“อินเตอร์โพล” ไม่รับคำร้องขอหมายจับ “ยิ่งลักษณ์”


“อินเตอร์โพล” ไม่รับคำร้องขอหมายจับ “ยิ่งลักษณ์”

รองโฆษกสำนักงานตำรวจ เผย ส่งคำร้องขอหมายจับ "ยิ่งลักษณ์" ให้ตำรวจสากลแล้ว แต่ตำรวจสากลไม่รับ

- 8 ม.ค.61- ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์องค์การตำรวจสากล หรือ อินเตอร์โพล ยังไม่ปรากฎชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องหาหนีการจับกุมของประเทศไทย คดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำ แต่ยังคงมีเพียงชื่อของ นายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหาหลบหนีคดีขับรถยนต์ชนรถจักรยานยนต์ตำรวจ สน.ทองหล่อ อยู่คนเดียวเช่นเดิม

ล่าสุด พ.ต.ท.ปองพล เอี่ยมวิจารณ์ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวสปริงออนไลน์ว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการยื่นร้องขอให้ออกหมายจับ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปที่ตำรวจสากลแล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการว่าจะรับหรือไม่ ซึ่งผลก็คือทางตำรวจสากล ไม่รับคดีของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ดังนั้นเมื่อเข้าไปดูในเว็บไซต์อินเตอร์โพล จึงไม่ปรากฎชื่อ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์

ตำรวจโทปองพล กล่าวต่อว่า หลักการพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับการขอหมายจับนั้น เป็นสิทธิ์ของคณะกรรมการตำรวจสากล ซึ่งโดยทั่วไปจะรับพิจารณาในทุกคดีอยู่แล้ว เว้นแต่บางคดีที่มีความละเอียดอ่อน และ เปราะบาง อย่างคดีที่เกี่ยวกับศาสนาหรือการเมือง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ไทยก็ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและตามหน้าที่ จนถึงที่สุดแล้ว


พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นคำขอลี้ภัย กับทางการอังกฤษ ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2560 และอยู่ระหว่างรอให้ทางการอังกฤษรับรองสถานะพาสปอร์ตเป็นผู้ลี้ภัยว่า ยังไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียด ซึ่งดูจากภาพและก็ทราบจากสื่อมวลชนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่ที่ประเทศอังกฤษ แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและกระทรวงการต่างประเทศ จะต้องดำเนินการตรวจสอบต่อไป ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะเชิญนายศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือน้องไปป์ บุตรชายน.ส.ยิ่งลักษณ์มาให้ข้อมูล พล.อ.ประวิตร ปฏิเสธว่าไม่ทราบ แต่เชื่อว่านางสาวยิ่งลักษณ์จะไม่เคลื่อนไหวให้เกิดความขัดแย้ง

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึง กรณีมีกระแสข่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นคำขอลี้ภัยกับทางการอังกฤษ ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2560 และอยู่ระหว่างรอให้ทางการอังกฤษให้สถานะผู้ลี้ภัย ว่า "ไม่มีข้อมูลในเรื่องนี้"


“อินเตอร์โพล” ไม่รับคำร้องขอหมายจับ “ยิ่งลักษณ์”

พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก

ขณะที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตอบเพียงสั้นๆ เมื่อถูกถาม มองประเด็นนี้อย่างไรว่า "ไม่มอง"

สำหรับ "อินเตอร์โพล" หรือองค์กรตำรวจสากล นั้น ประเทศไทยเป็นสมาชิกขององค์การตำรวจสากลเมื่อเดือนสิงหาคม 1951 หรือ พ.ศ.2494 การที่ประเทศใดได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการว่า เป็นสมาชิกขององค์การตำรวจสากลแล้ว ประเทศนั้นจะต้องกำหนดหน่วยงานขึ้นมาหน่วยงานหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ในการประสานงานระหว่างหน่วยงานตำรวจประเทศสมาชิก ซึ่งปัจจุบันมีถึง 188 ประเทศ

