ภาวิช ยี้ โปรแกรมตรวจข้อสอบ สทศ.ฉะไม่เป็นที่ยอมรับ-ไม่มีใครใช้

ภาวิช ยี้ โปรแกรมตรวจข้อสอบ สทศ.ฉะไม่เป็นที่ยอมรับ-ไม่มีใครใช้

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 4 พฤษภาคม 2549 22:27 น.

ภาวิช ระบุ สทศ.ใช้โปรแกรมตรวจกระดาษแตกต่างจากโปรแกรมที่ใช้ในการตรวจข้อสอบเอนทรานซ์ ซึ่งมีจุดที่เปราะบางต่อความผิดพลาด ชี้ หากเป็น สกอ.จะไม่เลือกโปรแกรมนี้ ด้านอาจารย์ สจพ. จี้ จาตุรนต์ แจงเรื่องการใช้งบ 10 ล้าน สำหรับวางระบบการตรวจข้อสอบ ย้อนถามทำไมต้องรอตรวจข้อเท็จจริงหลังสมัครแอดมิชชัน กลัวความถูกต้อง หรือระหว่างนี้ต้องเข้าไปแก้ไขก่อน

ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวภายหลังการประชุม กกอ.ว่า ที่ประชุมได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาโอเน็ต-เอเน็ต โดยคณะกรรมการเห็นว่าสถานการณ์ที่เกิดทำให้คนสับสน ขาดความมั่นใจ จึงเสนอให้มีการประชาสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งแม้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่เรื่องของ กกอ.และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ก็ตาม อย่างไรก็ตาม การที่เลขาธิการ สกอ.เข้าไปช่วยก็ดีแล้วไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาหนักกว่านี้

ส่วนกรณีมหาวิทยาลัยเอกชนเร่งเรียกเก็บค่าเล่าเรียนจากนักศึกษาใหม่ โดยที่นักศึกษาบางส่วนยังต้องรอฟังการประกาศผลโอเน็ต-เอเน็ต เพื่อยื่นสมัครแอดมิชชันในมหาวิทยาลัยของรัฐก่อนเลขาธิการ กกอ.กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เฉพาะในมหาวิทยาลัยเอกชนเท่านั้น มหาวิทยาลัยรัฐบางแห่งก็เก็บค่าเทอมก่อนเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หากเด็กต้องการจองที่เรียนล่วงหน้า โดยไม่รอผลแอดมิชชัน แล้วภายหลังหากผ่านการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยรัฐจะไม่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนนั้น เงินที่จ่ายไปล่วงหน้าก็ต้องรับผิดชอบเอง แม้จะแสดงความจำนงกู้ยืมเงินกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการอุดมศึกษา(กรอ.) แต่กองทุนก็จะดูแลเฉพาะค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยที่เด็กจะเข้าเรียนจริงเท่านั้น

หากมหาวิทยาลัยเรียกเก็บเพิ่มเฉพาะค่ามัดจำ ก็จะไม่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายทางการศึกษา เมื่อย้ายที่เรียนตัวนักศึกษาเองก็ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าวเองด้วย ซึ่งหากมหาวิทยาลัยมีระเบียบแจ้งไว้ชัดเจนว่าจะไม่คืนค่าเล่าเรียนที่ชำระไปแล้วไม่ว่ากรณีใดๆ นักศึกษาจะขอคืนเงินไม่ได้ ดังนั้น ก่อนจะชำระเงินควรจะดูระเบียบและตัดสินใจให้ดีก่อน เพราะจะถือเป็นข้อตกลงร่วมกันที่ไม่สามารถฟ้องร้องภายหลังได้ แต่ผมไม่อยากให้มหาวิทยาลัยเก็บค่ามัดจำก่อนล่วงหน้า ควรให้โอกาสเด็กดีกว่า เลขาธิการ กกอ.กล่าว

