รายงาน: ´อัยการ-กกต.´เปิดศึก ยุบพรรคใหญ่

กรุงเทพธุรกิจ

7 มิถุนายน 2549 19:29 น.

จับทางกกต.เหตุไฉนส่งสำนวนสอบสวนพรรคใหญ่ให้อัยการวินิจฉัย แต่กลับไม่ชี้มูลความผิดยุบ "พรรคไทยรักไทย" หรือ..นี่คือกระบวนการยื้อเพื่อต่ออายุพรรคใหญ่กันแน่

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ :
: จันทร์เสี้ยว บางนรา

++++++++

นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อธิบดีอัยการฝ่ายคณะกรรมการอัยการ ในฐานะโฆษกประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึง กรณีที่คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งหนังสือพร้อมหลักฐานของคณะอนุการกรรมตรวจสอบข้อเท็จจริงการจ้างพรรคเล็กลงสมัครถึง นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด เพื่อให้ดำเนินการยุบพรรคไทยรักไทยว่า

หลังจากนายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด ได้รับหนังสือแล้ว ได้มอบหมายให้นายชัยเกษม นิติศิริ รองอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 พิจารณา

"หนังสือดังกล่าวได้ลงนามโดย พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต. แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า หนังสือที่กกต.ให้ยุบพรรคไทยรักไทยครั้งนี้ มีความขัดแย้งกับหนังสือที่ กกต. เคยส่งเรื่องให้ยุบพรรคการเมืองขนาดเล็ก 2 พรรค โดยการส่งเรื่องยุบ 2 พรรคเล็ก นายทะเบียนพรรคการเมืองได้ส่งสำนวนคดียุบพรรคการเมือง "นายอรรถพล กล่าวและว่า

พร้อมชี้มูลความผิดที่ขอให้ยุบพรรคมาด้วย แต่การส่งสำนวนยุบพรรคไทยรักไทยไม่ได้ระบุรายละเอียดชี้มูลความผิดมาด้วย ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ของอัยการจะต้องพิจารณาว่า การส่งหนังสือนั้นเป็นไปตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 66 - 67 หรือไม่ และเมื่อครั้งนี้ กกต. ไม่ได้ส่งสำนวนชี้มูลความผิดในการยุบพรรคไทยรักไทยมาด้วย คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ของอัยการต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งอัยการจะพิจารณาเรื่องด้วยความละเอียดรอบคอบ เที่ยงธรรมและให้รวดเร็วที่สุด

ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นเรื่องเดียวกันว่า ได้อ่านหนังสือพิมพ์แล้วก็แปลกใจ ปกติ กกต. ควรจะชี้มูลไป โดยชั้นแรก กกต.ต้องชี้มูลไป แล้วส่งให้อัยการมีคำสั่งออกมา จากนั้นจึงส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ก็ยังงงๆอยู่ว่าทำไม กกต.จึงยังไม่ชี้มูล โดยให้อัยการเป็นผู้พิจารณาเองว่าจะเอาอย่างไร ก็แปลกดี

" กกต.อาจจะไม่เข้าใจ คงคิดว่าทำแค่นี้ก็พอ หรืออาจจะคิดว่าบอกไปแล้ว แต่อัยการสูงสุดยังเห็นว่าไม่ชัด อยากจะให้ชัดเจนกว่านี้ ก็ไม่เป็นไร ก็แจ้งไปใหม่ได้ ถ้าให้อัยการเป็นผู้ชี้ขาดแทน ก็สามารถทำได้ แต่จะใช้เวลานาน อาจถูกกล่าวหาว่าซื้อเวลา "นายวิษณุกล่าว

ด้าน นายสัก กอแสงเรือง รักษาการส.ว.กรุงเทพมหานคร มองว่า เรื่องที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าการกระทำของพรรคไทยรักไทยเข้าข่ายมีมูลความผิดจริง เพราะเห็นจากสำนวนที่กกต.ส่งไปพร้อมกับผลสอบของคณะอนุกรรมการกกต.ที่มี นายนาม ยิ้มแย้ม เป็นประธานสอบ

