ศาล รธน.มีมติ 8 ต่อ 6 ชี้เลือกตั้ง 2 เมษาฯ มิชอบ - สั่งเลือกใหม่

ศาล รธน.มีมติ 8 ต่อ 6 ชี้เลือกตั้ง 2 เมษาฯ มิชอบ - สั่งเลือกใหม่

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 8 พฤษภาคม 2549 12:46 น.

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 6 ชี้ว่า การเลือกตั้ง 2 เม.ย. 49 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในประเด็นระยะเวลาจนนำไปสู่การการเลือกตั้ง และการจัดคูหาหันหลังให้คณะกรรมการ และมีมติ 9 ต่อ 5 ให้จัดการเลือกตั้งใหม่ส่งผลให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

วันนี้ (8 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198 กรณีการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงปัจจุบัน มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยให้เพิกถอนการเลือกตั้ง และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยมี 4 ประเด็นสำคัญ คือ

1.กกต.ให้ความเห็นเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งในพระราชกฤษฎีกายุบสภาโดยไม่เหมาะสมและไม่เที่ยงธรรม ซึ่งเมื่อมีการกำหนดวันเลือกตั้ง 2 เมษายน ซึ่งห่างจากวันยุบสภาเพียง 35 วันเท่านั้น ทั้งๆ ที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 116 กำหนดกรอบระยะเวลาการจัดเลือกตั้งไว้ให้ดำเนินการภายใน 60 วันนับแต่วันยุบสภา ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ในการให้มีเวลาที่พอเพียงสำหรับจัดเลือกตั้งโดยไม่มีการกำหนดล่วงหน้ามาก่อน ซึ่งการให้ความเห็นดังกล่าวของ กกต.แม้จะอยู่ภายใต้กรอบมาตรา 116 แต่เป็นการดำเนินการที่ไม่เที่ยงธรรม เอื้อประโยชน์แก่พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจยุบสภา ซึ่งขัดกับหลักความเป็นกลางทางการเมืองของ กกต. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 136 และขัดหลักการจัดเลือกตั้งให้เป็นไปโดยบริสุทธิ์และเที่ยงธรรมตามมาตรา 144

2.การเลือกตั้ง 2 เมษายน กกต.ได้กำหนดการจัดคูหาในลักษณะที่บุคคลภายนอกสามารถสังเกตเห็นได้ว่าผู้เลือกตั้งใช้สิทธิเลือกตั้งหมายเลขใด อันเป็นการละเมิดหลักการลงคะแนนเลือกตั้งซึ่งต้องดำเนินการโดยลงคะแนนโดยตรงและลับ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 104 วรรค 3

3.ผลการสอบสวนของอนุกรรมการสอบสวนกรณีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ส่งผู้สมัครในทุกเขตทุกจังหวัดว่าจ้างให้ผู้สมัครจากพรรคการเมืองขนาดเล็กหลายพรรคส่งผู้สมัครลงแข่งขันเลือกตั้งตามที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่กำหนดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีผู้สมัครคนเดียวในหลายเขตเลือกตั้ง จนเป็นเหตุให้ กกต.มีมติร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองขนาดเล็กที่รับจ้างส่งผู้สมัคร และดำเนินคดีอาญากับหัวหน้าพรคการเมืองขนาดเล็กที่เกี่ยวข้อง พฤติการณ์ดังกล่าวนอกจากจะเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.แล้วยังละเมิดหลักรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ที่กำหนดว่า พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตได้เพียงคนเดียวในเขตเลือกตั้งนั้นๆ เพราะกรณีดังกล่าวหมายความว่า พรรคการเมืองขนาดใหญ่เป็นผู้ตัดสินใจและกำหนดและดำเนินการให้มีผู้สมัคร 2 คนนั่นเอง

4.การเลือกตั้งครั้งนี้ กกต.มีมติ สั่งการ ออกประกาศและออกคำสั่งในเรื่องต่างๆ การสืบสวนเพื่อวินิจฉัยปัญหาข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตลอดจนการพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้งโดยไม่ได้มีการประชุมปรึกษาหารือ หรือมิได้มีการปรึกษาหารือกันโดยกรรมการครบถ้วนตามจำนวนที่มีอยู่ รวมถึงการให้ความเห็นชอบกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน ตามหลักเกณฑ์ของ พร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่า กกต.มาตรา 10 ประกอบกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 145 (6) และขัดแย้งกับหลักการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรกลุ่มตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 136

ต่อมาในเวลา 12.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติด้วยคะแนน 8 ต่อ 6 วินิจฉัยว่ากระบวนการจัดการเลือกตั้งใน 2 ประเด็น คือ การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ความเห็นเกี่ยวกับระยะเวลาจนนำไปสู่การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 และการจัดคูหาเลือกตั้งโดยหันหลังให้คณะกรรมการมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติด้วยคะแนะเสียง 9 ต่อ 5 ให้การเลือกตั้งมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญและสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่

สำหรับมติด้วยคะแนน 8 ต่อ 6 วินิจฉัยว่ากระบวนการจัดการเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย.และการจัดคูหามิชอบ โดยเสียงข้างมากของตุลาการทั้ง 8 คน มีดังนี้

1.นายผัน จันทรปาน
2.นายอภัย จันทนจุลกะ
3.นายมงคล สระฏัน
4.นายปรีชา เฉลิมวณิชย์
5.ศาสตราจารย์ ดร.เสาวนีย์ อัศวโรจน์
6.นายอุระ หวังอ้อมกลาง
7.นายจิระ บุญพจนสุนทร
8.นายนพดล เฮงเจริญ

เสียงข้างน้อยของตุลาการทั้ง 6 ได้แก่
1.นายศักดิ์ เตชาชาญ
2.พล.ต.อ.สุวรรณ สุวรรณเวโช
3.นายจุมพล ณ สงขลา
4.นายมานิต วิทยาเต็ม
5.นายสุวิทย์ ธีรพงษ์
6.นายสุธี สุทธิสมบูรณ์

ส่วนมติด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 5 สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยเสียงข้างมากของตุลาการทั้ง 9 คน มีดังนี้

1.นายผัน จันทรปาน
2.นายอภัย จันทนจุลกะ
3.นายมงคล สระฏัน
4.นายปรีชา เฉลิมวณิชย์
5.ศาสตราจารย์ ดร. เสาวนีย์ อัศวโรจน์
6.นายอุระ หวังอ้อมกลาง
7.นายจิระ บุญพจนสุนทร
8.นายนพดล เฮงเจริญ
9.นายมานิต วิทยาเต็ม

เสียงข้างน้อยของตุลาการทั้ง 5 ได้แก่

1.นายศักดิ์ เตชาชาญ
2.พล.ต.อ.สุวรรณ สุวรรณเวโช
3.นายจุมพล ณ สงขลา
4.นายสุวิทย์ ธีรพงษ์
5.นายสุธี สุทธิสมบูรณ์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์