เหลิม ลั่น หมัก ลาออกโหวตกลับได้ พปช.ยื้อเก้าอี้รมต.เติ้ง ไม่วิตกยุบชท.บอก ว่ากันไป

'เฉลิม' บอกไม่มีอะไรห้าม หาก 'สมัคร' ลาออก แล้วให้สภาโหวตกลับมาเป็นนายกฯใหม่ พปช. ยืนสู้วิกฤตไม่ทิ้งเก้าอี้ รมต. กลุ่มเพื่อนเนวินขออยู่ที่เดิม เผย 'สมัคร' อยากปรับให้หน้าตาดูดีขึ้น ปชป.แนะปรับใหญ่ ทีมเศรษฐกิจ ชท.เล็งดึง 'บุญทัน-สมชัย' ร่วมเป็นพยานสู้คดียุบพรรค 'เติ้ง' ไม่วิตกบอก ''ก็ว่ากันไป''

มท.1ชี้ 'สมัคร' ออกเลือกมาใหม่ได้

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย บอกหากนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะลาออก แล้วให้สภาโหวตเลือกกลับมาเป็นนายกฯใหม่สามารถทำได้

ทั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวที่ห้องประชุมปทุมเทวาภิบาล ศาลากลางจังหวัดหนองคาย เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ถึงกรณีที่ ส.ส.ฝ่ายค้านและ ส.ว.จะยื่นถอดถอนนายสมัคร กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่สนับสนุนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ว่า แต่ละส่วนมีมุมมองของตนเอง ต่างคนต่างคิด

''สมมุติว่าจะมายื่นถอดถอน ถ้าบอกว่าไม่ต้องมาถอดถอน ลาออกก่อน แล้วไปโหวตก็เลือกนายสมัครกลับมาเป็นนายกฯใหม่ ทำได้ไหม ก็ไม่เห็นมีอะไรห้าม จะถอดถอนก็หมายความว่าพวกผมส่อจงใจปฏิบัติขัดรัฐธรรมนูญ แต่นี่ไม่ได้จงใจ ไม่ได้มีเจตนา กระทรวงการต่างประเทศเขาเสนอมา แล้วเขาชำนาญด้านนี้ เราก็ทำตามเขา แต่ถ้าเขาเสนอมาอีกอย่าง เราไปทำอีกอย่าง นั่นแหละคือการส่อจงใจ แต่ขณะนี้ก็ยังไม่ได้หารือกับนายกฯเลย''  ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวที่ จ.เพชรบูรณ์ ว่า ปัญหาทางการเมืองในขณะนี้มีความวุ่นวายพอสมควร แต่รัฐบาลบริหารงานเป็นคนละเรื่องกันกับการเมือง ในช่วง 4 เดือนเศษที่ผ่านมา รัฐบาลทำงานหนัก ส่วนรัฐบาลจะอยู่นานจนครบ 4 ปีหรือไม่นั้น ประชาชนเท่านั้นที่จะเป็นผู้กำหนด

พปช.ร่วมกู้วิกฤตไม่ทึ้งเก้าอี้ 'รมต.'

.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคพลังประชาชน (พปช.) กล่าวถึงแนวทางการปรับ ครม.ว่า ขณะนี้ ส.ส.พรรคพลังประชาชนรู้ดีว่าสถานการณ์การเมืองขณะนี้เป็นอย่างไร ทุกคนจึงมีจุดยืนร่วมกันว่าจะให้อำนาจนายกฯในการพิจารณาผู้ที่มีความสามารถและเหมาะสมมารับตำแหน่งรัฐมนตรีในการปรับ ครม.อย่างเต็มที่ โดย ส.ส.พรรคพลังประชาชนจะไม่มีการวิ่งเต้นหรือเสนอโควต้ากลุ่มต่างๆ ทั้งสิ้น เพราะขณะนี้อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ต้องรวมพลังกัน เนื่องจากรัฐธรรมนูญให้อำนาจตุลาการเข้ามาตัดสินการบริหาร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ ส.ส.พลังประชาชนจะต้องตั้งสติให้ดีเพื่อรับมือแรงกดดันทางการเมืองที่เริ่มสูงมากขึ้น

