ประชุมใหญ่ประมุข 3 ศาล มีแนวโน้มล้มกระดานเลือกตั้ง!

ประชุมใหญ่ประมุข 3 ศาล มีแนวโน้มล้มกระดานเลือกตั้ง!

นายชัช ชลวร เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม

โดย ทีมข่าวอาชญากรรม ผู้จัดการออนไลน์ 26 เมษายน 2549 16:28 น.

การนัดประชุมใหญ่ของประมุข 3 ศาล ยุติธรรม-ปกครอง-รัฐธรรมนูญ สนองพระราชดำรัสหาทางออกแก้วิกฤตชาติ 28 เม.ย.นี้ เปิดช่องให้ประชาชนใช้สิทธิทางศาลเต็มที่ แย้มอาจเสนอ กกต.ล้มกระดานเลือกตั้งใหม่หมด

วันนี้ (26 เม.ย.) เมื่อเวลา 12.00 น.ที่ห้องประชุมสำนักงานศาลยุติธรรม นายชัช ชลวร เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม พร้อมด้วยคณะผู้พิพากษาประจำสำนักประธานศาลฎีกา ร่วมกันแถลงข่าวการจัดประชุมร่วมศาลฎีกา ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะตีความกฎหมายแก้ไขวิกฤตการเมืองตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

นายชัช กล่าวว่า ศาลยุติธรรมน้อมรับกระแสพระราชดำรัสในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งเป็นวิกฤตที่มีมานาน 2 เดือนเศษ ที่เริ่มตั้งแต่การเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย.2549 และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีแนวโน้มที่ปัญหาจะคลี่คลายไปในทางที่จะเกิดความสงบได้ โดยศาลฎีกาจะเป็นแกนนำหารือกับศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะวิเคราะห์การแก้ปัญหาบ้านเมืองด้วยการใช้กฎหมาย ซึ่งศาลฎีกา จะนัดประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกา และผู้บริหารศาลยุติธรรมทั่วประเทศในวันที่ 27 เม.ย.2549 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ศาลฎีกา สนามหลวง และหลังจากการประชุมใหญ่ดังกล่าวแล้วในวันศุกร์ที่ 28 เม.ย.2549 เวลา 10.00 น.จะจัดประชุมร่วมระหว่าง นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ห้องรับรอง สำนักงานศาลยุติธรรม ชั้น 12 ศาลอาญา

ต้องยอมรับว่า ปัญหาวิกฤตบ้านเมืองขณะนี้ ทางศาลยุติธรรมไม่ได้นิ่งนอนใจติดตามความคืบหน้ามาตลอด และมีความเห็นว่า การใช้อำนาจทางตุลาการถ้าเกิดปัญหาขัดข้องแล้ว อยากให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ปัญหาการตีความต่างๆ โดยใช้ช่องทางศาล หรือทางตุลาการศาลปกครอง ศาลยุติธรรม หรือศาลรัฐธรรมนูญ ก็ตาม แล้วแต่ว่าอำนาจหน้าที่ของศาล ก็เป็นเรื่องที่วันศุกร์นี้จะมีการปรึกษาหาข้อยุติ เพื่อเป็นทางออกให้กับบ้านเมืองได้ในระดับหนึ่งจนถึงที่สุด เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าว

นายชัช กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า อำนาจอธิปไตยในสามอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการต่างๆ เมื่อบ้านเมืองเกิดวิกฤตการณ์ในการใช้อำนาจนิติบัญญัติ มีการยุบสภาแล้ว ก็เหลือเพียงอำนาจตุลาการที่จะพอชี้ขาดตัดสินด้วยความยุติธรรมและความเที่ยงธรรม เพราะว่าเป็นองค์กรของการใช้อำนาจตุลาการที่มีกฎหมายรับรอง แต่ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์แต่ละฝ่าย ของบุคคลใด หรือสถาบันที่ไม่มีกฎหมายรับรองก็เป็นเรื่องของความคิดเห็นของบุคคลหรือสถาบันนั้น ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยถือว่ารับฟังได้ แต่การหาข้อยุตินั้นคงต้องเป็นหน้าที่ของศาลเป็นหลัก เพราะอำนาจอธิปไตยทั้งสามอำนาจ อำนาจตุลาการเกี่ยวข้องในปัญหาวิกฤตทางด้านตีความแปรความกฎหมายในขณะนี้ เชื่อว่าหลังจากการประชุมใหญ่ของศาลฎีกาในวันพรุ่งนี้ และการประชุมของสามประธานศาล ในวันศุกร์ที่ 28 เม.ย.นี้ จะมีความคืบหน้าและได้ข้อยุติในการแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ระดับหนึ่ง

จะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย ให้ใช้สิทธิทางกระบวนตุลาการตัดสินชี้ขาดหาข้อยุติเป็นเด็ดขาด ไม่ว่าจะโดยเป็นคำสั่ง หรือคำร้องอย่างใดก็ตาม เพื่อให้เกิดความสงบสุขกับบ้านเมืองโดยเร็วที่สุด ในวงการศาลยุติธรรมมีความร้อนอกร้อนใจกับประชาชนทั่วไปที่มีความทุกข์ในเรื่องของปัญหาบ้านเมือง ซึ่งทำให้ความสงบและเศรษฐกิจของบ้านเมืองขาดหายไป อยากจะวิงวอนทุกฝ่ายให้มาใช้สิทธิทางศาล เพื่อให้เกิดความสงบให้รวดเร็วที่สุด นายชัช กล่าว

เลขาธิการศาลยุติธรรม กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีว่าหลายฝ่ายเมื่อได้ฟังกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อคืนนี้ ทุกฝ่ายกำลังปรับตัวเข้าสู่กระบวนการที่ถูกต้องและชอบธรรมมากยิ่งขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้วกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของหลายฝ่ายจะไม่เป็นประโยชน์กับบ้านเมืองใดๆ ทั้งสิ้น ศาลยุติธรรมทั้งประเทศก็มีความห่วงใยประเทศเช่นเดียวกับพวกท่านทั้งหลาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันมาใช้อำนาจตุลาการ โดยเฉพาะในเรื่องวิกฤตการณ์การเลือกตั้งที่มีอยู่ในขณะนี้จะสามารถใช้สิทธิทางศาลอย่างไรได้บ้าง และจะมีการเชิญตัวแทนจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงปัญหาการเลือกตั้ง ซึ่งถูกมองว่าไม่โปร่งใสหรือไม่ นายชัช ตอบว่า การใช้สิทธิทางศาลในปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องการฉีกบัตรเลือกตั้ง หรือข้อสงสัยที่ว่าจะเปิดสภาได้หรือไม่ถ้ามี ส.ส.ไม่ครบ 500 คน ซึ่งกำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ เป็นเรื่องที่ประธานศาลแต่ละศาลจะต้องหารือกัน และชี้ขาดว่า ในเรื่องประเด็นนั้นๆ อยู่ในอำนาจของศาลได้ และจะมีทางออกอย่างไร สุดท้ายปัญญาขัดแย้งในสังคมทุกเรื่องจะต้องมีข้อยุติโดยสถาบันที่กฎหมายรับรอง แต่จะเป็นศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลรัฐธรรมนูญก็แล้วแต่ ส่วนการวินิจฉัยเช่นไรเป็นเรื่องอำนาจทางศาล

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ ประธานศาลทั้งสามศาลเคยมีการพูดคุยถึงปัญหาเหล่านี้นอกรอบหรือไม่ นายชัช กล่าวว่า ยังไม่เคย แต่เคยมีแนวคิดของสำนักงานศาลยุติธรรมที่จะจัดประชุมร่วมกันของทั้งสามประธานตุลาการเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤต ในวันที่ 21 เมษายน ซึ่งเป็นวันศาลยุติธรรม แต่เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการเนื่องจากเวลากระชั้นชิด แต่เมื่อมีพระราชดำรัสทุกฝ่ายจึงต้องรีบจัดการเพื่อสนองพระราชดำรัส

นายจรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกา

เมื่อถามอีกว่าการประชุมของสามฝ่ายในวันที่ 28 เมษายน มีการวางกรอบปัญหาอย่างไรบ้าง นายชัช ตอบว่า หลักสำคัญจะเน้นที่ปัญหาของชาติในขณะนี้ คือ ความแตกทางด้านความคิดด้านการตีความกฎหมาย

