เขาพระวิหารบานแฉแผนที่ใหม่ไทยส่อเสียดินแดน



"นพดล" ยันเขาพระวิหาร ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
 
ย้ำแผนที่กัมพูชาไม่มีส่วนใดล้ำเขตแดนไทย พันธมิตรฯ บุกกระทรวงต่างประเทศ จี้ "นพดล" เปิดแผนที่เขาพระวิหาร ชาวศรีสะเกษรวมตัวเดินธรรมยาตรา ทวงคืนเขาพระวิหาร


เมื่อเวลา 09.15 น. วันที่ 18 มิถุนายน กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กว่า 1,000 คน  พร้อมรถขยายเสียง เดินทางไปที่หน้ากระทรวงการต่างประเทศ พร้อมกล่าวโจมตี นายนพดล ปัทมะ รมว.การต่างประเทศ ว่า นายนพดลปกป้องการเมืองกัมพูชามากจนเกินไป จนละเลยการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ทั้งนี้ กลุ่มพันธมิตรได้ยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องให้เปิดเผยแผนที่ปราสาทเขาพระวิหาร ที่จะไปจดทะเบียนเป็นมรดกโลก


 กระทั่งเวลา 14.00 น. นายนพดล พร้อมด้วย นายวีรศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายกฤช ไกรจิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พล.ท.แดน มีชูอรรถ เจ้ากรมแผนที่ทหาร ให้การต้อนรับนาย อึง เซียน เอกอัครราชทูตกัมพูชา ประจำประเทศไทย ในการลงนามร่วมระหว่างนายนพดล กับ นายสก อาน รองนายกฯ และรมต.สำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก




จากนั้น นายนพดลและคณะร่วมกันแถลงข่าว โดยนายนพดล แถลงว่า

สืบเนื่องจากการสับสนข้อมูลการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร โดยเมื่อปี 2549-2550 กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทและพื้นที่ทับซ้อน ล้ำเข้าพื้นที่ไทย 4.6 ตารางกิโลเมตร กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานรัฐได้คัดค้านเรื่องนี้ต่อเนื่อง จนกระทั่งการพิจารณาของยูเนสโก ครั้งที่ 31 ณ เมืองไครสต์เชิร์ช นิวซีแลนด์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2550  จึงเลื่อนเรื่องนี้มาพิจารณาในปีนี้ คือ
การประชุมยูเนสโก ครั้งที่ 32 ณ เมืองควิเบก แคนาดา ในวันที่ 2-10 กรกฎาคม 2551 หากเวลาล่วงพ้นและไทยปล่อยให้ช้าไป ไทยจะสุ่มเสี่ยงที่อาจถูกมองว่า เสียดินแดนในส่วนที่เป็นพื้นที่ทับซ้อน  ตนได้เจรจากับนายสก อาน ณ เกาะกงและไปเจรจากันที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส วันที่ 22-23 พฤษภาคม ด้วยความยากลำบากและสุดท้ายกัมพูชาตกลงจำกัดการขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท   ผลคือไทยไม่สุ่มเสี่ยงที่จะเสียดินแดนใดๆ ในพื้นที่ทับซ้อน

นายนพดล กล่าวอีกว่า
 
แผนที่ L 7017 คือ แผนที่ซึ่งหน่วยงานรัฐบาลใช้เป็นแผนที่ในการปฏิบัติงานและปี 2505 ศาลโลกตัดสินว่า กรรมสิทธิ์ปราสาทเป็นของกัมพูชา ครม.ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีมติ ครม.ว่า ยกกรรมสิทธิ์ตัวปราสาทให้กัมพูชาตามคำวินิจฉัยของศาลโลก โดยใช้แผนที่นี้มา 46 ปี และหลังจากที่ไทยเจรจากับกัมพูชาได้ห้ามลุกล้ำพื้นที่ไทย กัมพูชาได้ไปทำแผนที่ขึ้นมาใหม่ตามข้อตกลงที่กรุงปารีส
สิ่งนี้คือ ความสำเร็จในการเจรจาของกระทรวง ตนควรได้รับดอกไม้ ไม่ใช่ก้อนอิฐ ซึ่งเป็นการเจรจาทางการทูตที่ลูกหลานต้องโจษจันไปอีกนานว่าทำสำเร็จได้อย่างไร

