รายงานพิเศษ : ทักษิณ ...บ่อนทำลายหลัก The King Can Do No Wrong!!

รายงานพิเศษ : ทักษิณ ...บ่อนทำลายหลัก The King Can Do No Wrong!!

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 7 เมษายน 2549 15:26 น.

อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน

ด้านหนึ่ง...การเว้นวรรคในตำแหน่งนายกฯ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อาจได้รับเสียงชื่นชมว่า เป็นการถอยเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง แต่อีกด้าน ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือ การรักษาอำนาจของตนไว้โดยผ่านนายกฯนอมินี รวมทั้งเตรียมตั้งตัวแทนนอมินีมาปฏิรูปการเมือง ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า การเลือกเว้นวรรคแทนการลาออกของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เพียงทำให้เมืองไทยต้องเผชิญกับฝันร้ายจากระบอบทักษิณต่อไป แต่การเว้นวรรค ยังสร้างหายนะยิ่งใหญ่ ด้วยการทำลายระบบคุณธรรมในสังคมไทย และท้าทายหลัก The King Can Do No Wrong ที่ดำเนินมาอย่างยาวนานอีกด้วย

แม้จะสร้างความประหลาดใจอยู่ไม่น้อยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตัดสินใจประกาศเว้นวรรคจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยหน้า แทบจะทันทีที่รู้ผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 4 เม.ย.แต่เมื่อมองถึงสถานการณ์และเหตุปัจจัยต่างๆ แล้ว ก็คงไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายมากมายนัก เพราะหลายคนประเมินตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้ว ว่า ต่อให้ประชาชนและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กดดันแค่ไหน พ.ต.ท.ทักษิณ ก็จะไม่ยอมลาออกแน่ เพราะกลัวถูกมองว่าแพ้ สู้อาศัยการเลือกตั้ง 2 เมษายนฟอกตัวก่อน ว่า ประชาชนยังหนุนตนอยู่ เสร็จแล้วก็สร้างภาพผู้นำที่เสียสละ-ไม่ยึดติดตำแหน่ง เท่ากับว่า เป็นทางลงที่สวยงามที่สุดแล้วของชายชื่อ ทักษิณ เพราะลงจากตำแหน่งเอง ไม่ใช่ให้ใครมาบีบบังคับ

ขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เป็นผู้กำหนดเกมนี้เอง ด้วยการเลือกที่จะเว้นวรรคแทนการลาออก โดย พ.ต.ท.ทักษิณ อ้างเหตุผลที่สวยหรูดูดีแก่ประชาชน ว่า เพื่อความสมานฉันท์ของคนในชาติ เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่อีก 60 กว่าวันก็จะทรงครองราชย์ครบ 60 ปี แต่ลึกๆ แล้ว นั่นคงไม่ใช่เหตุผลเดียวของการประกาศเว้นวรรค เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่า เสียงโนโหวตเกือบ 10 ล้านเสียงที่ไม่เอาตน โดยเฉพาะใน กทม.และภาคใต้นั้น เป็นตัวเลขที่ไม่แคร์ไม่ได้ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ จะบริหารประเทศท่ามกลางความแตกแยกของผู้คนในแต่ละภาคได้อย่างไร จึงควรเว้นวรรคจากตำแหน่งนายกฯ สักพัก แต่ยังรักษาอำนาจไว้ด้วยการชักใยอยู่ข้างหลังนายกฯนอมินีที่ตัวเองไว้วางใจให้สวมบทแทน วิธีนี้ นอกจากจะทำให้อำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้หายไปไหนแล้ว ยังทำให้ตัวเองกลับมาเป็นนายกฯ ได้ใหม่ในภายหลัง ทั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามอย่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มาตรวจสอบเช็กบิลสารพัดข้อกล่าวหาขายหุ้นขายชาติ-โกงแผ่นดินได้อีกด้วย

อ.ประหยัด หงษ์ทองคำ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ เป็น 1 ในผู้ที่มองว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เหมือนคนที่ลงจากหลังเสือ ก็ต้องระวังเสือจะทำร้าย จึงเลือกเว้นวรรค เพื่อคงเขี้ยวเล็บของตนไว้

