วิวาทะ2ผู้นำ2วัยเรื่องแก้ รธน.หมัก-มาร์ค

หมายเหตุ'มติชนออนไลน์'-นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี  อายุ 73 ปี และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อายุ 43 ปี  แสดงปฐกถาเรื่อง 'สถานการณ์รัฐธรรมนูญไทย' เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ จัดโดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ปรากฏว่า บุคคลทั้งสองมีความเห็นแตกต่างกันอย่างเชิงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นายสมัคร ยืนยันว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 แย่ เขียนขึ้นด้วยความเกลีดยชัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จึงต้องแก้ไขเพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมาก 316 เสียง และไม่เชื่อว่า จะทำให้เกิดนองเลือดเหมือนที่มีความพยายามจะปลุกปั่น
 
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ ตอบโต้กลับว่า พรรคสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องหารือกับทุกฝ่าย ศึกษาข้อดีข้อเสีย ไม่ใช่ทำกันในเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรค และต้องไม่แก่เพื่อผลประโยชน์ในของตนเองทั้งในเรื่องคดีทุจริตและคดียุบพรรคและทำแบบมักง่าย
----------------------------------------


นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯ ก็ถูกมองว่า เป็นธุรกิจนิยม คิดกันไปคนละอย่าง พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ไม่เสี่ยง แต่พรรคไทยรักไทย (ทรท.) เสี่ยง เสี่ยงแล้วสำเร็จหรือไม่สำเร็จไม่รู้ แต่ผลการเลือกตั้งครั้งใหม่(กุมภาพันธ์ 2548) ได้ 377 เสียง ส่วนนโยบายนั้นดีหรือไม่ ให้ดูป้ายช่วงการเลือกตั้งปี 2548 ทุกพรรคก็ประชานิยมทั้งนั้น ไปอ่านดู ลอกแบบกัน ไม่มีอับอาย ได้มาอยู่กัน 1 ปี ถ้าไม่ดี ก็มีเหตุผลว่า เก่งเกินไป รวยเกินไป ก็โดนอย่างที่โดนอยู่ทุกวันนี้

ตกลงรัฐธรรมนูญมันเลว หรือว่าใครมันเลว เลวจนกระทั่งเอาไว้ไม่ได้ ต้องยึดอำนาจ ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ว่า ดีหนักหนา มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทำกันแล้วทำกันอีก กลายเป็นของที่ไม่ดี คนร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ไปบอกเลย ต้องทำให้มันปริ่มๆ รัฐบาลแข็งแรงเกินไปใช้ไม่ได้ ยิ่งตอนร่างกฎหมายลูก 3 ฉบับ(พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ยิ่งบอกเลย ใครก็ตามแต่ ใครเป็นนอมินี จะเขียนเอาให้ นี่ไม่ใช่ที่พูดวันนี้ (2 พ.ค.) เพราะเมื่อวาน (1 พ.ค.) เขาตัดสิน หนังสือพิมพ์ก็พาดหัวว่า ผิด(ในคดีพรรคพลังประชาชนเป็นนอมินีของพ.ต.ท. ทักษิณ) แต่เพราะไม่มีในกฎหมาย จึงรอดตัวมาได้

ที่เขาเขียนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ด้วยความเกลียดชัง นายกฯ คนเก่า มีอะไรก็ใส่หมด ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ยังเรียกว่า หัวมังกุ ท้ายมังกร แต่ก็ยังพอรับได้ ทั้งนี้ ผมเป็นหัวหน้ารัฐบาล ไม่ต้องการที่จะได้รับผลประโยชน์จากการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ เรื่องพ.ต.ท.ทักษิณ ก็ต้องขึ้นศาล ตัดสินอย่างไรก็ต้องไป วันที่ 30 มิถุนายนนี้ คดีความก็ต้องอยู่กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มันไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องบอกว่า แย่ ใครบอกไม่แย่ ผมบอกดัดจริต

