คดีพิมพ์บัตรเลือกตั้งพลิก กกต.จี้หาต้นตอเอกสารรั่ว

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าววานนี้ (3 เม.ย.)

กรณี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งข้อสังเกตว่าการพิมพ์บัตรเลือกตั้งไม่โปร่งใส ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ริเริ่มการจัดประมูลพิมพ์บัตรเลือกตั้ง จากเดิมที่ใช้ระบบจัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษและต้องการใช้โรงพิมพ์แห่งเดียวในการพิมพ์บัตรทุกประเภท เพื่อต่อรองราคา และความสะดวกในการควบคุมการพิมพ์บัตร แต่เนื่องจากทุกโรงพิมพ์ที่เสนอมาไม่สามารถจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งจำนวน
105 ล้านใบได้ ตามระยะเวลาที่ กกต.กำหนด จึงจำเป็นต้องใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษ และใช้โรงพิมพ์ 3 แห่ง ในการพิมพ์บัตรเลือกตั้ง คือ โรงพิมพ์ที่ 1 พิมพ์บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต โรงพิมพ์ที่ 2 พิมพ์บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบสัดส่วน และโรงพิมพ์ที่ 3 พิมพ์บัตรเลือกตั้งตัวอย่าง โดยมีการตั้งคณะกรรมการควบคุมราคากลาง และคณะกรรมการควบคุมการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งขึ้นมาดูแล
  

เลขาธิการ กกต. กล่าวต่อกรณีมีตั้งข้อสังเกตว่า มีการพิมพ์บัตรเกินกว่าจำนวน ว่า ตามปกติแล้วในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง กกต. ต้องพิมพ์บัตรเกินกว่าจำนวนผู้มีสิทธิประมาณร้อยละ
7

เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาบัตรไม่พอกับผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยได้พิมพ์บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต
50 ล้านฉบับ และบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบสัดส่วน จำนวน 55 ล้านฉบับ สาเหตุที่ต้องพิมพ์บัตรเลือกตั้งแบบสัดส่วน มากกว่าบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต เพราะการเลือกตั้งแบบสัดส่วนมีการแบ่งประเทศออกเป็น 8 ส่วน  ต้องสำรองบัตรแบบสัดส่วนเพื่อเตรียมสำหรับคนที่จะไปลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า ทั้งนอกเขตและในเขตเลือกตั้ง นอกจากนี้บัตรเลือกตั้งที่เตรียมไว้สำหรับการเลือกตั้งล่วงหน้า ก็ไม่สามารถนำมาใช้สำหรับการเลือกตั้งในวันจริงได้ เพราะได้ทำรหัสไว้เพื่อรักษาความปลอดภัย ประกอบกับมีผู้มาลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก  จึงต้องพิมพ์บัตรเพิ่มเติมอีก และได้ขออนุมัติต่อ กกต. แล้ว

นายสุทธิพล กล่าวต่อกรณีนายณัฐวุฒิ  ระบุว่ามีเอกสารเกี่ยวกับการพิมพ์บัตรเลือกตั้งของ กกต. ว่า

จากการตรวจสอบเอกสารดังกล่าว พบว่า เป็นเอกสารที่ออกจากฝ่ายสนับสนุนการเลือกตั้ง กิจการบริหารการเลือกตั้ง กกต. และหนังสือดังกล่าวเป็นการสื่อสารติดต่อกันภายในองค์กร ไม่ได้เป็นเรื่องลับ อย่างไรก็ตาม จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนว่า เอกสารดังกล่าวหลุดออกไปขั้นตอนไหน หากทำความเสียหายให้กับองค์กร คงต้องเอาผิดทางวินัยต่อไป นอกจากนี้ คณะกรรมการสืบสวนยังอาจจะขอข้อมูลจาก พล.ต.ต.เสวก ปิ่นสินชัย อดีต ผู้บังคับการกองตำรวจป่าไม้ ผู้ที่ร้องเรื่องนี้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าได้ข้อมูลมาจากใคร  หาก พล.ต.ต.เสวก ต้องการจะช่วย กกต.จริง ก็ควรเปิดเผยชื่อออกมา
 

เลขาธิการ กกต. กล่าวด้วยว่า ขอให้ประชาชนไว้วางใจการทำงานของ กกต. เพราะทำงานทุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน


ไม่มีเจตนาที่จะช่วยพรรคหนึ่งพรรคใด การตรวจสอบหากตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา ก็สามารถทำได้ แต่ไม่ควรใช้กลไกทางการเมืองมาเล่นงาน การตรวจสอบต้องไม่กระทบต่อความเป็นอิสระของการทำงาน เพราะขณะนี้เรากำลังพิจารณาคดีสำคัญๆ หลายคดี จึงสงสัยว่าการตรวจสอบเรื่องนี้มีจุดประสงค์อย่างไร ที่ผ่านมา กกต. ได้ทำให้ประชาธิปไตยมีเต็มใบ

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์