"เป็นที่น่าสังเกตว่าเพราะเหตุใด กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองจึงไม่ชี้มูลความผิด ซึ่งตามพ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 66 และ 67 เป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียน คือ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธานกกต. แต่การส่งสำนวนให้อัยการครั้งนี้ ประธานกกต.กลับไม่ใช้อำนาจของตัวเอง โดยไม่กล้าวินิจฉัยชี้ขาด ทั้งๆ ที่เป็นหน้าที่ ดังนั้นการกระทำของประธานกกต.เป็นการเลี่ยงความรับผิดชอบ และไม่อยากเข้ามาร่วมรับผิดชอบ เพราะมีความเกี่ยวข้องกับพรรคไทยรักไทยโดยตรง "

นายเสรี สุวรณภานนท์ รักษาการส.ว.กทม. กล่าวว่า การกระทำของกกต.ครั้งนี้ถือเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงของประธานกกต.เพราะตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 66 และ 67 ระบุชัดเจนว่าหากมีเหตุการที่ทำให้เกิดการยุบพรรคการเมืองปรากฏนายทะเบียนตามมาตรา 67 ต้องสรุปส่งเรื่องให้อัยการพิจารณาโดยในสำนวนจะต้องระบุฐานความผิดของพรรคการเมืองที่เป็นเหตุแห่งการยุบพรรคให้ชัดเจน และนำเสนอเป็นมติของกกต.ดังนั้นการกระทำที่ไม่มีมติครั้งนี้บุคคลที่ต้องรับผิดชอบคือประธานกกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองและต้องรับผิดชอบเพียงคนเดียวด้วย

การกระทำเช่นนี้เหมือนจงใจทำให้ปัญหาเกิดขึ้น กกต.พยายามบอกกับสังคมว่าไม่ยอมลาออกเพราะต้องการอยู่แก้ไขปัญหา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มันคืออะไร ผมอยากถามว่ากกต.มีความรับผิดชอบแค่นี้หรือ ทำไมต้องสร้างปัญหาให้พันกันขึ้นมาอีก ถ้ากกต.ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้สมบูรณ์ควรลาออกไปเสียดีกว่า ที่จะส่งเรื่องที่เป็นปัญหาและทำแบบครึ่งๆ กลางๆ แบบนี้ ซึ่งการส่งสำนวนให้อัยการโดยไม่ชี้มูลความผิด ถือเป็นความจงใจของกกต.ที่ต้องการให้อัยการสูงสุดตีเรื่องกลับมา เพื่อให้กกต.ได้ลงมติ ยิ่งเป็นการประวิงเวลายุบพรรคไทยรักไทยออกไป นายเสรี กล่าว

วันเดียวกัน พ.ต.อ.ประเสริฐ สุทธิสนธิ์ ผอ.สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานกกต. แถลงถึงกรณีดังกล่าวว่า ข่าวดังกล่าวอาจสร้างความเข้าใจผิด ต่อสาธารณชนได้ว่า กกต.ดำเนินการเรื่องดังกล่าว โดยไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามขั้นตอนวิธีตามกฎหมาย เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง

จึงขอชี้แจงว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองได้พิจารณาบทบัญญัติตามมาตรา 67 แห่งพรบ.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 แล้วเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าว ไม่ได้กำหนดให้นายทะเบียน ต้องชี้มูลการกระทำความผิด อันจะเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคการเมือง โดยกำหนดไว้แต่เพียงให้แจ้งอัยการสูงสุด พร้อมด้วยหลักฐาน ซึ่งนายทะเบียนก็ได้ส่งเอกสารหลักฐานทั้งหมด ตามที่กกต.ได้ดำเนินการการสืบสวนสอบสวน และรวบรวมไว้อย่างครบถ้วนแล้ว

