ปธ.อิสลามใต้หนุน ตั้งพรรคมุสลิมไทย เข้าระบบการเมือง

ปธ.อิสลามใต้หนุน ตั้งพรรคมุสลิมไทย เข้าระบบการเมือง

ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยอมรับต้องการเห็นพรรคมุสลิม ลงสนามเลือกตั้งมีตัวแทนในรัฐสภา เชื่อเป็นกลไกแก้ปัญหาชายแดนใต้ชั้นดี ห่วงความไม่พร้อมจะส่งผลจนล้มไม่เป็นท่า สุดท้ายถูกพรรคใหญ่ดูดเข้าก๊วนเหมือนที่ผ่านมา

วันที่ 12 พ.ค.นายอับดุลเราะมาน อับดุลสมัด ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า ความคิดส่วนตัวเห็นด้วยกับการตั้ ง"พรรคมุสลิม" ที่บรรดานักวิชาการทั้งไทยพุทธ และมุสลิม หรือแม้กระทั่งกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่เคลื่อนไหว เพื่อเป็นหนทางในการเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชานในสภานั้นถือเป็นคนทางที่ดี

"หากประเมินสถานการณ์ทางการเมืองเวลานี้ ต้องยอมรับว่า โอกาสที่จะประสบความสำเร็จและล้มเหลวอยู่ในอัตราส่วนที่เท่ากัน โดยเมื่อวิเคราะห์ในด้านดีของพรรคการเมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นนั้น เชื่อว่าจะเป็นกระบอกเสียงและจุดศูนย์รวมความคิดความอ่านของพี่น้องชาวไทยมุสลิมได้ทั่วประเทศ ไม่เพียงแต่เป็นการทำหน้าที่เพื่อคนชายแดนภาคใต้เท่านั้น เพราะปัจจุบัน ยอมรับว่ายังไม่มีพรรคที่คอยดำเนินการ หรือเคลื่อนไหวเรียกร้องโอกาสให้แก่พี่น้องมุสลิมทั่วประเทศเลย" นายอับดุลเราะมาน กล่าวและว่า

หากพรรคมุสลิม เกิดขึ้นได้จริง นอกจากจะเป็นหนทางหนึ่งที่เห็นแสงสว่างและเชื่อว่ามีโอกาสในการคลี่คลายสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ แล้ว จะเป็นการเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทย ในสายตาสังคมโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทสมุสลิมที่วันนี้ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้ถูกยกเป็นเรื่องระดับโลกไปแล้วและภาพลักษณ์รัฐบาลไทยติดลบอย่างมากในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ กลับกันหากมีพรรคการเมืองที่เป็นมุสลิม จะได้รับเครดิตในการเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากพื้นที่เข้าร่วมแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวถึงโอกาสที่พรรคมุสลิมจะประสบความล้มเหลว สาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก คนไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือโดยทั่วไป ยังถูกสังคมไทยมองว่าเป็นบุคคลชั้นสอง โดยเฉพาะภาพของปัญหาในตะวันออกกลาง และโยงมาสู่ชายแดนภาคใต้ อาจจะส่งผลให้ไม่ได้รับความไว้วางใจให้มีบทบาทมากนักในระบบพรรคการเมือง

เขา กล่าวอีกว่า ที่น่าเป็นห่วงหากสังคมส่วนใหญ่ยังตั้งแง่กับคนมุสลิม การเข้าสู่ระบบรัฐสภา ตัวแทนจากพรรคมุสลิมอาจจะกลายเป็นแกะดำ หรือถูกมองเป็น ส.ส.ชั้นสองนั้น จะกลายเป็นปัญหาในอนาคตมากกว่าเป็นผลดีที่จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาบ้านเมือง

นายอับดุลเราะมาน กล่าวทิ้งท้ายว่า พรรคมุสลิม จะต้องเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่ ไม่ใช่สาขา หรือมีพรรคการเมืองใหญ่อยู่เบื้องหลัง เพราะนั่นหมายถึงการเดินเข้าสู่วังวันเดิมของกลุ่มการเมืองที่เคยประกาศทำหน้าที่เพื่อคนชายแดนใต้มาแล้วครั้งหนึ่งแต่ก็ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงดั่งที่ประชาชนคาดหวัง

นายอับดุลเราะแม เจ๊ะแซ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา กล่าวว่า สำหรับพรรคมุสลิม ส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวทางนี้ แต่เมื่อประเมินและพิจารณาจากสถานการณ์ในพื้นที่ ผนวกกับการเมืองในขณะนี้ถือว่า โอกาสที่จะมีพรรคมุสลิมเกิดและเข้าสู่สนามการเลือกตั้งครั้งนี้ยังไม่น่าเป็นไปได้ เพราะองค์ประกอบของการตั้งพรรคการเมืองนั้นจะต้องมีความพร้อม เมื่อดูจากระยะเวลาที่มีอยู่กับการเลือกตั้งแม้จะยังไม่กำหนดวันชัดเจน ก็คงเป็นเรื่องลำบาก ที่สำคัญหากต้องการเป็นตัวแทนของคนตมุสลิม หรือคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำเป็นที่จะต้องเป็นอิสระ ไม่ใช่เกิดจากกระแสการเมืองชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น

ประธานคณะกรรมการอิสลามยะลา กล่าวต่อว่า การเข้าสู่สนามการเมืองของในฐานะการเป็นตัวแทนคนมุสลิมจะต้องพร้อมในทุกส่วนรวมถึงการยอมรับจากสังคม หากรากฐานส่วนนี้ไม่แข็งแรงพอ เชื่อว่าจะไม่สามารถทนแรงเสียดทานจากเกมการเมืองในยุคปัจจุบัน ท้ายที่สุดก็จะไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหวังไว้แน่นอน

"ส่วนตัวอยากเห็นพรรคที่เป็นปากเสียงให้คนชายแดนใต้ชัดเจนเช่นนี้แต่ประเมินสถานการณ์ทางการเมือง รวมกับความรุนแรงในพื้นที่แล้วโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นควรรอจังและเตรียมตัวให้พร้อม หรือลงสนามหลังจากการปฏิรูปการเมืองแล้วน่าจะประสบความสำเร็จได้มากกว่า" เขากล่าว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์