ประชัยประกาศชัยชนะ ยกฟ้องไซฟ่อนเงินทีพีไอ

วานนี้ (24 ต.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 814 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก  ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดีดำหมายเลขที่ อ.3097/2549

ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายประทีป เลี่ยวไพรัตน์ อดีตกรรมการ บริษัท อุตสหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ นายประมวล เลี่ยวไพรัตน์ อดีตกรรมการ บมจ.ทีพีไอ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทีพีไอ นายประหยัด เลี่ยวไพรัตน์ อดีตกรรมการ บมจ.ทีพีไอ
, น.ส.มาลินี เลี่ยวไพรัตน์ อดีตกรรมการ บมจ.ทีพีไอ และบริษัท พรชัยวิสาหกิจ จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-6 กระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 311, 313 และ 315 ฐานร่วมกันกระทำการใดเพื่อช่วยเหลือและให้ความสะดวกกรรมการบริษัททำให้เกิดความเสียหายด้วยการยักยอกทรัพย์ (ไซฟ่อนเงิน) ด้วยการทำสัญญาเช่าตึกทีพีไอ ที่กลุ่มผู้ให้เช่าและผู้เช่าเป็นกลุ่มเดียวกัน และมีการชำระค่าเช่าล่วงหน้า 90 ปี ตามสัญญาเช่ารวม 4 ฉบับ เป็นเงินมูลค่า 956,842,206 ล้านบาท อันเป็นการชำระค่าเช่าล่วงหน้าเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด
 
ตามฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 49 ระบุว่า

เมื่อระหว่างวันที่ 1 ก.พ. 38 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 27 ก.ค. 42 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกัน จำเลยซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ได้ร่วมกันกระทำการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหาย บมจ.ทีพีไอ โดยจำเลยที่ 1- 5 ซึ่งเป็นผู้บริหาร บมจ.ทีพีไอ ทำสัญญาเช่าพื้นที่อาคารทีพีไอ ซึ่งเป็นของ บริษัท พรชัยวิสาหกิจ จำกัด รวม 4 ฉบับ ตั้งแต่เดือน ก.พ.38-พ.ค.42 สัญญาฉบับแรกทำเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 38 ทำสัญญาเช่าอาคารทีพีไอชั้น 7-9 ส่วนจำเลยที่ 3 และ 4 ทำสัญญาเช่ามีกำหนด 3 ปี สัญญาฉบับที่ 2 ทำเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 39 เช่าอาคารทีพีไอ ชั้นจี 2
, 7-11, 13, 16, 26 และ 29 โดยมีการจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นเวลา 90 ปี ส่วนสัญญาฉบับที่ 3 ทำเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 40 ขอเช่าอาคารทีพีไอชั้น 11, 20 และ 30-35 ชำระเงินล่วงหน้า 90 ปี สัญญาเช่าฉบับที่ 4 ในวันที่ 1 พ.ค. 42 เพื่อเช่าพื้นที่เดิมอีก 90 ปี ซึ่งจะครบกำหนดเช่าในปี 2532 โดยรวมพื้นที่ให้เช่าตามสัญญาแล้วประมาณ 10,000 ตารางเมตรเศษ ซึ่งมีการจ่ายเงินล่วงหน้า 877,303,888 บาท และเงินกินเปล่าให้ บจก.พรชัยฯ อีกจำนวน 79,538,318 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 956,842,206 บาท   

ทั้งนี้ การทำสัญญาเช่าดังกล่าว เป็นการทำสัญญาระหว่างนิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด (มหาชน)

มีกรรมการและผู้ถือหุ้นอื่นร่วมดำเนินกิจการอยู่ด้วยโดยจำเลยที่ 1-4 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจใน บมจ.ทีพีไอ ลงนามจ่ายเงินล่วงหน้าให้ บจก.พรชัยฯ ที่มีคนในตระกูลจำเลยร่วมเป็นกรรมการผู้มีอำนาจเช่นกัน ดังนั้นการกระทำดังกล่าวจึงเป็นการทำให้ผู้ถือหุ้นรายอื่นของ บมจ.ทีพีไอ ต้องเสียผลประโยชน์ โดยมีการเอื้อประโยชน์ให้ บจก.พรชัยฯ ได้รับประโยชน์แทน ซึ่งส่งผลให้ บมจ.ทีพีไอ ประสบปัญหาทางด้านการเงินและขาดสภาพคล่อง จึงขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ พ.ศ. 2535 มาตรา 311
, 313, 315 ประมวลกฎหมายอาญา ม.83  