ส่วนการชี้มูลการกระทำความผิด อันจะเป็นเหตุนำไปสู่การพิจารณาสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น ย่อมเป็นดุลยพินิจของอัยการสูงสุด ที่จะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐาน ที่นายทะเบียนจัดส่งให้

" ถ้าอัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว ไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กฎหมายก็กำหนดให้นายทะเบียน ตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีผู้แทนจากนายทะเบียน และผู้แทนจากอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน แล้วส่งให้อัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป และในกรณีที่คณะทำงานดังกล่าวไม่อาจหาข้อยุติ เกี่ยวกับการดำเนินการยื่นคำร้องได้ ให้นายทะเบียนมีอำนาจยื่นคำร้องเอง "พ.ต.อ.ประเสริฐ กล่าวและว่า

ดังนั้น การจัดส่งหลักฐานให้อัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทยนั้น นายทะเบียนพรรคการเมือง ได้ดำเนินการถูกต้องครบถ้วน ตามกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 67 แล้ว

ต่อกรณีคำถามที่ว่า ก่อนหน้านี้ กกต. เคยสั่งให้ยุบพรรคการเมือง โดยออกเป็นมติ และชี้มูลความผิดชัดเจน แต่กลับไม่ชี้มูลความผิดของพรรคไทยรักไทย นั้น นายสิริพงษ์ พงษ์พานิช ในฐานะผอ.ฝ่ายกิจการพรรคการเมือง ชี้แจงว่า สำหรับการยุบพรรค 2 พรรคเล็ก คือ พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทยนั้น นายทะเบียนพรรคการเมือง ได้ใช้มาตรฐานเดียวกันคือ คือไม่ได้ชี้มูล โดยส่งเพียงเอกสารหลักฐาน ไปให้อัยการพิจารณา

วันเดียวกัน(7 พ.ค.) พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธานกกต.กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องของกฎหมายที่กำหนดไว้ซึ่งตนได้ทำทุกอย่างตามกฎหมาย และถือว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของตนด้วยที่ทำงานสอบสวนอะไรเป็นการลับแล้วจะไม่มีการเอาเรื่องการสอบสวนหรือรายละเอียดการสอบไปบอกกับใคร จึงต้องลับจากมือของตนไปถึงปลายทาง

เมื่อถามว่ากรณีการสั่งยุบพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยซึ่ง กกต. มีมติสั่งยุบพรรค พล.ต.อ.วาสนา ยืนยันว่า ไม่ได้มีมติ แต่ให้เป็นอำนาจศาลโดยส่งให้อัยการไปดำเนินการทุกครั้ง

"ผมไม่เคยทำสองมาตรฐาน ทำแบบเดียวกันทั้ง 2 กรณี ไปอ่านกฎหมายได้ และผมก็สั่งให้เขาแถลงแล้ว ให้เอากฎหมายไปดูกันด้วยจะได้เข้าใจ ผมต้องทำทีละขั้นตอน เอาไว้อัยการสูงสุดส่งเรื่องกลับมาว่า กกต. ต้องมีมติก็จะมาว่ากันอีกครั้ง ปัดโธ่ จะให้ผมสรุป เดี๋ยวเขาก็หาว่า ผมเสือกนะสิ เข้าใจหรือเปล่า อ่านกฎหมายกันด้วยหากอัยการสูงสุดไม่เห็นด้วยก็ส่งเรื่องกลับมาตั้งคณะกรรมการร่วมกัน แต่ตอนนี้รอดูเขาก่อน" ประธาน กกต. กล่าว

ปรากฎการยุบพรรคใหญ่วันนี้จึงดูเหมือน "กกต.-อัยการ" ไม่เพียงแต่เปิดตำราจัดการปัญหาเท่านั้น แต่เป็นปรากฎการณ์ของ กกต.ที่กำลังเปิดศึกอีกระลอกใหม่ที่น่าสนใจยิ่ง

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์