การเลือกตั้งเมื่อปี 2512 เลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีส.ส. 15 คน อย่างนี้เรียกว่า พวงใหญ่ วันหนึ่งเราก็แก้เป็นพวงเล็ก แต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 บอกว่าไม่ได้แล้ว ทันสมัยของโลกต้องเขตละคน แต่ใส่มานี่ มันดีหรือเลว อยู่ดีๆ ย้อนกลับไปใช้ 157 เขต ส่วนวุฒิสมาชิก 200 คน ตัดสินใจแล้วให้มาจากการเลือกตั้ง มันจะควรจะแก้ว่าสังกัดพรรคไม่สังกัดพรรคเท่านั้น รัฐธรรมนูญปี 2550 แต่งตั้งพรรคพวกเข้ามา แต่เรียกว่า(ส.ว.)สรรหา

คนที่วิเคราะห์เรื่องนี้ดี คือ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า รถยนต์คันนี้ หรือรัฐธรรมนูญปี 2550 มันเริ่มต้นไม่ดี เพราะ

1.ยางบวม 4 ล้อ ยางบวมแปลว่า หากขับไปไม่นานสัก 50 กิโลเมตร ก็ต้องเปลี่ยนยาง

2.แซสซีส์มันตะแคง เพราะวุฒิสมาชิกอำนาจมาก มีเขย่ง มีเลือกมา 76 คน มีแต่งตั้งมา 74 คน แชสซีย์เขย่ง ดังนั้น โครงสร้างต้องโคลงเคลงอย่างแน่นอน

3.ตัวหน้าปัด เกย์ต่างๆ ที่ต้องดู หน้าปัดมัวหมด ขับไปมองไม่เห็น ไม่รู้ความเร็วเท่าไหร่ ความร้อนขึ้นหรือเปล่า น้ำมันหมดหรือไม่

4.รถคันนี้ไม่มีฟิวส์บ็อกซ์ ไม่มีกล่องใส่ฟิวส์ เพื่อเวลาช็อร์ตจะรู้ว่าสายไหน สปาร์ก 1 ตัว ก็เปลี่ยนอีกตัว

ผมคิดว่าการแจกใบแดงเบาบางลงแล้ว แต่บังเอิญรัฐธรรมนูญเขียนไว้ เป็นกับดักเอาไว้ มีการต้อนคน เตรียมการกันไว้ 6 เดือน ก่อนเลือกตั้ง ถามว่า วรรค 2 รัฐธรรมนูญมาตรา 237 ใส่มาทำไม ถ้าไม่มีก็ไม่มีเรื่อง

นอกจากนี้ นายทหารคนหนึ่ง ยศพลเอก มีส่วนได้เสียอะไร นั่งอยู่กทม.แต่ฟ้องคดีคนเลือกตั้งอยู่ จ.เชียงราย หาว่า ตำหนีติเตียนทหารเพื่อคะแนนเสียง การตรวจสอบหมด เป็นความจริง ทหารไปค้นจริง ลูกผู้พิพากษาก็ถูกค้น ข้อเท็จจริงอย่างนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ดู แต่เราไม่ห่วง เพราะต้องขึ้นศาลฎีกา

คดีที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร วันนี้ (2 พ.ค.) ศาลฯจะตรวจสอบอย่างละเอียด มีคน 10 คน 9 คนให้การเข้าข้างนายยงยุทธ แต่ 1 คนให้การปรักปรำ กกต.ก็เชื่อคนเดียว แล้วก็ให้ใบแดง ใบที่ 2 ก็เอาอีก

เรื่องอย่างนี้ พลเอกคนหนึ่งไปเกี่ยวพันกับเรื่องนี้ ไปเลือกตั้งกับเขาหรือ เป็นคู่แข่งหรือก็เปล่า แต่กันเหนียว เอาไว้เป็นใบที่ 2 ดังนั้น หาก กกต.ถูกบังคับด้วย รัฐธรรมนูญก็ต้องแก้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้

ทำไมถึงอยากแก้ ก็เพราะเรามีส.ส. 233 คน ร่วมกันอีก 5 พรรคเป็น 316 คน วุฒิสมาชิกอีก 30 - 40 คน หากเห็นด้วย และรวมใจของฝ่ายรัฐบาล ก็แก้ได้

