คำวินิจฉัยกลางคลอด - สั่งแก้ไข พ.ร.ฎ.เลือกตั้งภายใน 60 วัน

คำวินิจฉัยกลางคลอด - สั่งแก้ไข พ.ร.ฎ.เลือกตั้งภายใน 60 วัน

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 10 พฤษภาคม 2549 12:53 น.

คำวินิฉัยกลางศาลรัฐธรรมนูญคลอด ย้ำการกระบวนการจัดการเลือกตั้ง 2 เมษายนถึงปัจจุบัน ไม่ชอบด้วย รธน.-ไม่เที่ยงธรรม-ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ พร้อมสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออก พ.ร.ฎ.แก้ไขให้มีการเลือกตั้งภายใน 60 วันนับตั้งแต่ พ.ร.ฎ.มีผลบังคับใช้

วันนี้ (10 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ลงนามในคำวินิจฉัยกลาง กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา198 กรณีการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 เมษายนจนถึงปัจจุบันว่ามีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น

ในคำวินิจฉัยกลางโดยสรุป ระบุว่า การที่ กกต.ให้ความเห็นเกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้ง ให้ความเห็นเกี่ยวกับระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้งจนนำไปสู่การกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปในวันที่ 2 เมษายนจนถึงปัจจุบัน ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ยุบสภา และเหตุในการดำเนินการของคณะกรรมการเลือกตั้ง เกี่ยวกับมติเกี่ยวกับการจัดคูาเลือกตั้งโดยหันหลังให้กับกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งนั้น ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า เป็นการเลือกตั้งที่ทำให้เกิดผลที่ทำให้การเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

เนื้อหาของคำวินิจฉัยดังกล่าวยังระบุว่า การดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น คณะตุลาการ 8 ต่อ 6 เห็นว่าการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปตั้งแต่วันที่ 2 จนถึงปัจจุบัน มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับเหตุแห่งคำร้อง คือเกี่ยวกับกำหนดวันเลือกตั้งตาม พ.ร.ฎ.ยุบสภา พ.ศ. 2549 เฉพาะมาตรา 4 ตามเหตุแห่งคำร้องข้อ 1 ในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 2 เมษายน ตลอดจนการดำเนินการเลือกตั้งที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งดังกล่าว และการดำเนินการของ กกต.เกี่ยวกับมติเกี่ยวกับการจัดคูหาไม่เป็นการลงคะแนนโดยลับ เป็นการเลือกตั้งที่ทำให้เกิดผลของการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม ไม่เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

จึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 2 มาตา 3 และ 104 (3) และมาตรา 144 มาตั้งแต่เริ่มต้นของกระบวนการจัดการเลือกตั้ง คือตั้งแต่วันการกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง การสมัครรับเลือกตั้ง การลงคะแนนเสียง การนับคะแนนและประกาศผลการเลือกตั้ง เมื่อวินิจฉัยว่าการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 เมษายน ไม่ชอบเสียแล้วย่อมส่งผลให้ผู้สมัครที่ กกต.ประกาศรับรองผลตามประกาศผลการเลือกตั้งของ กกต.เรื่องผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดต้องเสียไปด้วย มีผลเป็นการเพิกถอนการเลือกตั้ง ส.ส.ตามประกาศผลการเลือกตั้งของ กกต.ดังกล่าว และเมื่อกำหนดมีการกำหนดให้การเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปอันเนื่องจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรตาม พ.ร.ฎ.ยุบสภา 2549 ได้ล่วงพ้น 60 วันตามรัฐญธรรม 116 วรรค 2 ไปแล้ว

เพื่อให้การเลือกตั้งที่จะมีต่อไปมีความเที่ยงธรรม เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงให้องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการให้มี พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป โดยให้กำหนดวันเลือกตั้งภายใน 60 วัน นับแต่วันวัน พ.ร.ฎ.ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 116 (2)