   "แผนที่ที่กัมพูชาทำขึ้นใหม่ ไม่มีตอนใดเลยที่ปราสาทลุกล้ำดินแดนไทยแม้แต่ตารางมิลลิเมตรเดียว เพราะแผนที่เมื่อปี 2505 นั้นไทยยอมรับไม่ได้และการเจรจาที่ฝรั่งเศสนั้น กัมพูชายอมทำขึ้นมาใหม่  ตรงนี้ คือข้อเท็จจริงของไทย-กัมพูชา ที่ประชาชนต้องรู้ ผมไม่ต้องการปกปิด แต่ที่เพิ่งแถลงข่าวเพราะกัมพูชาเพิ่งลงนามเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนนี้เอง" นายนพดล กล่าว



   นายนพดลกล่าวว่า

การประชุมสมช.และการประชุมครม.นั้นได้รับทราบและอนุมัติคำแถลงการณ์ร่วม รวมทั้งแผนผัง แผนที่ปราสาทที่ยื่นมาใหม่ โดยตนได้ลงนามร่วมกับนายสก อาน ขั้นตอนต่อไปจะส่งแผนที่และคำแถลงการณ์ร่วมไปให้องค์การยูเนสโกลงนาม และจะส่งเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 32 วันที่ 5-9 กรกฎาคม ณ เมืองควิเบก แคนาดา ฉะนั้นสรุปว่าสิ่งที่กระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปกป้องอธิปไตยไม่ให้ไทยสุ่มเสี่ยงกับการสูญเสียดินแดน ไม่มีแม้ตารางนิ้วเดียวที่สูญเสียและไม่มีใครได้ดินแดน ส่วนที่กล่าวหาว่าตนมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือเสียดินแดนนั้นเป็นความเท็จทั้งสิ้น ตนทำในสิ่งที่สำนึกว่าเป็นข้าแผ่นดินและปกป้องอธิปไตยโดยทำสำเร็จแบบมืออาชีพ โปร่งใส  


   นายนพดลกล่าวอีกว่า

ส่วนพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรจะทำอย่างไรต่อนั้น เรื่องนี้มีการล้ำแดนตั้งแต่ปี 2543 ฉะนั้นต้องรักษาอธิปไตยโดยใช้การเจรจาในการทำแผนบริหารจัดการร่วมกัน โดยต้องยื่นให้ยูเนสโกภายใน 2 ปีคือปี 2553 พื้นที่นี้ประชาชนจะอยู่แบบไร้ระเบียบหรือค้าขายไม่ได้ โดยไทยต้องหารือร่วมกับกัมพูชาต่อไป เพราะไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อนเช่นกัน ตรงนี้ต้องใช้การเจรจาทางการทูตหรือพัฒนาพื้นที่นี้ให้สวยงามและอนุรักษ์ โดยอย่าลืมว่าไทยมีการตกลงกับกัมพูชาหลายฉบับ เช่น กรอบความร่วมมือทวิภาคี, กรอบความร่วมมือสามเหลี่ยมมรกต, การพัฒนาตามกรอบแอคเนคในการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวร่วมกัน ฉะนั้นสถานที่แห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ก็จะนำมาซึ่งนักท่องเที่ยวและเกิดประโยชน์กับประชาชนทั้ง 2 ประเทศ