ถามว่า แก้ได้ทำไมไม่แก้เสีย ดัดจริตทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ แล้วใครแก้ ประเดี๋ยวหากเลือกตั้ง สภาฯยุบ ด้วยอะไรก็แล้วแต่ แล้วใครแก้ แต่ว่า แก้ไว้แล้ว ก็เพื่อการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็เหมือนคราวปี 2540 อีก 4 ปีถึงได้ใช้ มันมีอะไรเสียหาย

หากเราแก้ได้ แต่ไม่แก้ ขอถามว่า แล้วจะเป็นอย่างไรในวันข้างหน้า ก็ใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ไม่เข้าท่า คนฉีกทิ้งทั้งฉบับไม่มีใครร้องสักคนเดียว

ในวันที่ 7 พ.ค.ก็จะรับประทานอาหารร่วมกันกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลหลังจากไม่เจอกัน 3 เดือน แต่การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของเขา ให้เขาไปตกลงกันเอง

แต่ก่อนนับคะแนนง่ายส.ส.แบบบัญชีรายชื่อคิดเป็นเปอร์เซนต์ เดี๋ยวนี้กลับแบ่งเป็นภาค ใครคะแนนดีก็กวาดได้ทั้งภาค เจตนาที่เขียนไว้อย่างนี้ ก็เห็นๆ กันอยู่ว่า ทำเพื่อประโยชน์บ้านเมืองในวันข้างหน้า ทำไมถึงค้านกันจะเป็นจะตาย ทำไมต้องปลุกระดมกันอย่างเอิกเกริก

คนอย่างผม จะโดนอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ แล้ว ไม่จงรักภักดีแล้ว บ้ากันขนาดไหน ขนาดในวันที่ 21 เม.ย. วันก่อตั้ง กทม.ครบ 226 ปี ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ดูแลทหารผ่านศึก ทำพิธีเรียบร้อย เข้าไปกราบข้างใน เขาก็บอกว่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินผูกผ้า 2 องค์ข้างใน

ผมออกมาข้างนอกก็ผูกองค์จำลองข้างนอก สูงไม่เท่าไหร่ ผูกผ้าคนละสี ก็ไม่มีปัญหา โอ๊ย ทำข่าวเอิกเกริก ไอ้สมัครมันบังอาจไปถอดผ้าที่พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผูกไว้ แต่เอาของตนเองผูกทับ

นี่อย่างนี้มันมีแผนการเลวทรามต่ำช้า ที่จะฟาดฟัน ต้องการทำข่าวให้เห็นว่า สมัครกับทักษิณ ก็อีหร็อบเดียวกัน ไม่หรอก ชื่อก็ไม่เหมือนกัน ความคิดอ่านก็ไม่เหมือนกัน

ผมก็เป็นผม ผมเป็นหัวหน้ารัฐบาลเวลานี้ มาถูกต้องตามกฎหมาย เฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณเสร็จแล้ว บริหารมา 3 เดือน จะมีคนพยายามลากเอาผมไปผูกพัน และปลุกปั่นให้ทหารปฏิวัติอีก ออกข่าวกันใหญ่เลย เที่ยวนี้จะคุมรัฐมนตรีทุกกระทรวงอีก ยึดคราวนี้จะจับตัวไปขึ้นฮ.เลย จะจับไปไว้ที่ไหนๆ

แล้วทหารยังไม่เข็ดหรือ ที่ต้องยอมให้เขาปลุกปั่น ทั้งที่เคยล่อกันหนหนึ่งแล้ว เป็นบทเรียนของทุกคน เพราะฉะนั้นสถานการณ์รัฐธรรมนูญมันเปลี่ยนมาแล้ว 18 ฉบับ และแก้มาแล้ว 30 หน ก็ไม่มีปัญหาอะไร แล้วคราวนี้ทำไมถึงจะนองเลือด

ผมพูดวันนี้เลยว่า ผมไม่ต้องการผลประโยชน์ไปช่วยไอ้ใบเขียวใบแดง ช่วยไม่ได้ นายกฯทักษิณก็ไม่ต้องช่วย เขาก็โดนอยู่ดี ต้องขึ้นศาลแน่นอน  ออกรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะมาปลุกปั่นทำไม จะไม่ให้แก้ กว่าจะมาถึงตรงนี้ เลือดตาแทบกระเด็น