''ตอนนี้ตำแหน่งรัฐมนตรีก็เหมือนทุกขลาภ ใครได้เป็นก็ต้องพร้อมที่จะเผชิญกับทุกข์ หากย้อนไปดูรัฐมนตรีแต่ละคนตอนนี้ล้วนแต่ต้องเผชิญกับทุกข์ แล้ว ส.ส.คนไหนอยากจะมาเข้ารับตำแหน่ง หากนายสมัครจะหาผู้ที่เหมาะสมและมีความสามารถพร้อมที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคนนอกหรือคนในพรรค พวกเราก็ต้องที่จะเป็นเกราะกำบังให้ด้วยความยินดี'' ร.ท.กุเทพกล่าว

นายเจริญ จรรย์โกมล ส.ส.ชัยภูมิ พรรคพลังประชาชน แกนนำกลุ่มขุนค้อน ที่มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นแกนนำ กล่าวถึงกรณีที่มีชื่อได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.ในกลุ่มให้เป็นรัฐมนตรีว่า สถานการณ์การเมืองขณะนี้ไม่ค่อยดีนัก จึงไม่ควรมาพูดเรื่องโควต้ากลุ่มหรือกดดันให้แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนายสมัคร

รมต.กลุ่มเพื่อนเนวินขอไม่ขยับเก้าอี้

แหล่งข่าวจากแกนนำพรรค พปช.เปิดเผยว่า การปรับ ครม.ครั้งนี้นายสมัครเคยกล่าวในการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนก่อนที่จะมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า ต้องการปรับ ครม.ให้หน้าตาดูดีขึ้น และขอพิจารณาผู้ที่เหมาะสมด้วยตัวเอง เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มวิกฤต จึงเป็นไปได้ว่านายสมัครจะปรับ ครม. ในส่วนที่เป็นโควต้ากลางของพรรคพลังประชาชน โดยจะไม่แตะต้องรัฐมนตรีในส่วนที่เป็นโควต้าของภาคต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อมภายในพรรคพลังประชาชน

''มีโอกาสในการสลับตำแหน่งรัฐมนตรีจากกระทรวงนั้นไปกระทรวงนี้น้อยมาก โดยรัฐมนตรีแต่ละคนแจ้งความจำนงกับแกนนำภาคไปแล้วว่า ระยะเวลา 4 เดือนที่ทำงานมาในกระทรวงต่างๆ เริ่มมีความลงตัวและเหมาะสมแล้ว โดยเฉพาะภาคอีสาน กลุ่มเพื่อนเนวิน ที่มีนายเนวิน ชิดชอบ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เป็นแกนนำกลุ่ม รัฐมนตรี 3 ใน 4 ตำแหน่งในโควต้ากลุ่มเพื่อนเนวิน แจ้งกับแกนนำกลุ่มว่าจะยังไม่ขอปรับเปลี่ยนเก้าอี้ แหล่งข่าวกล่าว
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวถึงกระแสการปรับ ครม.ว่า ในส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีในส่วนของพรรคชาติไทย คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ปชป.แนะปรับใหญ่รมต.เศรษฐกิจ

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่าจะไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรีที่ดูแลงานด้านเศรษฐกิจว่า พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าคณะรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจสมควรถูกปรับอย่างยิ่ง ไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถึงได้พยายามออกมาปกป้อง ไม่ต้องการให้มีการปรับใหญ่ในครั้งนี้ เพราะผ่านมารัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ บริหารงานผิดพลาดล้มเหลว ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจอย่างมาก ทั้งระดับจุลภาคและมหภาค

นายองอาจกล่าวว่า ปัญหาสินค้าราคาแพงที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน แต่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ วิธีการต่างๆ ล้วนแต่ล้มเหลว เช่น โครงการข้าวถุง นอกจากนั้น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก็ยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดผลได้อย่างแท้จริง การทำงานไม่มีเอกภาพ มีความขัดแย้งระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อย่างชัดเจน โดยมีการจัดงานขายสินค้าราคาถูกแข่งกัน จัดงานในเวลาที่ใกล้เคียงกัน

''พรรคเห็นว่า รัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจสมควรจะมีการปรับใหญ่ ทำไม นพ.สุรพงษ์บอกว่าไม่อยากให้มีการปรับรัฐมนตรีเศรษฐกิจ หรือว่ามีความจำเป็นต้องนั่งเก้าอี้ทับผลประโยชน์อะไรหรือเปล่า'' นายองอาจกล่าว

