ดีเอสไอเตือนทนายแม้วระวังถูกฟ้องฐานแจ้งเท็จ

ดีเอสไอเตือน"ทนายแม้ว"ระวังถูกฟ้องฐานแจ้งเท็จ

อธิบดีดีเอสไอท้า "นพดล" ฟ้อง ยันไม่เคยให้สัมภาษณ์หมิ่นประมาทใคร ด้าน "นายกรัฐมนตรี" ย้ำดำเนินการกับ “พ.ต.ท.ทักษิณ” ตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ก้าวก่าย


 ายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงกรณีนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะฟ้องฐานหมิ่นประมาท เนื่องจากพฤติกรรมขัดต่อประมวลจริยธรรมของดีเอสไอ ว่า ไม่เคยระบุว่าหรือเจาะจงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ผิดทุกครั้งที่ให้สัมภาษณ์ก็อ้างอิงพยานหลักฐานทุกอย่างและใช้คำว่าน่าเชื่อว่าแทบทั้งสิ้น จึงมั่นใจในคำพูดและการให้สัมภาษณ์ ไม่ใช่การหมิ่นประมาทอย่างแน่นอน และในวันแถลงความคืบหน้าของคดีเอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ใบแถลงข่าวก็ระบุชัดเจนและใช้คำว่าน่าเชื่อว่าแทบทั้งสิ้น สงสัยนายนพดลจะไปลอกจากหนังสือพิมพ์บางฉบับ หากนายนพดลเข้าใจว่าตนมีพฤติกรรมขัดต่อจริยธรรมพนักงานสอบสวน ก็ไปร้องให้ตั้งกรรมการสอบวินัย ไม่ใช่ฟ้องร้องคดีอาญาหรือคดีแพ่ง เพราะความผิดด้านจริยธรรมไม่ใช่ความผิดทางอาญา

ส่วนกรณีที่ห้ามพนักงานสอบสวนให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับคดี นายสุนัย กล่าวว่า คดีดังกล่าวตนก็ไม่ใช่หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ดังนั้นตนให้สัมภาษณ์ในฐานะอธิบดี ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยงาน ต้องชี้แจงให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริง เพราะเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจ และยืนยันว่าทุกอย่างทำตามขั้นตอนและไม่กลัว ถ้านายนพดลจะฟ้องร้องหมิ่นประมาทแต่ถ้ากล่าวหาว่าตนปฏิบัติหน้าโดยมิชอบ หรือกล่าวหาตนจนทำให้เกิดความเสียหาย ก็พร้อมจะฟ้องกลับฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

ด้าน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในรายการ “เปิดบ้านพิษณุโลก”ถึงการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา ว่า ได้พูดคุยกับ นายเดวิด วิลเลียม ฟอลล์ อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งไปว่า กฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น ยังมีผลใช้บังคับอยู่หรือไม่ และได้พูดคุยกันถึงว่ามันล้าสมัย มีบางเรื่องที่ควรปรับแก้ เมื่อศาลออกหมายแล้วเป็นเรื่องที่กระบวนการยุติธรรมจะดำเนินการตามขั้นตอน ในส่วนของรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศพร้อมให้การสนับสนุน ทั้งอัยการ ตำรวจ ที่จะเข้าไปดำเนินการเกี่ยวข้องกับประเทศอังกฤษ

“ขั้นตอนนี้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ในส่วนของฝ่ายรัฐบาล เราคงมีหน้าที่อำนวยความสะดวก แต่เราไม่มีหน้าที่ไปเร่งรัดหรือไปรั้งการดำเนินการของฝ่ายกระบวนการยุติธรรม และเราได้พูดกันว่ามีการก้าวก่ายในแต่ละส่วน มีการแทรกแซงที่เกิดขึ้น ในอดีตที่ผ่านมาก็มี เพราะฉะนั้นในเรื่องเหล่านี้ไม่ควรที่จะเกิดขึ้นต่อไปอีก น่าจะเป็นหน้าที่ เป็นไปตามกระบวนการของแต่ละฝ่าย” นายกรัฐมนตรี กล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์