งานสำคัญของตำรวจสากล ก็คืองานด้านการข่าว การตรวจสอบความเคลื่อนไหวของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่กระทำความผิดหรือมีแนวโน้มที่จะกระทำความผิด และความเคลื่อนไหวของอาวุธหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ผู้กระทำความผิดอาจใช้ในการกระทำความผิด ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนข่าวดังกล่าวกันอย่างต่อเนื่องระหว่างประเทศสมาชิกองค์การตำรวจสากลผ่านเว็บไซต์ขององค์การตำรวจสากล และผ่านช่องทางการสื่อสารของตำรวจสากลที่เรียกว่า I-24/7 (Information 24 hours and 7 days) ช่องทางการสื่อสารนี้ คือระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและมีความปลอดภัยค่อนข้างยอดเยี่ยม ข่าวสารหรือข่าวกรองที่มีการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศสมาชิกผ่านช่องทางนี้จะอยู่ในรูปของ email

ส่วนการประสานความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายนั้น ก็เป็นเรื่องการขอความร่วมมือในการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ เช่น การตรวจสอบว่าบุคคลคนนี้มีถูกออกหมายจับหรือไม่ มีประวัติอาชญากรรมหรือไม่ ถ้ามี เคยกระทำความผิดอาชญากรรมประเภทใดมาบ้าง เพื่อเป็นแนวทางในการสืบสวนสอบสวน อันนำไปสู่ดำเนินคดี และการจับกุม หรือขอให้ตรวจสอบบุคคลรายหนึ่งซึ่งกระทำความผิดจากประเทศหนึ่งมาแล้ว และเชื่อว่าหลบหนีเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยขอให้ตำรวจไทยช่วยตรวจสอบว่ามีมูลความจริงหรือไม่ประการใด การดำเนินการในส่วนนี้ จะควบคู่ไปกับการขอความร่วมมือด้านการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและความร่วมมือระหว่างประเทศในทางอาญาที่มีการร้องขออย่างเป็นทางการ ผ่านไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลางตามกฎหมายในเรื่องความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมาย หรือผ่านกระทรวงการต่างประเทศซึ่งเป็นวิถีทางทางการทูต

เมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดมีมติแล้วว่าควรให้ความร่วมมือ กองการต่างประเทศก็จะนำเสนอต่อผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่รับผิดชอบขออนุมัติให้หน่วยงานที่มีความเหมาะสมดำเนินการตามคำร้องขอความร่วมมือนั้น หรือหากเป็นกรณีการขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อศาลไทยได้ออกหมายจับตามคำร้องขอแล้ว กองการต่างประเทศก็จะส่งหมายจับนั้นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีหน้าที่ดำเนินการจับกุมตัวผู้กระทำผิดเพื่อส่งไปยังประเทศผู้ร้องขอต่อไป การดำเนินการในส่วนนี้ก็จะมีทั้งกรณีที่ไทยเป็นผู้รับคำร้องขอและเป็นผู้ร้องขอ เป็นต้น

นอกจากการประสานงานที่ผ่านมาทางช่องทางการสื่อสารตำรวจสากลแล้ว ยังมีการประสานงานภายในประเทศเกี่ยวกับการตรวจสอบคดีอาญาหรือข้อมูลด้านอาชญากรรมภายในประเทศด้วย ซึ่งก็คือ การประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศ หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การประสานงานกับนายตำรวจประสานงานต่างประเทศที่ปฏิบัติงานประจำอยู่ในประเทศไทย รวมไปถึงการประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลทั้งหลาย และองค์การระหว่างประเทศที่มีที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยอีกด้วย

Cr:::springnews.co.th

“อินเตอร์โพล” ไม่รับคำร้องขอหมายจับ “ยิ่งลักษณ์”

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
เช็คเบอร์มือถือ คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์