สำหรับคำวินิจฉัยกลางที่ 9/2549 เรื่อง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าการดำเนินการของ กกต.ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงปัจจุบัน มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งเพื่อจะได้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยมีเนื้อหาทั้งสิ้น 54 หน้า ด้วยสาเหตุตามประเด็น ดังนี้

1.กกต.ให้ความเห็นในเรื่องการกำหนดระยะเวลาสำหรับการเตรียมการจัดการเลือกตั้ง อันนำไปสู่การประกาศกำหนดวันเลือกตั้งในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่เหมาะสมและไม่เที่ยงธรรม ขัดกับหลักการเรื่องความเป็นกลางในทางการเมืองของ กกต. และขัดกับหลักการเรื่องการควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

2.การจัดคูหาเลือกตั้งที่ผู้เลือกตั้งหันหน้าเข้าคูหาลงคะแนนและหันหลังให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งและประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งกับบุคคลภายนอกที่มาสังเกตการณ์การเลือกตั้งหน้าหน่วย เป็นการละเมิดหลักการเรื่องการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งซึ่งจะต้องดำเนินการโดยใช้วิธีการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

3.พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ส่งผู้สมัครในทุกเขต ทั่วประเทศว่าจ้างให้ผู้สมัครจากพรรคการเมืองขนาดเล็กหลายพรรคส่งผู้สมัครเข้าแข่งขันในการเลือกตั้งตามที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่กำหนด เป็นการละเมิดหลักการพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกเข้าเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้เพียงคนเดียวในเขตเลือกตั้งนั้น

4.กกต.ได้มีมติ สั่งการ ออกประกาศ และออกคำสั่งในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง การสืบสวนสอบสวน เพื่อวินิจฉัยข้อปัญหาโต้แย้งเกี่ยวกับการเลือกตั้งตลอดจนการพิจารณาประกาศและรับรองผลการเลือกตั้งไปโดยไม่มีการประชุมปรึกษาหารือ หรือมิได้มีการปรึกษาหารือกันโดยกรรมการการเลือกตั้งครบถ้วนตามอำนาจที่มีอยู่ และการพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้งมิได้ดำเนินการโดย กกต.ทั้งหมดโดยมติเอกฉันท์

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ให้คำวินิจฉัยคำร้องดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ข้อ ดังนี้

1. การดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงปัจจุบัน มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่เกี่ยวกับเหตุแห่งคำร้อง คือ ในส่วนที่เกี่ยวกับกำหนดวันเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 เฉพาะมาตรา 4 ตามเหตุแห่งคำร้องข้อ 1 ในการจัดการการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ตลอดจนการดำเนินการการเลือกตั้งที่เกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งดังกล่าว และการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งเกี่ยวกับมติในการจัดคูหาเลือกตั้งที่เกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งตามเหตุแห่งคำร้องข้อ 2 ไม่เป็นการลงคะแนนโดยลับ เป็นการเลือกตั้งที่ทำให้เกิดผลของการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม ไม่เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 มาตรา 3 มาตรา 104 วรรคสาม และมาตรา 144 มาตั้งแต่เริ่มต้นของกระบวนการจัดการเลือกตั้ง คือ ตั้งแต่การกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง การรับสมัครรับเลือกตั้ง การลงคะแนนเสียง การนับคะแนนเสียง การประกาศผลการเลือกตั้ง

2. เมื่อวินิจฉัยว่า การดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงปัจจุบัน ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสียแล้ว ย่อมส่งผลให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับรองผลดังกล่าวตามประกาศผลการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดต้องเสียไปด้วย มีผลเป็นการเพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามประกาศผลการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวและเมื่อกำหนดระยะเวลาที่จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปอันเนื่องจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 ได้ล่วงพ้นหกสิบวันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 116 วรรคสอง ไปแล้ว และเพื่อให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นต่อไป มีความเที่ยงธรรมและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงให้องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการให้มีพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป โดยกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 116 วรรคสองต่อไป

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์