สมัคร ยืนกรานไม่ต้องทำประชามติ

เมื่อเวลา 14.20 น. วันที่ 8 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุม ครม.ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า

ขณะนี้กำลังถกเถียงกันอยู่ สุดท้ายพรรครัฐบาล 6 พรรค มีท่าทีร่วมกันว่าจะแก้ทั้งฉบับ หวังใจว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่มีใครเอามาเป็นเหตุให้เกิดความยุ่งยาก เมื่อถามว่า พรรคชาติไทยมีมติขอแก้เพียงบางมาตรา นายสมัครตอบว่า จะเอามาตราไหนเลือกเอา แก้บางมาตราก็ได้ประโยชน์ แก้มาก แก้น้อยก็ได้ประโยชน์

เมื่อถามกรณีที่แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบางคนออกมาเสนอให้แก้มาตรา 291 เพื่อปลดล็อกเปิดกว้างให้มีส่วนร่วมในการแก้รัฐธรรมนูญมากขึ้น จะนำจุดนี้ไปพิจารณาหรือไม่

นายสมัครตอบว่า เรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของตน ไม่มีความเห็น เมื่อถามว่า วิปรัฐบาลบอกว่าบางมาตราจะส่งผลให้เกิดความรุนแรง นายสมัครตอบว่า ถามหน่อยแก้รัฐธรรมนูญทำไมต้องรุนแรง เหตุใดต้องรุนแรง ผู้สื่อข่าวคิดว่ามันรุนแรงมั้ย กฎหมายมันเขียนธรรมดาไม่ถูกต้อง เราก็แก้ให้ถูกต้อง แล้วจะเกิดความรุนแรงอย่างไร คนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้เป็นคนชอบกลแท้ๆ เลย เขาเขียนได้ก็แก้ได้ แก้กฎหมายก็แก้กันอยู่ทุกวัน กฎหมายเขียนด้วยคน คนก็เป็นผู้แก้ ตอนร่างก็บอกว่าไม่ชอบใจแก้ไขได้ แก้ไขง่าย แต่พอเสร็จแล้วกลับไม่ให้แก้

เมื่อถามว่า จะเสนอให้มีการลงประชามติหรือไม่

นายสมัครตอบว่า เมื่อก่อนจะแก้รัฐธรรมนูญจะต้องทำประชามติหรือไม่ ยุติธรรมกับคนหรือไม่ ประชาชนลงประชามติยุติธรรมหรือไม่ ใครร่างก็ไม่รู้แล้วให้ประชาชนมาลงคะแนน ถ้าสภาผู้แทนราษฎรร่างแล้วให้มีการลงประชามติก็ไม่มีปัญหา ถ้าเขาอยากจะทำ แต่การลงประชามติใช้งบประมาณครั้งละ 2 พันล้าน กฎหมายทุกฉบับต้องลงประชามติด้วยหรือ รัฐธรรมนูญต่างจากกฎหมายทั่วไปเพียงนิดหน่อยเท่านั้น

เมื่อถามว่า จะถูกมองไม่เหมาะสมหาก ส.ส.เป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากพรรคพลังประชาชนกำลังตกเป็นจำเลยคดียุบพรรค

นายสมัครตอบด้วยสีหน้าและน้ำเสียงโมโหว่า “อย่ามาว่าเป็นจำเลยนะ จำเลยอะไร” ผู้สื่อข่าวถามว่านายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนอาจโดนใบแดง และมีสิทธิถูกยุบพรรค นายสมัครตอบว่า เรื่องของเขาถ้าจะมองว่าไม่เหมาะสม ตกลงว่าถ้าแก้แล้ววันข้างหน้าได้ ประโยชน์หรือไม่ ไม่ต้องคิดถึงเรื่องนายยงยุทธ สมควรแก้หรือไม่ วันข้างหน้าเลือกตั้งใหม่พรรคการเมืองก็โดนอย่างนี้อีกเป็นอย่างไร อันนี้จะทำเพื่อวันข้างหน้า