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์-จำเลยนำสืบหักล้างกันแล้ว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า


จำเลยที่ 1-3 ร่วมกันทุจริตตามฟ้องหรือไม่ และจำเลยที่ 4-6 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดหรือไม่ เห็นว่า ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พยานโจทก์ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ บมจ.พีทีไอ อยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการ เพราะเป็นหนี้ล้มละลาย ซึ่งมีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการถึง 2 ครั้ง ซึ่งระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ได้รับรายงานว่าจำเลยมีพฤติการณ์นำเงินตัวเองจากกระเป๋าซ้ายเข้ากระเป๋าขวา เพราะ บมจ.พีทีไอ เป็นหนี้เงินกู้ธนาคารอยู่ การใช้จ่ายเงินยิ่งต้องระมัดระวัง ยิ่งทำสัญญาเช่าไม่จดทะเบียนถึง 90 ปี ย่อมทำให้ผู้ถือหุ้นที่เป็นประชาชนเสียเปรียบ เงิน 960 ล้านบาทนี้ น่าจะเอาไปลงทุนทำประโยชน์อย่างอื่นจะดีกว่าแลกพื้นที่เช่าอาคารเพียงเล็กน้อย ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่า การเช่าอาคารเป็นการสร้างโอกาส เพราะเช่าระยะยาว ค่าเช่าต่อเดือนเพียง 1.8 ล้านบาท การทำสัญญาได้เปิดเผย ที่ บมจ.พีทีไอ ต้องมีปัญหา เพราะหนี้เงินกู้ส่วนต่าง

จากการลอยตัวค่าเงินบาท ทุกวันนี้พีทีไอมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน

บริษัทเริ่มเติบโตแข็งแรง และไม่มีใครเสียหายเพราะเรื่องนี้ จำเลยที่ 1-3 เช่าอาคารทีพีไอ เพราะต้องการพื้นที่ในอาคารที่พวกตนเองถือหุ้นใน บจก.พรชัยฯ อยู่ร้อยละ 25 เป็นการจ่ายเงินเพื่อเกื้อกูลกิจการในเครือตัวเอง เป็นการปฏิบัติทั่วไปในเชิงธุรกิจ ไม่ถือว่าเป็นข้อพิรุธ และไม่ทำให้บริษัทพีทีไอขาดสภาพคล่อง การทำสัญญามีการทำบัญชีงบดุล และเป็นการทำสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา จึงไม่ตกเป็นโมฆะ บมจ.พีทีไอ และผู้ถือหุ้นยังไม่เสียหาย พยานโจทก์ก็ไม่ได้เบิกความว่าจำเลยทั้ง 6 ได้รับประโยชน์ไปในทางทุจริตอย่างไร พิพากษายกฟ้อง
 

ภายหลังนายประชัย กล่าวให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเพียงสั้นๆ ว่า สมัยก่อนถูกรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รังแกโดยไม่มีขื่อมีแป แต่วันนี้ถือว่าได้รับความเป็นธรรมจากศาล
 


ด้านนายสุทัศน์ เงินหมื่น ทนายความของนายประชัย กล่าวว่า วันนี้ถือว่าเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ในการแสวงความเป็นธรรมของนายประชัย ซึ่งป็นคนเก่ง มีความสามารถ แต่ที่ผ่านมานายประชัยถูกกลั่นแกล้งจากผู้ที่อยู่ขั้วอำนาจเก่า ซึ่งนายประชัยได้ยืนหยัดต่อสู้จนได้รับความเป็นธรรม สำหรับเรื่องฟ้องกลับคงต้องพิจารณาอีกทีหนึ่ง ส่วนนายบุญอิน ส่งเสริมสกุล ที่ปรึกษากฎหมายของนายประชัย กล่าวว่า ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ศาลได้วินิจฉัยในคดีนี้เป็นข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่ถูกต้องทุกประการ


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์