เชื่อมือผู้ว่าฯทำยอดผู้ใช้สิทธิ์เข้าเป้า 70%

เมื่อเวลา 14.15 น. วันที่ 18 พ.ย. ที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2)

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย
ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่จะมีการรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจเกี่ยวกับการลงคะแนนใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยเฉพาะการขออนุญาต กกต.ใช้ เจ้าหน้าที่ออกไปแนะนำประชาชนในการกาบัตรเลือกตั้งว่า ได้มีการพูดถึงเรื่องการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ต้องใช้เวลาพอสมควร และได้พูดกับผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในส่วนของกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นว่า จะต้องลงไปทำความเข้าใจกับประชาชน ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยเอง น่าจะได้นำตัวอย่างของบัตรลงคะแนน ไปทำความเข้าใจกับประชาชน กระทรวงมหาดไทยได้ให้แนวทางไว้แล้ว ส่วนการดำเนินการในระดับท้องถิ่นนั้น ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีความคืบหน้ามากน้อยแค่ไหน แต่ได้กำหนดแนวทางไว้แล้วว่า น่าจะนำบัตรลงคะแนนทั้ง 2 แบบ ไปชี้แจงกับประชาชนให้ได้รับทราบ

ต่อข้อถามว่า บรรยากาศการเมืองขณะนี้รัฐบาลได้มีการประเมินประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิ์ว่าจะถึง 70% ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่

พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ขณะนี้ ยังไม่มีการประเมิน เพียงแต่ได้สอบถามผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนใหญ่ได้รับปากว่าจะพยายามทำให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวถึงกลุ่มมือปืนจะฉวยโอกาสเข้ามาเคลื่อนไหวในช่วงการเลือกตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ในเรื่องนี้ทาง กกต.ได้ประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยตรง โดยมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติงานที่ทำงานร่วมกัน โดยมี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี รอง ผบ.ตร. เป็นผู้ประสานงานในส่วนนี้ ถือว่าเป็นการทำงานตรงซึ่งกันและกัน รัฐบาลไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะทาง กกต.ต้องการรักษาความลับ และทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยตรง
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า กฎระเบียบของ กกต.ที่หยุมหยิมและไม่มีความชัดเจน ทำให้บรรยากาศการหาเสียงค่อนข้างเงียบเหงาว่า

รัฐบาลคงไม่สามารถแก้ไขระเบียบที่ทาง กกต. ออกไว้ได้ เป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่จะต้องหารือกับ กกต. ในส่วนของรัฐบาลมีหน้าที่ให้การสนับสนุน กกต. เท่านั้น และทำในสิ่งที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะในส่วนราชการต่างๆ ทั้งมหาดไทย ศึกษาธิการ สาธารณสุข แรงงาน เราคงไม่สามารถไปให้ข้อคิดเห็น หรือช่วยเหลือพรรคการเมือง ได้ แต่เราจะให้การสนับสนุน กกต.


เมื่อถามว่า การที่ กกต.มี มติตัดสิทธิ์อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน ไม่ให้ยุ่งทางการเมือง ถือว่าถูกต้องหรือไม่

พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า คงไม่มีหน้าที่ไปวิจารณ์ว่าใครทำผิดทำถูก คงจะเป็นหน้าที่ของแต่ละส่วน และในส่วนของ กกต.มีคณะอนุกรรมการ ที่ศึกษาและพิจารณาในเรื่องนี้ เมื่อถามว่ามีการมองว่ามติ กกต.ที่ออกมาเป็นการจ้องจับหนูตัวเดียว แต่จุดไฟเผาทั้งป่าทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายไปหมด พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า อย่างที่เรียนแล้วว่า รัฐบาลมีหน้าที่ให้การสนับสนุนเราไม่มีหน้าที่เข้าไปล่วงเกินในส่วนหนึ่งส่วนใด เพราะบทบาทนี้เป็นบทบาทใหม่ และค่อนข้างจำกัด ข้อดีคือในครั้งนี้รัฐบาลไม่ลงไปแข่งขันด้วย หากรัฐบาลลงไปแข่งขัน คงมีปัญหามากกว่านี้

ต่อข้อถามว่า หากอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน ไม่มีบทบาททางการเมืองคิดว่าประชาชนจะมีอิสระในการเลือก ส.ส.หรืออาจจะมีอิสระในการเลือกด้อยลงไปกว่าเดิมหรือไม่

พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า คิดว่าประชาชนคงจะเข้าใจว่าในแต่ละช่วงเวลาก็คงมีบทบาทของแต่ละคนที่จะต้องถูกลิดรอนบ้าง ถูกจำกัดบ้างก็เป็นแต่ละช่วงเวลา ช่วงเวลาทำงานการเมืองต่อไปของทุกท่านก็ยังมีเวลาอยู่ทั้งนั้น เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่ามติ กกต.เรื่องนี้เป็นการรับลูก คมช. เพื่อสกัดกั้นอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยไม่ให้เคลื่อนไหว พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า เป็นมุมมองแต่ละคน ถ้าเรามองแง่ดีคือเมื่อศาลตัดสินชี้ขาดไปแล้วทาง กกต. ก็ยังไม่ยืนยันในคำวินิจฉัยของศาล แต่เป็นเรื่องที่ได้ทำหลายขั้นตอน และเป็นไปตามวิถีทางของการพิจารณา ไม่น่าจะบอกว่า เป็นเรื่องของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดโดยเฉพาะ คิดว่าเป็นความเป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมของเราพอสมควร

วันเดียวกัน พล.อ.สุรยุทธ์ได้เดินทางไปเป็นประธานปิดการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 25 ที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

โดยได้กล่าวถึงการหาเสียงของพรรคการเมืองที่เน้นนโยบายประชานิยมว่า นโยบายประชานิยมนั้นสามารถนำมาใช้ได้ เพราะไม่ใช่เป็นนโยบายไม่ดี แต่ต้องมีวิธีบริหารจัดการที่ถูกต้อง และรัฐบาลปัจจุบันก็ได้ดำเนินการนโยบายในลักษณะประชานิยมเช่นกัน เช่น โครงการรักษาฟรี ซึ่งเดิมเป็นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เพียงแต่ไม่ได้เรียกประชานิยม รวมถึงโครงการกองทุนหมู่บ้านที่เปลี่ยนเป็นยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข อย่างไร ก็ตาม การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจะต้องยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างความรู้ให้กับประชาชน โดยการสร้างความรู้นี้ ภาคเอกชนสามารถประสานกับสถาบันการศึกษาในการพัฒนาบุคลากร จึงอยากให้มีสหกิจศึกษา เริ่มจากเรียนระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาตรี) 3 ปี ทำงาน 1 ปี แล้วเขียนวิทยานิพนธ์ก่อนที่จะจบระดับปริญญา เพื่อเป็นการสร้างบุคลากรตอบสนองว่าอนาคต 3 ปีข้างหน้าไทยต้องการบุคลากรแบบไหน


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์