เชื่อส่งยุบ 'ชท.-มฌ.' ให้ศาลรธน.ไม่ช้า

กรณีคณะกรรมการร่วมระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และอัยการสูงสุด (อสส.) มีมติให้แจ้งนายทะเบียนพรรคการเมืองแจ้งต่อ อสส.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค ชท. และพรรคมัชฌิมาธิปไตย (มฌ.) นั้นนายสุเมธ อุปนิสากร กกต.ด้านการมีส่วนร่วม กล่าวว่า ตามขั้นตอนแล้วมติคณะกรรมการร่วมฯ ไม่จำเป็นต้องกลับเข้าสู่การพิจารณาของ กกต.กลางอีกแล้ว โดยตามมาตรา 95 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองนั้นกำหนดให้แจ้งมติดังกล่าวให้ประธาน กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้ลงนามส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นผู้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเลย ส่วนการพิจารณาข้อเท็จจริงของพรรคพลังประชาชน หลังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีคำสั่งให้ใบแดงและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนนั้น คาดว่าเวลาการสืบสวนสอบสวนไม่น่าจะแตกต่างกรณีของพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย เพราะต้องรวบรวมพยานหลักฐานอย่างรอบคอบ

ขณะที่นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า คาดว่าสัปดาห์หน้านายสุวิทย์ ธีรพงษ์ ประธานคณะกรรมการร่วมฯ จะลงนามในบันทึกแจ้งผลข้อยุติของกรรมการร่วมฯ ให้นายทะเบียนพรรรคการเมืองพิจารณาส่งเรื่องให้ อสส.เพื่อยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อนหน้านี้ กกต.ส่งพยานหลักฐานพร้อมกับสำนวนให้ อสส.ไปแล้วกว่า 90% แต่จำเป็นต้องยื่นพยานรายละเอียดเพิ่มเติม อาทิ เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. รวมทั้งสำนวนการเพิกถอนสิทธิของกรรมการบริหารพรรคบางส่วนเพื่อให้ อสส.เป็นผู้ต่อสู้คดีในศาลรัฐธรรมนูญต่อไป คาดว่าหลังจากที่ กกต.ส่งเรื่องให้ อสส.พิจารณาแล้วจะใช้เวลาพิจารณาไม่นาน เพราะขณะนี้สังคมกำลังจับตาอยู่

กกต.รอคำตัดสินใช้เป็นบรรทัดฐาน

รายงานแจ้งว่า การหารือระหว่างคณะกรรมการร่วม กกต.และ อสส. เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้หารือกันว่าการจะส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีข้อเท็จจริงจากสำนวนพรรคชาติไทย ที่มีกรรมการบริหารพรรคได้ตระเตรียมเพื่อจะซื้อเสียง ส่วนพรรคมัชฌิมาธิปไตย มีข้อเท็จจริงว่ากรรมการบริหารพรรคได้จ่ายเงินซื้อเสียงจำนวน 400 บาท ให้กับประชาชนเป็นที่สำเร็จแล้ว เมื่อส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้วศาลวินิจฉัยยุบหรือไม่ยุบพรรคใดพรรคหนึ่ง กกต.อาจจะนำคำวินิจฉัยดังกล่าวมาเป็นบรรทัดฐานในการใช้ดุลพินิจว่า หากในอนาคตเกิดการกระทำของกรรมการบริหารพรรคที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 103 (1) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการมาซึ่ง ส.ว.อีก กกต.อาจจะใช้ดุลพินิจยุติเรื่องได้เอง โดยไม่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมเห็นว่าเนื่องจากกฎหมายเขียนคำว่า ถ้าปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคผู้ใดมีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลยหรือทราบถึงการกระทำแล้วมิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้ กกต.ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการส่งเรื่องยุบพรรคนั้น แต่มาตรา 95 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เปิดโอกาสว่า หากเห็นว่าเรื่องนั้นๆ เป็นการกระทำส่วนตัวไม่มีกรรมการบริหารพรรครายอื่นรู้เห็น กกต.ก็ยุติเรื่องเองได้ ซึ่งที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยและเสนอให้บันทึกในรายงานที่จะเสนอต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองด้วย ส่วน กกต.จะใช้กรณีนี้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาการกระทำความผิดของกรรมการบริหารพรรคหรือไม่นั้นก็แล้วแต่ดุลพินิจ