เราคาดหวังว่า ทุกปัญหาที่เกิดในระยะสองเดือนที่ผ่านมาเข้าสู่กระบวนการใช้สิทธิทางศาล โดยถ้าสังคมไม่ยอมรับสถาบันหนึ่งสถาบันใดในการหาข้อยุติ ก็สมควรจะยอมรับความคิดเห็นของตุลาการ เพราะทั้งสามศาลยืนอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม ไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยใช้กฎหมาย เพื่อให้ความสงบสุขของบ้านเมืองมากที่สุด เพราะหากปล่อยให้ปัญหาลุกลามไปโดยไม่มีองค์กรใดเข้ามาแก้ปัญหา ก็ยิ่งจะทำให้ปัญหาลุกลามไปอย่างไม่หยุดหย่อน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ นายชัช กล่าว และว่า กรณีนี้เป็นกรณีพิเศษ เชื่อว่า ประธานตุลาการทั้งสามจะวินิจฉัยปัญหาบ้านเมืองให้เกิดความสงบโดยเร็วที่สุด ซึ่งขอร้องทุกฝ่ายว่าเราคนไทยด้วยกัน ควรจะหันหน้าเข้าหากันเพื่อความสงบสุขของประเทศชาติ

ต่อข้อซักถามว่า การตีความกฎหมายจะพิจารณาตั้งแต่การออกพระราชกฤษฎีกายุบสภา จนถึงการจัดการเลือกตั้ง และรับรองผลการเลือกตั้งของ กกต.ด้วยหรือไม่ นายชัช กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ได้ลงรายละเอียดว่าจะนำเรื่องใดเข้าตีความในการประชุมร่วมของสามศาลบ้าง

ผู้สื่อข่าวซักอีกว่า หากขณะนี้ กกต.จะประกาศให้การเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นโมฆะ และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่แล้ว การประชุมร่วมของสามศาลจะพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ นายชัช ตอบว่า เรื่องจัดการเลือกตั้งเป็นอำนาจของ กกต.ที่จะทำตามครรลอง เว้นแต่ส่วนใดที่มีการขัดหรือแย้งสิทธิผู้สมัคร ก็จะต้องนำคดีขึ้นสู่ศาล อย่างไรก็ดี ขณะนี้ตอบไม่ได้ว่า อำนาจตุลาการจะเข้าไปก้าวล่วง หรือมีบทบาทออกคำสั่งให้ กกต.จัดการเลือกตั้งใหม่ จะต้องดูกฎหมายเป็นเรื่องๆ ไป เพราะแต่ละองค์กรมีอำนาจของตนเอง แต่หากเกิดข้อพิพาทแล้วไม่สามารถยุติไม่ได้ จึงจะต้องนำข้อพิพาทนั้นเข้าสู่กระบวนการของศาลยุติธรรม

เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่การประชุมสามศาลจะมีแนวทางให้ กกต.จัดการเลือกตั้งใหม่ นายชัช ตอบว่า อาจเป็นไปได้แต่แนวทางดังกล่าวคงไม่ใช่ลักษณะของการออกคำสั่งในคดีเพื่อให้ กกต.ปฏิบัติตาม แต่จะเป็นการเสนอความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในส่วนที่เป็นเสียงสะท้อนจากตุลาการให้ กกต.พิจารณาเพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งต้องยอมรับว่า กกต. มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้ถูกต้องสมบูรณ์ครบถ้วน

เมื่อถามย้ำว่า การฟ้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมไม่ใช่ศาลปกครองใช่หรือไม่ นายชัช ตอบว่า การใช้อำนาจตุลาการตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ เกี่ยวข้องกับอำนาจของสามศาล คือ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากศาลปกครองเคยวินิจฉัยว่าคดีเลือกตั้งไม่อยู่ในอำนาจแล้ว คดีก็จะต้องเข้าสู่ศาลยุติธรรมโดยการวินิจฉัยคดีต่างๆ จะไม่หลุดออกนอกกรอบของอำนาจตุลาการอย่างแน่นอน เพียงแต่จะต้องฟ้องคดีให้ถูกศาล

