มติพปช.แก้ใหญ่รธน. 2พรรคร่วมคล้อยตาม

วานนี้ (8 เม.ย.) นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชาชน เปิดเผยผลการประชุมพรรคพลังประชาชน

ว่าที่ประชุมมีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 เป็นตัวตั้ง และคงหมวด 1 และ 2 ไว้ เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น รวมถึงเป็นการปฏิบัติตามพันธสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนก่อนการเลือกตั้ง โดยยืนยันจะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการระดมความเห็น 
 

นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า
ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดรูปแบบการดำเนินการแก้ไข ว่าจะให้มีการแก้ไขในสภาผู้แทนราษฎรหรือการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาพิจารณา รวมถึงยังไม่ได้มีการกำหนดกรอบเวลา ซึ่งภายในสัปดาห์นี้ จะหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อพูดคุยในรายละเอียดอีกครั้ง 
 

วันเดียวกัน พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ ในฐานะว่าที่รองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย และตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า

เมื่อพรรคพลังประชาชนมีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ พรรคจึงทบทวนกันอีกครั้งว่าจะมีความเห็นเป็นอย่างไร แต่ส่วนตัวเห็นว่า ถ้ามีเวลาควรจะแก้ไขทั้งฉบับ เพื่อป้องกันการกล่าวหาว่า แก้ไขเพื่อตนเอง
เมื่อถามว่า มองอย่างไรกับเสียงคัดค้านเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ต.ท.บรรยิน กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติในความเห็นที่แตกต่าง แต่เชื่อว่าประชาชนไม่ต้องการให้เกิดปัญหา เพราะไม่ใช่ผลดี ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นประเด็นนำไปสู่การปฏิวัติได้หรือไม่นั้น เห็นว่าเรื่องดังกล่าวต้องดูที่เหตุผลและเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล หากทุกฝ่ายยอมรับกติกา และมองว่าผู้ที่ออกมาคัดค้านไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือถูกจ้างวาน เพราะคนที่ออกมาคัดค้านบางคนเป็นคนเก่ง ฉลาด ซึ่งบางครั้งก็ต้องรับฟัง 

ทางด้านนายไชยยศ จิรเมธากร โฆษกพรรคเพื่อแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมพรรค ว่า


ที่ประชุมรับทราบมติของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยเป็นแนวทางตามที่พรรคเพื่อแผ่นดินเสนอตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นชอบให้ตนร่างข้อเสนอแนวทางตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาร่างรัฐธรรมนูญ ให้ที่ประชุมวิปรัฐบาลพิจารณาในการประชุมวันนี้ (9 เม.ย.) เวลา 10.00 น.
 

โฆษกพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ดังกล่าว อาจเสนอบุคคลภายนอกตั้งเป็นสภาร่าง หรือตั้งตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลขึ้นมา


โดยเชิญฝ่ายค้าน นักวิชาการ ภายนอกเข้ามา และอาจตั้งคณะอนุกรรมาธิการฯ ขึ้นมารับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อที่จะไม่ถูกข้อครหา ว่าทำเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อย่างไรก็ตามการเสนอแนวคิดดังกล่าว หากที่ประชุมวิปรัฐบาลไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร เพราะในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล หากวิปรัฐบาลมีความเห็นอย่างไร ก็พร้อมเห็นด้วย เพราะถือว่าลงเรือลำเดียวกันแล้ว แต่จะให้ลงชื่อร่วมด้วยนั้น ต้องกลับมาหารือในที่ประชุมพรรคอีกครั้ง
 

"เราต้องเคารพ 10 ล้านเสียงที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าแต่ละฝ่ายออกไปเคลื่อนไหวอาจจะก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม และส่งผลกระทบกับภาพลักษณ์ของประเทศชาติในประชาคมโลก ดังนั้นต้องรวบรวมความเห็นที่เป็นกลางไม่ใช่เฉพาะฝ่ายการเมือง"
นายไชยยศ กล่าว

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์