ชท.เล็งดึง 'บุญทัน-สมชัย' เป็นพยาน

นายเกษม สรศักดิ์เกษม ที่ปรึกษาคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคชาติไทย (ชท.) กล่าวว่า พรรคยังไม่มีการหารือในทีมกฎหมายถึงเรื่องที่ อสส.จะส่งสำนวนคดียุบพรรค ชท.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ต้องรอคำร้องจาก กกต.ก่อนว่าฟ้องประเด็นใดบ้าง คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์น่าจะทราบข้อกล่าวหา จากนั้นจะชี้แจงได้ว่าจะนำหลักฐานหรือข้อเท็จจริงประเด็นใดไปต่อสู้

''ที่ กกต.จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ได้เกินความคาดหมาย เมื่อเขากำหนดให้เดินมาทางนี้แล้วก็ต้องต่อสู้กันไป หลังจากได้คำร้องแล้วอาจจะต้องรวบรวมพยานและหลักฐานเพิ่ม อาจจะพิจารณาให้นายบุญทัน ดอกไธสง อดีตประธานอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของพรรคชาติไทย ที่ถูกแต่งตั้งจาก กกต. และนายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.เสียงข้างน้อย ที่เคยลงมติไม่ควรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญมาร่วมเป็นพยานด้วยหรือไม่'' นายเกษมกล่าว และว่า ทราบว่าขณะนี้นายนิกร จำนง รองหัวหน้าพรรคและผู้ดูแลด้านคดี กำลังประสานงานเพื่อหารือฝ่ายกฎหมายของพรรค คาดว่าจะหารือในเร็วๆ นี้

'เติ้ง' ไม่วิตกบอก ''ก็ว่ากันไป''

ด้านนายเอกพจน์ ปานแย้ม โฆษกพรรคชาติไทย กล่าวว่า พรรคชาติไทยมั่นใจว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรายละเอียดมากกว่าชั้น กกต. ต้องยอมรับว่ากฎหมายค่อนข้างรุนแรงมาก ไม่คิดว่าคำวินิจฉัยของศาลจะส่งผลกระทบถึงขั้นต้องยุบพรรค เพราะเราไม่คิดว่าข้อเท็จจริงจะส่งผลร้ายแรงขนาดนั้น แต่ขณะนี้ภายในพรรคยังไม่มีการหารือกัน ต้องรอให้นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคเดินทางกลับจากต่างประเทศก่อน อย่างไรก็ตาม พรรคชาติไทยมีการตระเตรียมต่อสู้คดีในชั้นศาลอยู่แล้ว

รายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลังที่ทราบมติของคณะกรรมการร่วมระหว่าง กกต.และ อสส.ต่อเรื่องดังกล่าว แกนนำพรรคชาติไทย ได้รายงานมติให้นายบรรหาร ที่อยู่ระหว่างการเดินทางไปพักผ่อนที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนายบรรหารไม่ได้แสดงอาการวิตกแต่อย่างใด โดยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ''ก็ว่ากันไป'' ทั้งนี้ นายบรรหารมีกำหนดการเดินทางกลับในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้

มัชฌิมาฯ เชื่อรอดยุบพรรค

นายคำนวณ เหมาะประสิทธิ์ อดีต ส.ว.อุตรดิตถ์ กรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตย กล่าวว่า กรณีที่คณะทำงานร่วมระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับอัยการสูงสุด มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคชาติไทยและมัชฌิมาฯว่า ในส่วนของพรรคมัชฌิมาฯเองมีแนวทางในการต่อสู้เรื่องนี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะประเด็นสถานภาพของหัวหน้าพรรค ของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ที่หมดสถานภาพไปตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2550 เป็นช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.คณะกรรมการบริหารพรรคในช่วงนั้นก็หมดวาระตามไปด้วย

''สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร พรรคก็ขอน้อมรับ แต่ก็เชื่อว่าผลจะออกมาในทางดี แต่ถ้าโชคร้ายกรรมการบริหารพรรคทุกคนก็ต้องหยุดเล่นการเมืองชั่วคราว ถ้าไม่ถูกยุบพรรคก็ขอขันอาสาเป็นตัวแทนรับใช้ประชาชนชาวอุตรดิตถ์ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป''  นายคำนวณกล่าว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์