ส่วนหนึ่งต้องการลดการเผชิญหน้ากัน ลดความแตกแยก แต่ในขณะเดียวกันเนื่องจากเป็นห่วงหรือหวาดกลัว ว่า เมื่อท่านจะลดบทบาททางการเมืองโดยสิ้นเชิง คือ ไม่เกี่ยวข้องเลย หรือรอให้มีการตั้งรัฐบาลคนนอกขึ้นมา โดยที่พรรคไทยรักไทยไม่มีส่วนจะมีอำนาจเป็นรัฐบาลด้วย ท่านก็เป็นห่วงหรือกลัวว่า ฝ่ายตรงกันข้ามจะถือโอกาสแก้แค้น ทำนองที่เขาเรียกว่า ลงจากหลังเสือ ต้องระวังอันตรายจากการถูกเสือทำร้ายเอาด้วย เพราะฉะนั้นการที่ท่านจะลงจากหลังเสือโดยสิ้นเชิงนั้น ท่านจึงไม่ทำ ท่านจึงต้องอ้างว่า ยังมีความรับผิดชอบในการต้องรักษาการและเมื่อรักษาการไปถึงจุดที่มีการตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว ท่านก็ยังมอง หรือคาดหวังไว้ว่า พรรคไทยรักไทยต้องเป็นรัฐบาลต่อไป ทั้งนี้ ก็เพื่อคอยปกป้องดูแลไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามมารุกเร้าท่านเกิน มาทำหน้าที่ในการที่จะคิดบัญชีเก่าท่าน ตรวจสอบท่านเรื่องนั้นเรื่องนี้ ซึ่งก็มีแนวโน้มมีเค้าเงื่อนพอสมควร เพราะพันธมิตรฯ ก็ได้พูดทำนองว่า แม้เราจะเลิกการชุมนุมเพราะนายกฯ ได้ประกาศเว้นวรรคทางการเมือง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง เรายังเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป ด้วยการตรวจสอบ ด้วยการดูแลว่า รัฐบาลทำอะไรถูกไม่ถูก นั่นมันมีความหมายครอบคลุมไปถึงการที่เขาจะเริ่มมาคิดบัญชีกับข้อกล่าวหาเก่าๆ ที่กล่าวหาว่า นายกฯ ทักษิณได้ทำผิดอะไรไว้บ้าง เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ผมก็มองว่า การที่นายกฯ ทักษิณยังรักษาการอยู่ก็ดี หรือเมื่อหมดวาระของการรักษาการแล้ว ท่านก็ยังต้องมีคนของท่านเป็นรัฐบาลต่อไป หรืออย่างที่เขากำลังมองกันว่า แม้ท่านจะไม่เป็นนายกฯ หลังจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว ก็อย่าได้หวังว่าท่านจะหมดเขี้ยวหมดเล็บหมดอำนาจ รัฐบาลใหม่นั้น ก็คงเป็นรัฐบาลนอมินีนั่นเอง จริงๆ แล้วท่านอยู่เบื้องหลัง หรือดีไม่ดี ท่านก็อาจจะเป็นนายกฯ อยู่หลังฉากด้วยซ้ำไป นี่เป็นปัญหาที่ผมมองว่า ความสมานฉันท์การทำงานร่วมกันที่เกิดจากการที่นายกฯ ทักษิณประกาศว่า จะไม่รับตำแหน่งนายกฯ ในสมัยต่อไปนั้น ไม่น่าที่จะเป็นไปตามความคาดหวังที่สังคมกำลังตั้งความหวังในขณะนี้ได้

อ.เจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร

ด้าน อ.เจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร มองการเว้นวรรคจากตำแหน่งนายกฯ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า สะท้อนว่า การต่อสู้ของประชาชนที่ต้องอดตาหลับขับตานอนในช่วงที่ผ่านมา ยังคงไม่ได้รับชัยชนะ เพราะปัญหาต่างๆ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้สร้างไว้ ได้กลายเป็นคลื่นกระทบฝั่ง เพราะไม่มีการรับผิดชอบกับความผิดพลาดที่ตัวเองได้สร้างขึ้น