เมื่อถามว่า ผลการประชุมหารือของทั้งสามศาลจะถูกยึดนำมาเป็นหลักปฏิบัติ ซึ่งทุกฝ่ายรวมทั้งฝ่ายบริหารต้องยอมรับใช่หรือไม่ นายชัช ตอบว่า ไม่ถึงขนาดที่จะต้องให้ฝ่ายบริหารยอมรับจะต้องเป็นผูนำบังคับใช้ แต่อย่างไรก็ดี การประชุมของทั้งสามศาลก็หวังผลที่จะทุกฝ่ายนำผลการประชุมไปปฏิบัติไม่มากก็น้อยในเรื่องการตีความชอบของกฎหมายว่ามีความเหมาะสมที่จะปฏิบัติอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง

ด้าน นายจรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกา กล่าวว่า การประชุมร่วมทั้งสามฝ่ายเพื่อจะได้หาทางออกว่าจะให้แต่ละองค์กรปฏิบัติตามกระแสพระราชดำรัสได้อย่างไร ซึ่งการตีความตามแง่มุมทางกฎหมายไม่ยาก แต่ยากตรงที่จะถูกต้องแม่นยำ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติให้มากที่สุด เพื่อทำให้เกิดความยอมรับ ร่วมมือร่วมใจ พาประเทศชาติให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปให้ได้ โดยการตีความกฎหมายหากมองด้านใดด้านหนึ่งอาจจะไม่รอบครอบแม่นยำ ถ้ามีโอกาสได้ฟังจากทุกๆฝ่ายที่มีใจเป็นกลางในวันที่ 28 เม.ย.อาจจะได้ทิศทางเพื่อกำหนดกระบวนวิธีการทำงานและขั้นตอนการดำเนินการต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทิศทางการประชุมจะเกี่ยวพันกับผลเลือกตั้งหรือไม่ นายจรัญ ตอบว่า ขึ้นอยู่กับการลงมติและความเห็นร่วมกันของประธานศาลทั้งสามท่าน เมื่อกำหนดทิศทางออกมาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว อาจจะต้องมีอะไรที่ต้องไปดำเนินการทำให้สอดคล้องกับการดำเนินการที่เป็นอยู่บ้างแต่ว่าตอนนี้ยังไม่รู้ว่าทางออกที่ถูก และดีที่สุดคืออะไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องนี้หลายฝ่ายพยายามหาทางออกฝ่ายต่างๆ ควรยุติการแสดงออก และความคิดเห็นหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนของประชาชน นายจรัญ ตอบว่า จะไปให้ความคิดเห็นเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของผู้อื่นถือเป็นเรื่องยาก เพียงแต่ตอนนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ปัญหาบ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤต ดังนั้น ถ้าเปิดโอกาสให้ฝ่ายตุลาการ ซึ่งเป็นกลางเข้ามาเป็นผู้ร่วมคิดร่วมหาทางแก้ไข กระบวนการที่จะใช้ความรุนแรง หรือโต้แย้งกันมากกว่าเดิมน่าจะยังอยู่ก่อน เพราะไม่เช่นนั้นก็แทบจะหมดคนที่เป็นกลางทางการเมืองในเวลานี้

เมื่อถามว่า นอกจากคดีทางการเมืองที่ว่าจะเปิดสภาได้ไม่ได้แล้วจะมีการหารือเรื่องอื่นๆ ด้วยหรือไม่ นายจรัญ ตอบว่า เบื้องต้นยังไม่มีวาระ แต่ตนคิดว่าวาระใหญ่จริงๆ อย่างแรก คือ ทิศทางที่จะพาบ้านเมืองให้ผ่านพ้นวิกฤตการเมืองเวลานี้ไปให้ได้

เมื่อถามว่า การทำงานของตุลาการทั้งสามศาล ซึ่งเป็นอิสระเมื่อเอามาร่วมกันมีความหนักใจหรือไม่ นายจรัญ ตอบว่า จริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่มีอะไรที่เป็นอุปสรรค ความเป็นอิสระแยกจากกันก็เพื่อไม่ให้ก้าวก่ายกัน แต่ว่าโดยสานะแล้ว ศาลก็เป็นองค์กรตุลาการของบ้านเมืองเหมือนกัน มีความเป็นกลางและเป็นอิสระเหมือนกัน ไม่น่าจะมีข้อขัดข้องในการทำงานร่วมกัน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์