.ป.ช.ที่จะให้เพิ่ม ป.ป.ช.จังหวัด
3.การให้อำนาจ ป.ป.ช.ในการอายัด หรือยึดทรัพย์ได้ก่อนในกรณีมีเหตุสงสัยว่า ทรัพย์สินนั้นๆ ได้มาโดยผิดปกติ

4.การเปิดทางให้ ป.ป.ช. ออกระเบียบปฏิบัติได้เอง ซึ่งเปรียบเสมือน Blank check หรือเช็คเปล่าที่ให้กรอกวงเงินได้เอง

นายสามารถกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตวาระการดำรงตำแหน่งของ ป.ป.ช.ที่สามารถอยู่ได้นานถึง 9 ปี ว่านานเกินไป แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะเรื่องนี้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงต้องไปแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวันที่ 13 สิงหาคมนี้ โดยในเบื้องต้นต้องพิจารณาว่าเป็น พ.ร.บ.การเงินหรือไม่ ถ้าเป็น พ.ร.บ.การเงินจะต้องถอนร่างดังกล่าวออกไปจากการพิจารณาของสภา

นายสุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.ลพบุรี วิปรัฐบาลจาก พปช. เปิดเผยว่า จะเดินหน้าแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ต่อไป เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาสามารถต่อสู้คดีได้ 3 ศาล เหมือนคดีอาญาอื่นๆ ไม่ใช่ผิดศาลเดียวแล้วติดคุกเลย ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกทำกัน โดยขณะนี้ร่างแก้กฎหมายฉบับดังกล่าวได้บรรจุในระเบียบวาระการพิจารณาของสภา และมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาเรียบร้อยแล้ว ยืนยันว่า ไม่ได้เร่งแก้กฎหมายเพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีคดีค้างอยู่ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่เป็นการทำให้ระบบนิติรัฐกลับคืนมา และยังส่งผลดีต่อกระบวนการยุติธรรมด้วย

ขณะที่นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีคณะอนุกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงพิจารณายุบพรรค พปช.ที่มีนายประทีป เปรื่องวงศ์ อัยการอาวุโสเป็นประธาน ทำหนังสือเชิญนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรค และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะเลขาธิการพรรค พปช. เข้าชี้แจงในคดียุบพรรว่า คณะอนุกรรมการมีหนังสือแจ้งไปยังนายสมัครและ นพ.สุรพงษ์ให้มาชี้แจงภายในวันที่ 13 สิงหาคมเท่านั้น หากไม่สามารถมาเองได้ ก็สามารถบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรได้

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมกฎหมาย พปช. กล่าวว่า ในวันที่ 13 สิงหาคม นายสมัคร และ นพ.สุรพงษ์ คงจะไม่ไปชี้แจงต่อ กกต. แต่ทั้ง 2 คนยืนยันว่า จะทำคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ แนวทางการต่อสู้คดียุบพรรค พปช.จะแตกต่างจากการต่อสู้ในคดียุบพรรคไทยรักไทย เพราะผู้บริหารพรรคไทยรักไทยสมัยนั้นให้การแค่ว่ารู้การกระทำ แต่ไม่ได้ห้าม แต่ พปช.ทำหนังสือแจ้งเตือนผู้สมัครทุกคนตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้วว่าไม่ให้ทำผิดกฎหมาย

'ผลการต่อสู้คดีขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่า จะตีความรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ว่าอย่างไร แต่อยากย้ำว่า มาตรา 237 เป็นผลพวงมาจากการยุบพรรคไทยรักไทย ถ้าตีความเข้มแข็งพรรคพลังประชาชนก็อาจจะถูกยุบได้ แต่ใช้หลักรัฐศาสตร์ในการตีความ มันก็อาจจะมีทางไป' นายชูศักดิ์กล่าว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์