กว่าจะเอาบ้านเมืองกลับมาได้ กว่าจะกลับสู่สถานะ กว่าเขาจะมาพบ มาปะ มาค้า มาขาย เดินทางลิ้นห้อย เพิ่งทำงานได้ 3 เดือนจะล่อกันอยู่แล้ว ทั้งนี้สถานการณ์บ้านเมืองสำหรับตนนั้น ปกติ ต้องบอกว่า รัฐธรรมนูญกินไม่ได้ ทาไม่ได้ แต่เป็นหัวใจของการปกครองบ้านเมือง ถ้ามันไม่ดีเราก็ทำให้มันดี


-------------------------------------------------
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อคราวลงสมัครรับเลือกตั้ง(หลังยุบสภา 24 กุมภาพันธ์ 2549) ก็ยินดีจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ถ้าทุกพรรคตกลงกันว่า จะมายกเครื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 หลายพรรคก็ลงสัตยาบรรณกับเรา ถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ลงสัตยาบรรณ ก็ยังเรียกประชุมพรรคเล็กแล้วยืนยันว่า จะแก้ รธน.ฉบับปี 2540

จะเห็นได้ว่าคนที่อยู่ในการเมืองขณะนี้ เห็นแล้วว่า(รัฐธรรมนูญ) ก็มีปัญหา การจะพูดแค่ว่า เอารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กลับมา แสดงว่า ไม่ได้เรียนรู้ ว่า มีการละเมิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มีการสร้างปมเงื่อนที่เป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาถึงปัจจุบันอย่างไร

เมื่อมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เสร็จ เขาก็จัดให้มีการลงประชามติ ในคืนนั้น ตนกล่าวว่า ยินดีให้รับรัฐธรรมนูญเพื่อให้กลับไปสู่กระบวนการประชาธิปไตยโดยเร็ว แต่ยืนยันว่า มีบางบทบัญญัติต้องแก้ไข

เพราะฉะนั้น คำพูดที่กล่าวหาว่า ฝ่ายค้านไม่คิดแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมบอกไม่ใช่

แต่ประเด็นที่ต้องถามคือ จะแก้เรื่องอะไร วันนั้นประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากที่สุด คงเป็นเรื่องวุฒิสภาที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย เพราะไปเปิดโอกาสให้บุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจในการถอดถอนบุคคลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่จะคิดแก้ไปในทิศทางใดก็ต้องมาปรึกษาหารือกันว่า ทางออกที่ดีที่สุดเป็นอย่างไร

ผมกล้าที่จะพิสูจน์ให้กลับไปดูจุดยืนนักการเมืองทุกคน พรรคการเมืองทุกพรรคว่า ดูว่า ยังยืนยันสอดคล้องเหมือนเดิมหรือไม่ ที่จริงพรรคการเมืองที่ต้องการให้แก้ไขในวันนี้ วันนั้นพูดเรื่องกฎหมายความมั่นคงว่า เผด็จการยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 อีก แต่วันนี้หัวหน้าพรรคตนเองเป็น ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.กอ.รมน.) จึงไม่พูดแล้ว เราต้องเอาความจริงมาพูด เพื่อให้เห็นที่มาที่ไป

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ไม่ได้สมบูรณ์ และหลายเรื่องก็เหมือนเป็นความพยายามเพื่อแก้ช่องโหว่ที่เกิดในปี 2540 ซึ่งอาจจะทำแล้วเกินเลยไป จนทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม  หลายปัญหาที่อ้างกันว่า ทำให้การเมืองเดินไม่ได้ ไม่มีเสถียรภาพ ผมขอถามว่า มันจริงหรือไม่

พรรคการเมืองก็เหลือน้อยพรรค รัฐบาลที่เป็นรัฐบาลผสมก็มีความมั่นคง 316 เสียงต่อ 164 เสียง ผมถือว่ามั่นคง ฝ่ายค้านใช้อำนาจหรือใช้สิทธิในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเพื่อล้มรัฐบาลหรือไม่ ก็ไม่มี ทั้งนี้ รัฐบาลมีปัญหาหรือไม่ ที่รัฐธรรมนูญทำให้ไปแก้ปัญหาของประชาชนไม่ได้นั้น ไม่ใช่

