สมัคร ขอ กกต.ต้องเป็นกลางจริง

วันที่ 1 ก.ย.นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน กล่าวถึงกรณีที่ กกต.มีข้อเสนอจะให้พรรค การเมืองลงสัตยาบันว่าจะไม่ซื้อเสียงทุจริตเลือกตั้งว่า


ยินดีที่ลงสัตยาบันด้วย แต่ก็ต้องย้อนถามกลับไปว่า ถ้าลงแล้ว กกต.ก็ควรต้องให้เกียรตินักการเมืองที่จะลงสมัครเลือกตั้งบ้าง ไม่ใช่ว่ายังไม่ทันจะเลือกตั้งก็มาชี้หน้าว่ากันแล้วว่าโกง หากว่าใช้เงินซื้อเสียง พรรคการเมืองอย่างพลังประชาชนจะได้รับความคุ้มครอง จากการกล่าวหากันข้างเดียวมาตลอดมันจะหายไปหรือไม่ เวลาคนภาคหนึ่งลงคะแนนให้พรรคใหญ่เก่าแก่ คนภาคนั้นได้รับความนิยมชื่นชมกันว่าเป็นคนดี คนฉลาด แต่เวลาคนเหนือ คนอีสานไปเลือกพรรคอื่น กลับถูกดูหมิ่นดูแคลนตราหน้าว่าเป็นคนโง่ ถูกเงินซื้อได้ ต้องถามเลยว่า กกต.จะช่วยดูแลและตรวจสอบควบคุมการเลือกตั้งกับทุกพรรคอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ กกต.จะแก้ปัญหาเรื่องภาคนิยมที่กล่าวหากันจนเกินเลยจนเป็นปัญหาสังคมแบบนี้ได้หรือเปล่า


ฉะ คมช.ใส่ร้ายขั้วเก่าจนคล่องปาก


เมื่อถามถึงกรณีที่ฝ่าย คมช.ตั้งข้อสังเกตขั้วอำนาจเก่า อยู่เบื้องหลังการดึงอียูเข้ามาขอสังเกตการณ์ดูแลการเลือกตั้งของไทย โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.และประธาน คมช. สั่งให้รัฐบาลหาที่มาที่ไปเบื้องหลังเรื่องนี้นายสมัครตอบว่า ก็คิดกันได้แค่นั้น คิดอะไรไม่ออกก็โทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พูดจาใส่ไคล้กันจนคล่องปากเริ่มตั้งแต่กล่าวหาว่า อดีตนายกฯไม่จงรัก ภักดี มาจนป่านนี้ยังไม่เลิกโยน อำนาจเก่ามันจะเก่งขนาดไปจูงอียูมาได้เลยเหรอ ไม่เชื่อเลย พูดอย่างนี้มันขายหน้าไปทั่วโลก คนพูดต้องเหลียวมาดูตัวเองบ้างแล้วว่าตัวเองได้ทำปฏิวัติมาใช่หรือไม่ เมื่อประเทศไหนที่มีปฏิวัติฝรั่งมังค่าเขาก็ต้องสนใจมาขอดูกระบวนการคืนอำนาจให้ประชาชน ดูว่าจัดการเลือกตั้งเป็นอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ ถ้าเป็นการเลือกตั้งโดยที่ไม่มีปฏิวัติต่างประเทศ เขาก็แค่จะมาสังเกตการณ์ธรรมดาๆ ก็บอกไปแล้วว่าถ้าอียูเข้ามาแค่สังเกตการณ์ธรรมดาก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ถ้าจะต้องมาลงนามเอ็มโอยูขนเจ้าหน้าที่มามากมาย เพื่อควบคุมดูแลการเลือกตั้งแบบนี้เราไม่เห็นด้วย เพราะ ประเทศไทยเรามีเอกราชของเราอยู่