ถ้ามองในแง่ปัญหาต่างๆ ที่รัฐบาลทักษิณ หรือตัวคุณทักษิณได้ก่อร่างสร้างไว้ในอดีตนั้น มันก็เหมือนกับ น้ำกระทบฝั่ง คนต่อสู้มาเป็นแรมเดือน คนอดหลับอดนอนกันต่อสู้ โดยเฉพาะปัญหาต่างๆ ในเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม ที่ผู้นำขาดไป สังคมไทยไม่ได้บอกความถูกความผิด ไม่ได้มีการชี้ความถูกความผิดตรงจุดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของตัว พรฎ.ที่จะแปรรูป และ พ.ร.ฎ.นั้นถูกศาลปกครองวินิจฉัยว่า ขัดต่อ กม.ก็ไม่มีใครมารับผิดชอบ เพราะฉะนั้นตรงนี้ผมถือว่า เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายเห็นว่า หลัก The King Can Do No Wrong เป็นหลักที่ไว้เพื่อปกป้องมิให้ฝ่ายบริหารดำเนินการใดๆ อันเป็นการสุ่มเสี่ยง และทำให้ก่อการผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นเมื่อฝ่ายบริหารได้เสนอสิ่งที่ผิดกฎหมาย ฝ่ายบริหารคนที่เสนอจะต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก แต่ก็ไม่ปรากฏว่า ลาออก ฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า หลัก The King Can Do No Wrong ถูกยกเว้น ไม่มีหลักนี้ต่อไปในประเทศไทยใช่หรือไม่ อันนี้เป็นเรื่องที่ผมยอมรับไม่ได้ เพราะเป็นการทำลายหลักทางนิติศาสตร์ และหลักการตาม รธน. เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก ถ้าอีกหน่อยรัฐบาลต่อมา ถ้าจะเสนอกฎหมายอะไรไป ก็ไม่ต้องรับผิดชอบกระนั้นหรือ

อ.เจริญ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ขณะนี้สังคมไทยกำลัง เสียสติ เพราะนอกจากหลัก The King Can Do No Wrong จะถูกท้าทายถูกยกเว้นเพราะรัฐบาลทักษิณแล้ว คนที่พยายามพิทักษ์ รธน.พิทักษ์หลัก The King Can Do No Wrong อย่าง นายสนธิ ลิ้มทองกุล แทนที่จะได้รับการยกย่องเชิดชูจากสังคม กลับถูกฟ้องว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และนักนิติศาสตร์อย่างตนยอมรับไม่ได้

คุณสนธิ ลิ้มทองกุล มาพูดว่า ให้คนที่รับสนองเนี่ยรับผิดชอบ ก็ถูกฟ้องหมิ่นประมาท ผมว่า สังคมไทยเนี่ยกำลังเสียสติ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะคนที่เขาพิทักษ์หลัก รธน.พิทักษ์หลัก The King Can Do No Wrong ควรจะได้รับการยกย่อง เชิดชูจากสังคม แต่ต้องมาตกเป็นจำเลยในคดีนี้ ผมว่าอันนี้เป็นการแสดงให้เห็นการใช้อำนาจที่ไม่ยุติธรรม ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการใช้อำนาจ ไม่ได้ใช้กฎหมายเป็นหลักนำ และต้องการที่จะทำลายคู่แข่งทางการเมือง ผมในฐานะของนักนิติศาสตร์ยอมรับไม่ได้เลย เพราะหลัก The King Can Do No Wrong เป็นหลักสำคัญมากสำหรับที่ให้ผู้ที่จะต้องใช้อำนาจรัฐผ่านการเสนอกฎหมาย การใช้กฎหมายจะต้องระมัดระวัง ไม่นำกฎหมายอะไรต่างๆ ที่มันไม่ถูกต้องตามกฎหมายเอาไปประกาศใช้ แต่เมื่อมีการประกาศใช้แล้ว ถูกศาลเพิกถอน ก็จะต้องรับผิดชอบตามหลัก แต่นี่ไม่มีใครรับผิดชอบเลย แล้วเรื่องนี้สังคมไทยจะว่ายังไง สังคมไทยอยากจะให้มีหลัก The King Can Do No Wrong ต่อไปหรือไม่ หรือว่า สังคมไทยก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายกฯ ว่า จะรับผิดชอบก็ได้หรือไม่รับผิดชอบก็ได้ หรืออ้างเป็นเรื่องเทคนิค ติ๊กผิด อะไรทำนองอย่างนั้น แล้วสังคมไทยจะว่ายังไง อันนี้เป็นเรื่องที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันทำให้ความคลุมเครือ ความไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ดำรงอยู่ต่อไป เช่นเดียวกันในเรื่องของความชอบธรรมของผู้ปกครอง สังคมไทยกำลังแยกไม่ออก ระหว่างความเป็นนักธุรกิจกับนักการเมืองหรือคนที่มาดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้น ความถูกความผิดอยู่ตรงไหน อันนี้ไม่มีความชัดเจน

นอกจากนี้ อ.เจริญ ยังมองว่า การเว้นวรรคของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการทำลายระบบคุณธรรมในสังคมไทยให้หายไปอย่างสิ้นเชิง และยังเป็นการทิ้ง ระเบิดเวลา ให้สังคมต่อไปในภายภาคหน้า เพราะทำให้สังคมตกอยู่ในหลักของการใช้อำนาจ และความดื้อ แทนที่จะอยู่กันด้วยหลักคุณธรรม ความถูกต้อง และกฎหมาย

