เด็กชาวกรุงถ้าเป็นกกต. แสดงสปิริตลาออกทันที

เด็กชาวกรุงถ้าเป็นกกต. แสดงสปิริตลาออกทันที

เอแบคโพลล์สำรวจพบเด็กและเยาวชน กทม.มองการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ รู้สึกวิตกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่มีความเชื่อมั่นใน 3 ศาลสูงกว่า กกต. ป.ป.ช.และวุฒิสภาถึงกว่า 40% อีกทั้งพร้อมแสดงสปิริตลาออกหากเป็น กกต.หลังจากศาล รธน.ตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ติงรู้สึกสับสนต่อบทบาทการเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ใหญ่ในวงการเมือง

วันที่ 12 พ.ค.สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้สำรวจความคิดเห็นในหัวข้อเรื่อง อารมณ์ ความรู้สึก และความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนต่อสถานการณ์การเมืองขณะนี้ : กรณีศึกษาเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 14 17 ปี ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 10 - 11 พ.ค. จำนวน 1,034 ตัวอย่าง

พบว่าเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.9 ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำในช่วง 30 วันที่ผ่านมา มีเพียงร้อยละ 10.9 ติดตามน้อยกว่า 1 วันต่อสัปดาห์ และร้อยละ 7.2 ไม่ได้ติดตามเลย อย่างไรก็ตามอารมณ์ความรู้สึกและความคิดเห็นต่อสถานการณ์การเมืองขณะนี้ของกลุ่มเด็กและเยาวชน ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.2 เห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ ในขณะที่ ร้อยละ 70.4 วิตกกังวลต่อเหตุการณ์การเมืองไม่แตกต่างไปจากความรู้สึกของผู้ใหญ่ ร้อยละ 38.1 เครียดเรื่องปัญหาการเมือง และร้อยละ 84.1 เบื่อหน่ายต่อเรื่องการเมือง

เอแบคโพลล์ยังสอบถามความเชื่อมั่นของเด็กและเยาวชนต่อองค์กรอิสระและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเมืองขณะนี้ พบว่าเด็กและเยาวชนให้ความเชื่อมั่นต่อศาลทั้ง 3 ศาลเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ แต่จะมีสัดส่วนสูงกว่า โดยร้อยละ 74.3 ของเด็กและเยาวชนระบุเชื่อมั่นต่อศาลปกครอง ในขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่มีผู้ที่ระบุเชื่อมั่นคิดเป็นร้อยละ 69.3 ขณะเดียวกันร้อยละ 75.6 ของเด็กและเยาวชนระบุเชื่อมั่นต่อศาลฎีกา โดยผู้ใหญ่ที่ระบุเชื่อมั่นนั้นคิดเป็นร้อยละ 69.6 และร้อยละ 74.9 ของเด็กและเยาวชนระบุเชื่อมั่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ผู้ใหญ่ที่ระบุเชื่อมั่นมีอยู่ร้อยละ 68.4

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และวุฒิสภา ซึ่งได้รับความเชื่อมั่นจากเด็กและเยาวชนในสัดส่วนที่ต่ำและไม่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่ โดยเด็กและเยาวชนเพียงร้อยละ 30.6 ระบุเชื่อมั่นต่อ กกต. ร้อยละ 40.2 ระบุเชื่อมั่นต่อ ป.ป.ช. และร้อยละ 28.5 ระบุเชื่อมั่นต่อวุฒิสภา

ผลสำรวจยังพบว่า เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 78.3 เข้าใจในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยเข้าใจว่า การจัดการเลือกตั้งมีปัญหาหรือขัดรัฐธรรมนูญหรือหันคูหาผิดทิศ และการลงคะแนนไม่เป็นความลับ ในขณะที่ร้อยละ 21.7 ระบุไม่เข้าใจ เพราะสับสน ไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย ไม่ชอบยุ่งเรื่องแบบนี้ และไม่ได้ติดตามข่าว

อย่างไรก็ตาม เด็กและเยาวชนไทยส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 82.9 คิดว่าถ้าเป็น กกต.จะลาออกหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา โดยมีเพียงร้อยละ 5.8 เท่านั้นที่ไม่คิดว่าจะลาออก นอกจากนี้เด็กและเยาวชนถึงร้อยละ 63.2 รู้สึกสับสนต่อบทบาทความเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ใหญ่ในสังคมการเมือง ในขณะที่ร้อยละ 17.4 ไม่รู้สึกสับสนอะไร และร้อยละ 19.4 ไม่มีความเห็น

สำหรับความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนต่อการไปใช้สิทธิเลือกตั้งนั้นพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.5 คิดว่าจะไปเลือกตั้งถ้ามีสิทธิเลือกตั้ง เพราะต้องการใช้สิทธิ เป็นพลเมืองที่ดี และอยากลองครั้งแรก ในขณะที่ร้อยละ 7.6 คิดว่าจะไม่ไป โดยมีเหตุผลว่าเบื่อการเมือง ไม่ชอบวุ่นวาย เลือกตั้งไปก็เท่านั้น เลือกตั้งไปแล้วก็มาทะเลาะกัน และเบื่อการหลอกลวงของผู้ใหญ่ และร้อยละ 14.9 ไม่แน่ใจจะไปหรือไม่

ทั้งนี้เมื่อสอบถามว่า ถ้าไปเลือกตั้งจะไปเลือกพรรคการเมืองใด ผลสำรวจพบว่า จำนวนมากหรือร้อยละ 46.0 ระบุยังไม่ตัดสินใจ แต่ร้อยละ 36.2 จะเลือกพรรคไทยรักไทย ร้อยละ 12.1 จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 5.7 จะเลือกพรรคอื่น ๆ เช่น พรรคชาติไทย พรรคมหาชน พรรคของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง พรรคประชากรไทย และพรรคของ นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้ากลุ่มวังน้ำยม

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้มีอารมณ์ความรู้สึกต่อสถานการณ์การเมืองหลายประเด็นที่ไม่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่มากนัก แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กเหล่านี้กำลังรับทราบข้อมูลข่าวสารทางการเมืองผ่านสื่อมวลชนและคนรอบข้าง แต่เป็นที่น่าสนใจว่าเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้มีความเชื่อมั่นต่อการทำงานของศาลต่าง ๆ ในสัดส่วนที่สูงกว่าผลสำรวจทึ่เคยพบในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีสิทธิเลือกตั้ง

สิ่งที่น่าประทับใจคือ การแสดงออกถึงสปิริตหรือจิตสำนึกของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ต่อความรับผิดชอบหลังจากเข้าใจคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็คิดว่า จะลาออกเพื่อเปิดทางให้คนอื่น ๆ ในสังคมที่ได้รับความเชื่อถือสูงจากประชาชนเข้ามาทำหน้าที่แทน เพื่อดึงความเชื่อมั่นกลับคืนมาและน่าจะทำให้สังคมเข้าสู่สภาวะปกติสุขได้ ยิ่งไปกว่านั้นเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ยังได้สะท้อนออกมาว่า กำลังสับสนต่อการเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ใหญ่ในสังคม แต่พวกเขาส่วนใหญ่ก็ตั้งใจว่าถ้ามีสิทธิเลือกตั้งก็จะไปใช้สิทธิ ในขณะที่บางส่วนกลับคิดว่าจะไม่ไปเพราะเบื่อการเมือง เบื่อความวุ่นวาย และคิดว่าเลือกตั้งไปก็มาทะเลาะกันอีก เป็นต้น นายนพดล กล่าว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์