แต่เป็นปัญหาของรัฐบาลที่ไม่จัดลำดับความสำคัญของการแก้ไขปัญหาของประเทศ แล้วเอาปัญหาของประชาชนเป็นตัวตั้ง หากต้องไปเสียเวลากับการทำกฎหมายที่รัฐธรรมนูญบังคับใช้นั้น ยังไม่มีการเสนอกฎหมายสักฉบับเดียว เข้ามาสู่สภาฯเลยในขณะนี้

ยอมรับว่า รัฐธรรมนูญมีความบกพร่อง แต่ไม่ได้สร้างปัญหาทางการเมือง ดังนั้น จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์นั้น เหมือนเดิม คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อวางรากฐานที่ดีสำหรับอนาคต และวิธีที่ดีที่สุด คือ เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม

เมื่อสักครู่ ท่านนายกฯ บอกว่า เรื่องนี้จะไม่เอาเป็นเรื่องของรัฐบาลแล้ว ให้เป็นเรื่องของสภาฯ ผมก็ถามท่านว่า ถ้าเป็นเรื่องของรัฐสภาจริง ทำไมไม่ตั้งกรรมาธิการให้มีทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านร่วมกัน ทำไมประชุมกันแค่ 6 พรรค เพราะคิดว่า 6 พรรคเสียงพอที่จะทำให้ รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ใช่หรือไม่

ถ้าคิดอย่างนั้น ไม่ได้แปลว่า เป็นเรื่องของสภาฯ ผมคิดว่า ต้องให้ทั้งวุฒิสภา รัฐบาลและฝ่ายค้านมาศึกษากัน และให้คนข้างนอกเข้ามามีส่วนร่วม

 การแก้ทำได้ 2 ทาง

1.ให้มีกรรมาธิการหรือกรรมการที่ประกอบด้วย ตัวแทนของทุกฝ่ายมาศึกษาประเด็นก่อน แล้วมองหาจุดอ่อน ข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ แล้วหาความเห็นร่วมของสังคม แล้วก็ผลักดันให้มีกติกาสูงสุดที่ดีกว่า

2.แก้ไขในลักษณะที่ทำกันมาในปี 2548 คือ ทำกระบวนการที่เหมือนกับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม

ที่เกิดสถานการณ์รธน.ขณะนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนทำสถานการณ์ให้เกิดขึ้นมา คือ รัฐบาล ทั้งเรื่องใบแดงและปฏิวัติ ก็มีแต่รัฐบาลพูด ซึ่งกำลังสร้างปมขัดแย้งทางการเมืองขึ้นมาเอง แล้วกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา ส่วนที่ยกร่างฯใหม่ทั้งฉบับ ผมก็มีอยู่

จะบอกว่าไม่หวังผล ไม่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบกระบวนการยุติธรรม ก็ไม่ใช่ เพราะบทเฉพาะกาลเขียนไว้ บางองค์กรอยู่ได้จนครบวาระ แต่บางองค์กร เขาไม่ให้อยู่ คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ชัดหรือไม่ว่า เจตนาคืออะไร

นอกจากนี้ หากผู้มีอำนาจคิดเอากฎหมายหรือกติกาไปแก้ไขโดยใช้อำนาจของตนเอง เพื่อลบล้างความผิด ทุกคนรับไม่ได้

วันนี้มีความพยายามอย่างมาก เพื่อให้ใบแดงพรรคประชาธิปัตย์ผมรู้ เพราะหลายสำนวนจบไปแล้ว ถูกรื้อขึ้นมาใหม่ เพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์ถูกยุบ คนของพรรคพลังประชาชนท้าทายว่า ปชป.โดนบ้างแล้วจะว่าอย่างไร

ผมตอบได้เลยว่า ขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือศาล ตัดสินไปตามเนื้อผ้า ถ้ามีแนวโน้มว่าผิด พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่มีความคิดแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตนเอง เพราะเราต้องรักษาหลักการเอาไว้

รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องหลักของบ้านเมือง จะมาคิดเพื่อประโยชน์กลุ่มไม่ได้ ทำกันแบบไม่เรียนรู้หรือมักง่ายไม่ได้ เราสนับสนุนให้แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์