1เดือนแห่งละครชีวิตศิวรักษ์หักหน้าไทย-ไล่แคทส์พ้นน่านฟ้า

คมชัดลึก :ในที่สุดหลังจากครบ 1 เดือนเต็มพอดีที่ นายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ วิศวกรบริษัทแคทส์ ถูกกัมพูชาจับกุมในข้อหาจารกรรมการบินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ชะตากรรมของนายศิวรักษ์ก็ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย


 เพราะเพียง 3 วัน หลังจาก นายเขียว สัมโบ ทนายความชาวกัมพูชาคนใหม่ ยื่นหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ การอภัยโทษให้นายศิวรักษ์ ก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทันใจ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม

 ปิดฉาก 1 เดือนของ "ละครชีวิต" นายศิวรักษ์ในคุกกัมพูชา ท่ามกลางข้อกังขาว่า ฤๅนี่จะเป็นแค่ละครฉากหนึ่งเท่านั้น !

 สำนักข่าวต่างประเทศพากันรายงานข่าวนี้อย่างครึกโครมว่า พระมหากษัตริย์ของกัมพูชาได้พระราชทานอภัยโทษแก่นายศิวรักษ์ และเรือนจำจะมอบตัวนายศิวรักษ์ให้แก่มารดาในวันที่ 14 ธันวาคม โดย สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะเป็นผู้ทำพิธีส่งมอบตัว

 ที่สำคัญคือ จะมีผู้แทนจากพรรคเพื่อไทย เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีคืนอิสรภาพด้วย ซึ่งคาดว่า จะเป็น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย

 นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้สูงว่า พ.ต.ท.ทักษิณอาจเดินทางมาร่วมในพิธีดังกล่าวด้วย

 นายเขียว กันหะริด โฆษกรัฐบาลกัมพูชา อธิบายถึงขั้นตอนการพระราชทานอภัยโทษให้แก่นายศิวรักษ์ว่า สมเด็จฮุน เซน ได้ทูลเกล้าฯ ถวายขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่นายศิวรักษ์ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ที่ผ่านมา

 อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายกัมพูชาจะกำหนดให้นักโทษต้องรับโทษกึ่งหนึ่งเสียก่อน จึงจะขอพระราชทานอภัยโทษได้ แต่นายกฯ ก็ "มีอำนาจในการตัดสินใจ" เรื่องนี้ได้ และเรื่องเช่นนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

 ยกตัวอย่างเช่น การขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ ที่ถูกศาลตัดสินจำคุกฐานหมิ่นประมาทสมเด็จฮุน เซน เมื่อปีที่แล้ว

 นั่นคือถ้อยแถลงของโฆษกกัมพูชา ซึ่งแสดงว่านายกฯ กัมพูชามีอำนาจ และบารมีเหลือล้นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ

 ต่างจากไทยที่อำนาจบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ ต้องแยกออกจากกันเพื่อตรวจสอบ และคานอำนาจซึ่งกันและกันตามแบบอย่างของประเทศที่ศิวิไลซ์แล้ว

 นอกจากนี้ โฆษกรัฐบาลกัมพูชายังระบุด้วยว่า นายกฯ กัมพูชายังอนุญาตให้วิศวกรไทยสามารถทำงานต่อในประเทศกัมพูชาได้ หากเจ้าตัวต้องการ

 การส่งสัญญาณเอื้ออาทรต่อคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับล้วงข้อมูลความมั่นคงของประเทศตัวเองเช่นนี้คงไม่มีประเทศไหนเคยปฏิบัติมาก่อน เพราะถ้าไม่ถูกจับเข้าคุกก็ต้องเนรเทศออกนอกประเทศเป็นอย่างต่ำ

 ดังนั้น การแสดงบทผู้นำผู้มากด้วยความเมตตา ซึ่งสอดรับกับการเดินเกมขอความช่วยเหลือผ่าน พ.ต.ท.ทักษิณ และ พล.อ.ชวลิต จึงไม่มีอะไรมากไปกว่าการทำทุกวิถีทางเพื่อ "หักหน้า" รัฐบาลไทย

 เชื่อได้เลยว่า พิธีคืนอิสรภาพให้นายศิวรักษ์ จะต้องจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เพื่อเสริมบารมีให้แก่ "ฮุนเซน+ทักษิณ+ชวลิต"

 เรียกได้ว่า ตอนจบของละครเรื่องนี้สมประโยชน์ทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่กำลังจะถูกยึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน ฝ่ายที่ใช้อำนาจเพลินจนถูกชี้ผิดในคดีสลายม็อบเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และฝ่ายที่เข้าไปโอบอุ้มเพื่อนรักเพื่อ "ข้อตกลงลับ" บางประการ

 อย่างไรก็ตาม หมากเกมนี้คงไม่ได้มองแค่ชั้นเดียว คือ โยนบท "ผู้ร้าย" ให้รัฐบาลไทยที่สั่งเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศไปล้วงข้อมูลความมั่นคงของกัมพูชาจนทำให้คนไทยตัวเล็กๆ ต้องประสบเคราะห์กรรมอย่างโหดร้ายเท่านั้น

 หากแต่อิสรภาพของนายศิวรักษ์จะนำไปสู่ข้ออ้างสำคัญเพื่อเปิดทางให้บริษัทอื่นเข้ามาควบคุมการบินแทนบริษัทแคทส์

 โดยใช้ข้ออ้างเรื่องการกระทำของนายศิวรักษ์ที่บริษัทมี "ส่วนรู้เห็น" ด้วย เพราะการที่นายศิวรักษ์ ตัดสินใจไม่อุทธรณ์คดี แต่เลือกที่จะขอพระราชทานอภัยโทษแทนย่อมแสดงถึงการยอมรับผิดทุกกรณี

 ฉะนั้น ข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ จึงมีน้ำหนักพอที่จะเขี่ยแคทส์พ้นจากรันเวย์สนามบินโปเชนตงได้

 สอดรับกับการทวิตของ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ระบุถึงเรื่องนี้อย่างมีนัยสำคัญ

 "อยากหัวเราะให้ถูกจังหวะต้องไปดูคำสั่งกองทัพอากาศที่ให้เอฟ 16 ติดจรวดแล้วขึ้นประกบเครื่องผมตอนบินออกจากเสียมราฐ

 และถ้าให้ดีต้องดูว่า คนทำระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้รถเมล์ 4,000 คัน จนทำให้รถราคาโคตรแพงกับเจ้าของบริษัทวิทยุการบินกัมพูชาเป็นคนเดียวกันหรือเปล่า มีโยงใยกับใคร"

 การจับเอาเรื่องข้อมูลความลับการบินรั่วไหลจนมีเครื่องบินรบของไทยมาไล่ประกบ แล้วโยงไปถึงบริษัทวิทยุการบินในกัมพูชาย่อมไม่ใช่การพูดเอามัน

 ถ้าอยากดู "ภาคต่อ" ของละครเรื่องนี้ให้สนุกก็จงจับตาดูให้ดีว่า "บริษัทไทย" รายไหนที่จะมารับสัมปทานต่อจากแคทส์ !?


ทีมข่าวความมั่นคง,
นันทิดา พวงทอง


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์