เมื่อถามว่า รัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 มี ส.ส.ร. ร่วมร่าง คิดว่าควรจะมี ส.ส.ร.ร่วมร่างหรือไม่ นายสมัครตอบว่า

รู้จักระบบรัฐสภาหรือไม่ รัฐสภาเริ่มจากการเลือกตั้ง ส.ส. และมีฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ จะต้องมีใครมาช่วยร่างกฎหมายอีกหรือ ขัดแย้งไม่แย้งก็ให้ทำงานไปก่อนไม่เห็นต้องเดือดร้อน ทำไมต้องเดือดร้อนกันหนักหนา มีสภาไว้ทำไม ถ้าคนสภาทำกฎหมายไม่ได้แล้วทำอย่างไร แต่ก่อนคณะปฏิวัติเขายึดอำนาจมา ตั้งสภามาเอง ไม่เห็นแสดงความห่วงกันเลย แม้ว่าคณะปฏิวัติเขาจะเปิดโอกาสให้ลงประชามติ แต่นั่นเขาเรียกมัดมือชก ใครก็ไม่รู้มาร่างแล้วให้ประชาชนทั้งประเทศลงคะแนนนั่นหรือดี รับร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับชาวบ้านไม่ได้อ่าน แล้วต้องไปลงคะแนนเอาไม่เอา อย่างนั้นยังไม่เห็นอีกหรือ มันไม่เข้าท่า

เมื่อถามว่า หาก ส.ส.ร่างอะไรมาแล้วประชาชนต้องใช้หรือไม่

นายสมัครตอบว่า แล้วเป็นอย่างไร ส.ส.มาจากไหน อยู่ดีๆ ส.ส.ผุดจากดินขึ้นมาทำหรือ แล้วที่เลือกตั้งกันมาไม่เห็นหรือ ระบบบ้านเมืองเป็นอย่างไร มีระบบรัฐสภาทำงานไม่พอใจ เอาคนอื่นมา มันชอบกล ทำไมมันเลวอย่างไร คนที่ประชาชนเลือกมา เขาจะทำหน้าที่ก็ไม่ให้เขาทำ เมื่อถามว่า เรื่องนี้เป็นข้อเสนอจากหลายฝ่าย นายสมัครตอบว่า ก็เสนอไป แต่มันไม่ เข้าท่า มีระบบสภาแล้วอยากจะทำอะไรให้คนนอกช่วยคิด ช่วยทำ ช่วยแก้ ไม่เข้าท่าๆ มันมีระบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว สภามีคนประกอบด้วยคน 480 คน จะทำหน้าที่ยังมีวุฒิสมาชิกอีก 200 คน มีอะไรครบถ้วนแล้ว แต่ทำไมไปถวิลหาคนอื่น

เมื่อถามว่า รัฐธรรมนูญ 40 ที่พรรคพลังประชาชนจะนำมาเป็นร่างที่มาจากภาคประชาชนและ ส.ส.ร.

นายสมัครตอบว่า ภาคประชาชนทะเลาะกันมาตั้งแต่ปี 2534 พรรคการเมืองไม่ไว้ใจกันเองเลยเอาคนกลางมาทำ นอกจากนั้น พรรคการเมืองยังไม่ไว้วางใจกัน ตัดสินใจลากตั้งกันมาแล้ว มีสภาแล้วก็จะทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยตั้งคนกลางมาทำ ส.ส.ร.ก็คนเดินดินกินข้าวแกง

“ขอถามว่า ผู้สื่อข่าวถามไม่เข้าท่าไปหาคนอื่นมาช่วยถามเลยดีกว่า ไม่ไปเอานักศึกษาวารสารศาสตร์ปี 4 มาถามแทน รู้สึกอย่างไร มันคืออาชีพลองคิดดูสิว่า ผมก็มาตามเส้นทางของผมกำลังจะทำงานบอกไม่ไว้วางใจ ให้คนอื่นมาได้อย่างไร เอาไปคิดดูแล้วกัน” นายสมัครกล่าวตัดบท


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์