เหน็บ สนธิ คงกฎอัยการศึกอุ้มใคร

ผู้สื่อข่าวถามถึงการที่นายกฯยังขอพิจารณาข้อเรียกร้อง ที่จะให้ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ 35 จังหวัดที่ยังคงอยู่ นายสมัครตอบว่า ไม่มีเหตุผลอะไรที่ดึงกันไว้อีก เพราะจะมีการเลือกตั้งกันอยู่แล้ว ถ้าประเทศไทยต้องเลือกตั้งกัน ทั้งๆที่ยังมีกฎอัยการศึกคาอยู่มันอับอายเขาไปทั่วโลก แล้วความยุติธรรมในการรณรงค์หาเสียงมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะรู้ๆกันอยู่ ว่าทหารคุมกำลังอยู่ มีอำนาจอยู่ในมือ ถ้าเกิดไปชี้เป็นชี้ตาย เอื้อประโยชน์ในการหาเสียงให้พรรคใดพรรคหนึ่งแล้วจะเป็นอย่างไร เป็นที่ทราบกันดีว่าพื้นที่ 35 จังหวัด ที่ยังมีกฎอัยการศึกบังคับใช้อยู่นั้น

ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของอดีต ส.ส.พรรคไหน

และก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องมีการแบ่งภาคประชาชน ทำไมพื้นที่ในจังหวัดอื่นๆอีก 40 กว่าจังหวัด ไม่ต้องถูกควบคุม แต่ 35 จังหวัดนี้ต้องมาถูกดูแคลนทั้งที่เป็นคนไทยเหมือนกัน ถ้าจะบอกว่าขอยกเว้นเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และบางพื้นที่ที่มีปัญหาความมั่นคงชายแดน ที่จำเป็นต้องคงไว้ก็เห็นด้วย แต่จังหวัดอื่นๆต้องยกเลิกไปได้แล้ว ต้องฝากถึงประธาน คมช.ด้วยว่า ขอให้เหลียวดูตัวเองด้วยว่าจะเลือกตั้ง แล้วยังไม่เลิกกฎอัยการศึกจะทำเพื่อเอื้อประโยชน์


“ทนายทักษิณ” ออกโรงจวกตั้ง คตน.
 

นายประเกียรติ นาสิมมา โฆษกทีมทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และสมาชิกพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า ยังมีความคลางแคลงใจ กรณีที่รัฐบาลตั้งคนของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม มาเป็นคณะกรรมการอิสระตรวจสอบศึกษา และวิเคราะห์ การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษ และการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียงและทรัพย์สินของประชาชน (คตน.) ว่า รัฐบาลมีเจตนาหรือนโยบายอย่างไร จึงตั้งคนของพรรคฝ่ายค้านเดิมมาตรวจสอบนโยบายการปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลเก่า เหมือนมีนัยอะไรซ่อนอยู่ อยากให้รัฐบาลคิดให้ดีว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะมีการตั้งเป้าที่จะเอาผิดคนที่กำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติด ทำให้บุคคลภายนอกมองว่าไม่มีความชอบธรรมได้


อ้างอียูไม่มั่นใจการเลือกตั้งเมืองไทย
 

นายประเกียรติกล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่สหภาพยุโรป (อียู) ได้ถอนตัว ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวเรื่องการเลือกตั้งของไทยแล้ว คงเป็นความสมใจของรัฐบาล เราไม่มีปัญหา แต่น่าคิดว่าการเสนอตัวเข้ามาของอียูคงจะมีสิ่งน่าสงสัยพอสมควร ดังนั้น แม้อียูจะถอนตัวไปแล้ว แต่จะยังจับตามองอยู่ และคงมีการวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร ถ้าการจัดเลือกตั้งของรัฐบาลและฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่มีความเป็นธรรม รัฐบาลก็ต้องยอมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นด้วย น่าจะมีฟีดแบค กลับมา จะเป็นศึกหนักของรัฐบาลพอสมควร เมื่อถามว่าอียูเป็นห่วงเรื่องการมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือไม่ นายประเกียรติตอบว่า จุดนี้ที่อียูมองดูอยู่ ดังนั้น รัฐบาลต้องกำชับคนของรัฐห้ามเข้าไปเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใด เหมือนที่มีเสียงวิจารณ์มาก่อนหน้านี้ว่า มีความพยายามผลักดันให้บางพรรคได้เป็นรัฐบาล


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์