อัยการระดมมือกฎหมายอังกฤษ หาช่องส่งทักษิณ มาดำเนินคดี

อัยการฝ่ายต่างประเทศ เผย

วันนี้(16สค.)ประชุมทีมอัยการที่จบอังกฤษ และสอบถามผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอังกฤษ หวังใช้วรรคท้ายสนธิสัญญาฯ ถ้าความผิดคล้ายกัน 2 ประเทศ อังกฤษอาจส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ ระบุ แม้ยกเว้นคดีการเมือง แต่ทุกประเทศมีความผิดถ้านักการเมืองเข้าไปมีส่วนในกิจการรัฐ


(16สค.) นายสัมพันธ์ สาระธนะ อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) กล่าวว่า
 
วันนี้(16สค.)จะระดมความเห็นนักกฎหมาย เพื่อศึกษาขั้นตอน และกระบวนการเกี่ยวกับการขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนในคดีทุจริตซื้อขายที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก จำนวน 33 ไร่ มูลค่า 772 ล้านบาท จากกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา ตกเป็นจำเลย


นายสัมพันธ์ กล่าวว่า

จะมีการพิจารณาลักษณะความผิดที่อัยการฟ้องต่อศาล เป็นข้อหาเดียวกับที่ทางการประเทศอังกฤษมีอยู่หรือไม่ ซึ่งความจริงเรามีสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ระหว่างกรุงสยามกับประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1911 หรือ พ.ศ.2454 ซึ่งจะมีลักษณะความผิดอยู่ 31 ความผิด โดยเป็นความผิดที่กำหนดมานานแล้ว คงจะไม่มีข้อหาที่ฟ้องในปัจจุบัน แต่ในสัญญาข้อ 2 วรรคท้ายมีความว่า “ถ้ามีความผิดคล้าย ๆ กัน ระหว่าง 2 ประเทศนี้ ทางการอังกฤษก็อาจพิจารณาส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้”


นายสัมพันธ์ กล่าวว่า

อังกฤษค่อนข้างจะมีกระบวนการขั้นตอนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ หรือนานาประเทศทั่วไป โดยจะพิจารณาว่า ความผิดที่ขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น หากเป็นความผิดที่เป็นมูลฐาน จะมีมูลหรือไม่มีมูลเท่านั้นเอง แต่อังกฤษจะเข้าไปถึงเนื้อหาว่า ความผิดซึ่งมีกันของ 2 ประเทศ สามารถที่จะลงโทษได้ ถ้าเขาทำความผิดนั้นในประเทศอังกฤษด้วย จะเกิดความยุ่งยากในการดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดน


“ในขั้นตอนของอัยการ เราจะพิจารณาว่า

คดีนี้ความผิดที่เราฟ้องต่อศาล เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายอังกฤษแล้ว มีข้อหาตามกฎหมายอังกฤษหรือไม่ ตรงจุดนี้เราจะระดมอัยการซึ่งจบจากอังกฤษ และสอบถามไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของอังกฤษให้มาตรวจสอบว่าถูกต้องหรือไม่” นายสัมพันธ์ กล่าว


นายสัมพันธ์ กล่าวด้วยว่า

จะต้องนำคดีของ นายปิ่น จักกะพาก อดีตผู้บริหารบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ ซึ่งมีการขอตัวส่งผู้ร้ายแดนจากอังกฤษมาเป็นบทเรียน ซึ่งถ้อยคำที่จะทำเพื่อขอส่งตัวอดีตนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน แม้ข้อหาจะไม่ตรงทุกถ้อยคำ แต่สามารถดูองค์ประกอบได้ ทั้งนี้ ทุกประเทศย่อมมีข้อห้ามที่ถือว่ามีความผิดกรณีนักการเมืองเข้าไปมีส่วนในกิจการของรัฐ

สำหรับประเด็นที่หลายฝ่ายเกรงว่า อาจจะไม่ได้ตัวอดีตนายกรัฐมนตรีกลับมา โดยอ้างว่าเป็นคดีการเมืองนั้น

นายสัมพันธ์ กล่าวว่า
 
ถือเป็นหลักการของทุกประเทศว่า ถ้าเป็นคดีเกี่ยวกับการเมืองจะไม่ส่งให้ ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นกับว่า อดีตนายกรัฐมนตรีจะต่อสู้อย่างไร อย่างไรก็ตาม สำนักงานอัยการฝ่ายต่างประเทศจะศึกษาเอกสารข้อกฎหมายทั้งหมด แล้วต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการผ่านช่องทางการทูตตามสนธิสัญญาต่าง ๆ ระหว่างกัน.


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์