 พล.ท.แดน มีชูอรรถ เจ้ากรมแผนที่ทหาร กล่าวว่า

กรมแผนที่ทหารได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปสำรวจในปราสาทเขาพระวิหารเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีเพราะเป็นเขตของกัมพูชา ซึ่งในครั้งนี้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ประสานให้กรมแผนที่ทหารเข้าไปสำรวจปราสาทฝ่ายเดียว ใช้เวลาตั้งแต่วันที่ 9 - 11มิถุนายน โดยเครื่องมือรังวัดแบบจีพีเอส ดาวเทียม อัตราส่วน 1 ต่อ 4000 ส่วนที่ใกล้เขตแดนไทยที่สุดคือ 3 เมตรทางด้านใต้และมุมซ้ายของปราสาท สูงขึ้นมาจะห่าง 25 เมตร จุดห่างสูงสุดคือ 30 เมตร ช่วงบันไดนาคสุดท้ายจนถึงเส้นเขตแดนทางเหนือของไทยห่าง 10 เมตร จากการสำรวจอย่างละเอียด ยืนยันว่าไม่มีส่วนใดที่กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทับซ้อนหรือเหลื่อมล้ำเข้าเขตแดนไทย




 นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีที่นายนพดล เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในแถลงการณ์ร่วมให้เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกว่า
 
เรื่องนี้ตนได้ติงไปในที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ว่า เหตุใดจึงรีบร้อนทำเรื่องนี้ เพราะเท่าที่ฟังชาวศรีสะเกษ ก็เป็นห่วงเรื่องนี้ เพราะมีพื้นที่ที่ทับซ้อนอยู่กับประเทศกัมพูชา แล้วเรายังไปเซ็นยินยอมให้เขาพระวิหารขึ้นเป็นมรดกโลกอีก เกรงว่าอาจจะมีปัญหาในเรื่องพื้นที่ทับซ้อนตรงนั้น ซึ่งนายนพดลก็ได้ชี้แจง และนำแผนที่ทางทหารมาแสดงให้ ครม.ดู ว่าพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาทกันนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับการขึ้นเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่อย่างใด


 ส่วนที่ จ.ศรีสะเกษ เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 18 มิถุนายน กลุ่มประชาธิปไตยแห่งชาติ กลุ่มศาสนาเพื่อมนุษยชาติและสหธรรมิก และคณะกรรมการรณรงค์รักษาอธิปไตยบริเวณเขตแดนเขาพระวิหาร กว่า 100 คน ได้ไปรวมตัวกันบริเวณหน้าศาลหลักเมือง เพื่อออกเดินธรรมยาตราไปยังปราสาทเขาพระวิหาร โดยมีกำหนดการถึงวันที่ 22 มิถุนายนนี้


 นายสมาน  ศรีงาม  ประธานสภาประชาธิปไตยแห่งชาติ กล่าวว่า

คำตัดสินของศาลโลก เมื่อปี 2505 ทำให้ไทยต้องสูญเสียอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารและสูญเสียปราสาทเขาพระวิหารตลอดไป และสูญเสียมณฑลบูรพา 2 จังหวัด คือ จ.พระตะบอง และ จ.พิบูลสงคราม ตามอนุสัญญาโตเกียว ค.ศ.1941 ตอนนี้ถึงเวลาที่คนไทยจะต้องตื่นตัวขึ้นมาต่อสู้พิทักษ์รักษาแผ่นดินไทย เพื่อให้บรรลุความสำเร็จ จึงได้ร่วมกันเดินธรรมยาตรา กอบกู้รักษาผืนแผ่นดินไทยในกรณีเขาพระวิหาร

 นายอรุณ เสนีย์วงศ์ อายุ 80 ปี ทหารผ่านศึกสงครามเกาหลี  กล่าวว่า
 
ตนคัดค้านคำตัดสินของศาลโลกต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นจนถูกจับกุมขณะเดินขบวนรณรงค์ต่อต้านคำสั่งศาลโลกเมื่อปี 2505  แต่เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่ออกมาต่อต้านทำให้ประสาทเขาพระวิหารตกเป็นของกัมพูชาไป 


 "เราก็ยอมรับว่า เขาพระวิหารเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่จะตัดสินใจ แต่มาวันนี้เห็นชัดว่า กัมพูชา ได้คืบจะเอาศอก ได้ศอกจะเอาเมตร อย่างนี้ยอมไม่ได้ ในเมื่อรัฐบาลอ่อนแอ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมาปกครองประเทศและไม่มีบารมีพอที่จะเจรจารักษาดินแดนของประเทศไว้ได้ ผมจึงอยากทำหน้าที่ทหารรักษาแผ่นดินไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่" นายอรุณ กล่าว


วันเดียวกันสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ปราสาทเขาพระวิหาร ระบุว่า

รัฐบาลและคนไทย ทั้งข้าราชการประจำทั้งทหาร พลเรือนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งต้องตัดสินใจว่าจะปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของชาติหรือไม่ อย่าให้เป็นการชักจูงโดยตกอยู่ภายใต้การครอบงำของนักการเมือง ซึ่งยกวาทกรรมเรื่อง คลั่งชาติหรือชาตินิยมมาเบี่ยงเบนประเด็นในการตัดสินใจกรณีขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารของกัมพูชา


 สิ่งที่รัฐบาลทำวันนี้ คือ

รัฐบาลไปยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนแต่ฝ่ายเดียว ไปยอมรับแผนที่ของกัมพูชาที่ไม่ยอมรับอธิปไตย ตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2505 และยังยอมไปทำแถลงการณ์ร่วมในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันโดยยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องเขตแดนแม้แต่น้อย ผลเสียตามกฎหมายปิดปากก็จะเกิดขึ้น เมื่อรัฐบาลไทยไม่ยับยั้งหรือคัดค้าน คนไทยควรร่วมกันยับยั้งหรือคัดค้านโดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิชุมชน และส่งเรื่องไปตามขั้นตอนและเวลาอย่างเร่งด่วนผ่านองค์การยูเนสโกในประเทศไทย ไปยังคณะกรรมการมรดกโลก โดยขอให้นักวิชาการ ข้าราชการประจำองค์กรภาคประชาชน สื่อและประชาชนทุกคนมาร่วมกัน  


 สำหรับหน่วยงานที่มีหน้าที่ทุกหน่วยต้องสอดส่องบันทึกการกระทำที่ไม่ยอมรับมติคณะรัฐมนตรี 2505 เรื่องเขตแดนไทยตามวิธีการในระบอบประชาธิปไตย ในทางคู่ขนานต้องนำเข้าเจรจาในคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ส่งเรื่องเข้ารัฐสภา และ/หรือดำเนินการทางการทูตอื่นๆ ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องขึ้นอยู่กับความเสมอภาคและเคารพอธิปไตยของทั้งสองฝ่ายอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้


 แถลงการณ์ระบุอีกว่า 

เรื่องนี้เป็นเรื่องความต้องการเปลี่ยนเส้นเขตแดนทั้งทางบกและทางทะเลของไทย เพื่อหวังผลประโยชน์ทับซ้อนของกลุ่มการเมือง โดยมีเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นสื่อบังหน้า


 ข้อควรระลึก คือ

1.หากไม่ยืนยันเขตอธิปไตยหรือเส้นเขตแดนตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2505 ไทยจะเสียดินแดนให้กัมพูชา

2.แผนที่ใหม่ของกัมพูชามีนัยเป็นการยืนยันท่าทีของกัมพูชาที่ไม่ยึดถือเขตอธิปไตยหรือเส้นเขตแดนตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2505 3.เมื่อไม่มีการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนให้ชัดเจนเสียก่อน แต่เลือกแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมและออกแถลงการณ์ร่วม ไทยจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบและเสียดินแดนให้กัมพูชาในที่สุด


 ทุกฝ่ายจึงควรตั้งสติ ใช้เหตุผล และใช้ประโยชน์จากเบาะแสของคณะวิจัย พิจารณาให้หลุดพ้นจากการถูกบิดเบือน เบี่ยงเบน หลุมพราง และภาพที่ถูกสร้างขึ้น ค่าแห่งความทรงจำเรื่องปราสาทเขาพระวิหารในฐานะมรดกอารยธรรมของมนุษยชาติจะได้ไม่เป็นเรื่องการใช้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือดินแดนไทย


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์