อภิสิทธิ์ กระทุ้ง คมช.เลิกอัยการศึก

อภิสิทธิ์ กระทุ้ง คมช.เลิกอัยการศึก


ทางด้านพรรคประชาธิปัตย์นั้น วันที่ 2 ก.ย. เมื่อเวลา 08.30 น. ที่โรงแรมแม่น้ำริเวอร์ไซด์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่หลายกลุ่มการเมืองเริ่มมีความชัดเจนต่อการเลือกตั้งว่าหากหลายฝ่ายมุ่งสร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะความชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างไร เพราะจะช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน ส่วนกรณีมีการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกนั้นหากจะให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยจะต้องให้พรรคการเมืองสามารถให้ความรู้กับประชาชนได้เต็มที่ หากทำไม่ได้ถือว่าเป็นปัญหา

ดังนั้น ควรยกเลิกกฎอัยการศึกเมื่อมีการประกาศกฤษฎีกาเลือกตั้ง

เพราะเป็นเวลาที่เหมาะสม ยกเว้นพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
หากจำเป็นต้องคงกฎอัยการศึกไว้ก็ควรคงไว้ ส่วนกรณีที่มีบางฝ่ายระบุว่าต้องคงกฎอัยการศึกไว้ เนื่องจากมีการใช้เงินซื้อเสียงนั้น เรื่องนี้ กกต.ต้องลงมาจัดการ เพราะการใช้กฎอัยการศึกทำให้คนที่ใช้วิธีไม่เหมาะสมก็ใช้อยู่ใต้ดิน แต่ทำให้คนที่ทำถูกต้องพลอยเสียหายไปด้วย


ไม่หวั่นเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป


ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ในกรณีที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า อาจเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป เพราะต้องรอความชัดเจนของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ประกอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองและกฎหมายว่าด้วย กกต. เรียบร้อยนั้น พรรคประชาธิปัตย์ไม่ติดใจ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้กำหนดชัดเจนให้มีการเลือกตั้งภายใน 90 วันอยู่แล้ว คือจะไม่เกินกลางเดือน ม.ค. 2551 ส่วนการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับที่อยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาติดตามควบคู่ไปด้วย มีนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค เป็นประธาน ถ้ามีประเด็นอะไรที่ควรปรับปรุง จะนำเสนอต่อไป ทั้งนี้ สนช.ควรพิจารณากฎหมายดังกล่าวให้สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมและต้องชัดเจน อย่าเปิดช่องต้องตีความ เพราะอาจมีปัญหาในการปฏิบัติ


แนะ กกต.ตีกรอบอียูสังเกตการณ์


นายองอาจกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่สหภาพยุโรป(อียู) จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งของไทยนั้น อียูจะเข้ามาต้องชัดเจนว่าไม่เข้ามาตรวจสอบหรือควบคุมการเลือกตั้ง เท่าที่ดูรายละเอียดทำบันทึกช่วยจำ (เอ็มโอยู) ที่ยังไม่ได้ลงนามมีเนื้อหาเกินกว่าที่จะเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งของไทย และจากประสบการณ์ที่เคยเป็นตัวแทนของประเทศไทยเข้าไปสังเกตการณ์การลงประชามติในประเทศติมอร์ และเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาก็ได้ไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั่วไปในประเทศติมอร์ มีความแตกต่างจากการที่ไปตรวจสอบหรือควบคุมการเลือกตั้ง ไม่มีประเทศไหนรวมถึงประเทศติมอร์ที่จะให้องค์กรต่างประเทศเข้าไปตรวจสอบหรือควบคุมการเลือกตั้ง ผู้สังเกตการณ์ ต่างประเทศที่เข้าไปไม่มีอำนาจใดๆเข้าไปแทรกแซง ทักท้วงหรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ดังนั้น ขอฝาก กกต. ด้วยที่ทางตัวแทนอียูจะเข้าพบขอให้พูดจากันให้ชัดเจน ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์