สำหรับความมั่นใจของคนในสังคมที่มีต่อโปรแกรมวิเคราะห์ไฟล์ภาพกระดาษคำตอบ แปลงมูลภาพเป็นอักษร (OCR) นั้น ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช กล่าวว่า ต้องสอบถามจาก สทศ. เพราะเป็นผู้เลือกระบบนี้มาใช้ ซึ่งหากเป็น สกอ.จะไม่เลือก เพราะมีความเปราะบาง ซึ่งการสอบเอนทรานซ์ที่ผ่านมาก็ใช้โปรแกรมอ่านเครื่องหมายกระดาษคำตอบด้วยแสง (OMR) มาตลอด มีความเสถียรกว่า และหากนับจำนวนกระดาษคำตอบระบบเอนทรานซ์ แม้จะมีคนสอบน้อยกว่า แต่มีวิชาสอบมากกว่า เมื่อรวมกระดาษคำตอบก็มีจำนวนเท่าๆ กับการสอบโอเน็ตเอเน็ต แต่เอนทรานซ์ใช้สแกนเนอร์แค่ 2 ตัว ขณะที่โอเน็ตใช้ 30 ตัวเท่ากับเพิ่มโอกาสให้มีจุดบกพร่องมากขึ้น

สำหรับการตรวจรอบที่ 2 ซึ่ง สกอ.เป็นผู้ดำเนินการและยังคงใช้โปรแกรม OCR ในการตรวจ โดยระดมอาจารย์คณะวิศวกรรม จุฬาฯ มาช่วยเขียนขึ้นใหม่ เช่นเดียวกับโปรแกรมของ สทศ. เพราะกระดาษคำตอบที่ได้มาเป็นรูปของการกากบาท จึงกลับไปใช้โปรแกรม OMR ที่เคยใช้ในการสอบเอนทรานซ์ไม่ได้ โดย สทศ.อธิบายว่าโปรแกรม OCR เอื้อในการตรวจอัตนัย ที่ต้องการการอ่านไฟล์ที่มีความละเอียดสูงกว่า ทั้งยังต้องการความสะดวกโดยการตรวจจากไฟล์ภาพ เพื่อแยกส่วนส่งให้อาจาย์ตรวจข้อสอบได้ แต่ในส่วนของประสิทธิภาพการอ่านกระดาษคำตอบจะไม่เต็ม 100% อย่างมาก 95-98%

ดังนั้น จึงเป็นจุดที่ในปีหน้าจะต้องปรับเปลี่ยน อาจจะแยกข้อสอบเป็น 2 ส่วน โดยข้อสอบปรนัยก็ใช้โปรแกรม OMR ตรวจ ส่วนอัตนัยก็สแกนกระดาษคำตอบส่งให้อาจารย์ตรวจ เพราะที่ผ่านการตรวจอัตนัยก็ไม่ได้ใช้โปรแกรม OCR ตรวจ ยังต้องอาศัยคนตรวจอยู่ดี

ด้าน ผศ.ธวัชชัย งามสันติวงศ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) กล่าวว่า แม้ว่านายจาตุรนต์จะระบุว่าพร้อมจะให้เข้าไปตรวจสอบระบบคอมพิวเตอร์ ที่ใช้การในการตรวจข้อสอบโอเน็ตและเอเน็ต แต่ต้องภายหลังจากการสมัครแอดมิชชันเสร็จเรียบร้อยไปแล้วนั้น ตนพร้อมและยินดีเข้าไปตรวจสอบทั้งระบบ

ไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องรอตรวจหลังการสมัครแอดมิชชัน เป็นเพราะกลัวความถูกต้องใช่หรือไม่ หรือระหว่างนี้จะได้แก้ไขเพราะกลัวการตรวจสอบ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ตนก็คงทำอะไรไม่ได้มาก แต่ในปีหน้าเมื่อรู้ว่าระบบนี้มีปัญหา ก็ไม่ควรนำมาใช้ หรือควรปรับแก้ไขเพื่อให้เกิดความถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด ที่สำคัญที่สุด คือ ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปีนี้ สทศ.สร้างตราบาปให้กับเด็กนักเรียนไปแล้ว จึงอยากถามถึงว่า ระบบคอมพิวเตอร์ที่นำมาใช้ในการตรวจข้อสอบโอเน็ตและเอเน็ต ที่ใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านบาทนั้น อยากให้มีการชี้แจงว่าเป็นงบประมาณที่ใช้ทั้งระบบเป็นจำนวนเท่าใด ถ้าบอกว่าซื้อซอฟต์แวร์ตัวละ 1 แสนบาท 10 ตัวก็ 1 ล้าน แล้วที่เหลือนำไปใช้อะไรบ้าง อีกทั้งซอฟต์แวร์ที่ซื้อมานั้นมีความถูกต้องแม่นยำ น่าเชื่อถือขนาดไหน หากเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ต้องเสียไปกว่า 10 ล้านบาท คุ้มค่ากันหรือไม่ เพราะเท่าที่ผมรู้มาโปรแกรมที่ สทศ.นำมาใช้ในการตรวจข้อสอบนั้นยังไม่น่าเชื่อถือเท่าที่ควร ซึ่งผมอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยชี้แจงในส่วนนี้ ผศ.ธวัชชัย กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับโปรแกรมวิเคราะห์ไฟล์ภาพกระดาษคำตอบแปลงข้อมูลภาพเป็นอักษรเป็นที่ทราบว่า ในแวดวงคอมพิวเตอร์โปรแกรมดังกล่าวยังไม่ได้รับความเชื่อถือและนำมาใช้เท่าที่ควรเนื่องจากเป็นโปรแกรมที่ทำให้การประมวลผลเกิดความผิดพลาดได้ง่าย และประมวลผลได้ไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ โดยความผิดพลาดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง อาทิ กระดาษคำตอบไม่ได้คุณภาพ หรือกระดาษคำตอบมีรอยยับย่น หรือสีของเครื่องหมายไม่ตรงกับที่โปรแกรมกำหนดไว้ ซึ่งแตกต่างจากโปรแกรมอ่านสัญลักษณ์ด้วยแสง ที่ใช้ในการตรวจข้อสอบเอนทรานซ์เดิม ซึ่งมีความแม่นยำและประหยัดงบประมาณมากกว่า

4 วันร้องเฉียด 7 พันราย

สรุปจำนวนผู้เข้ารับการตรวจสอบคะแนนโอเน็ต เอเน็ต ตั้งแต่วันที่ 1-4 พ.ค. มีทั้งสิ้น 6,794 ราย และได้รับการแก้ไขคะแนนแล้ว 4,545 ราย โดยจำนวนผู้เข้ารับการตรวจคะแนนเฉพาะวันที่ 4 พ.ค. มี1,747 ราย แบ่งเป็น จุฬาฯ 1,080 ราย ม.เกษตรฯ 500 ราย ม.ขอนแก่น 50 ราย ม.เชียงใหม่ 11 ราย ม.นเรศวร 1 ราย ม.มหาสารคาม 2 ราย ม.เทคโนโลยีสุรนารี 15 ราย ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 1 ราย ม.ศิลปากร 17 ราย ม.อุบลราชธานี 8 ราย สทศ. 62 ราย ส่วนม.บูรพา ม.วลัยลักษณ์ และม.สงขลานครินทร์ 0 ราย

ส่วนการรับสมัครแอดมิชชันรวมมีผู้สมัครตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. - 4 พ.ค.มีทั้งสิ้น 85,659 ใบ โดยในวันที่ 4 พ.ค.จนถึงเวลา 18.15 น. มี 10,534 ราย และเป็นผู้ชำระเงินค่าสมัครแล้ว 12,955 ราย

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์