การเว้นวรรคของคุณทักษิณ มันได้สร้าง ระเบิดเวลา ทิ้งไว้ให้สังคมต่อไปในอนาคตข้างหน้า ซึ่งมันไม่มีความถูกความผิด ไม่มีการตัดสินชี้ขาด เราอยู่กันด้วยหลักคุณธรรม หลักความถูกต้อง และหลักกฎหมาย แต่เรากำลังอยู่ในหลักของการใช้อำนาจ และความดื้อ ไม่ยอมรับ อันนี้ผมเห็นว่า สังคมไทยสูญเสียครั้งสำคัญ สิ่งที่สังคมไทยสูญเสีย คือ ระบบที่เขาเรียกว่า ระบบคุณธรรมของสังคม เราไม่มีอยู่เลย เมื่อไม่มีใครแสดงความรับผิดชอบ สังคมออกมาเรียกร้องเรื่องปัญหาคุณธรรมจริยธรรม แต่ไม่มีใครรับผิดชอบหรือขานรับเลย ก็แสดงว่าหลักเหล่านี้ไม่ได้รับการปฏิบัติในสังคมไทย เพราะฉะนั้นการเว้นวรรคตรงนี้ มันได้สร้างตัวทำลายหลักคุณค่าของสังคมไป อันนี้มองในเชิงสังคมวิทยา การเมือง และกฎหมาย ในเรื่องของการเว้นวรรค ผมว่ามันเป็นแผนการในการเปิดรัฐสภาให้ได้ เพราะเหตุว่า จะสังเกตเห็นว่า ทางนายกฯ ทักษิณได้แถลงว่า ถ้าเปิดสภา ถ้ามีการเสนอชื่อให้แกเป็นนายกฯ ก็ไม่รับ คือเว้นวรรคไป นั่นก็หมายความว่า สังคมไทยกำลังจะยินยอมให้มีการเปิดสภาโดยไม่ถูกต้อง ไม่ครบ 500 คน การเปิดสภาโดยไม่ครบ 500 คน มันไปทำลายเขาเรียกว่า การใช้คำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่เคยวินิจฉัยเอาไว้ ฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยก็ไม่ได้ปฏิบัติตามกติกา หรืออะไรเลย ศาล รธน.วินิจฉัยว่า องค์ประชุมจะต้องครบ อย่างของวุฒิสภาต้อง 200 ในกรณีของผู้แทนฯ เลือกตั้งมา จะเปิดอีก ก็ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นการเว้นวรรคคือการเอาเปรียบสังคม คือ ไปยอมให้ทำลายหลักเกณฑ์ตาม รธน.ทำลายคำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่เคยมีไว้ ลืมมันเสียเถอะ เปิดสภา แล้วผมจะเสนอผม แล้วผมก็ไม่รับ อย่างนี้ เพราะฉะนั้นคำแถลงนี้เป็นคำแถลงที่เหมือนกับมีเล่ห์เหลี่ยมที่ทำให้เราจะต้องเปิดสภาก่อน ทั้งๆ ที่มันเปิดไม่ได้ มันไม่ถูกต้องตาม รธน.

อ.ประหยัด หงษ์ทองคำ

ด้าน อ.ประหยัด ก็ยืนยันว่า ยังไงสภาก็เปิดประชุมไม่ได้แน่ เพราะไม่ครบ 500 คน ดังนั้น เพื่อไม่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องรักษาการนายกฯ ตลอดไป ควรนำ ม.7 มาใช้ ขอนายกฯพระราชทาน เพื่อแก้ปัญหาให้เดินหน้าปฏิรูปการเมืองได้

ความจริงก็รู้อยู่ว่า ยังไงก็ได้สมาชิกสภาไม่ครบ 500 คนแน่ ไม่ว่าจะขาดจากระบบบัญชีรายชื่อก็ดี หรือขาดจากระบบเขตเลือกตั้งก็ดี เมื่อไม่ครบ 500 คนนั้น ถ้าจะว่าตามบทบัญญัติ รธน.โดยเคร่งครัด มันก็ประชุมไม่ได้ ทำหน้าที่รัฐสภาไม่ได้ เมื่อทำไม่ได้ ก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ ถ้าตั้งไม่ได้ ก็หมายความว่า ท่านนายกฯ ทักษิณ จะต้องเป็นผู้รักษาการตลอดไปใช่มั้ย มันจะเกิดเดตล็อกอย่างนี้ขึ้นมา และถ้าเราต้องการให้เดินไปได้ ก็ลองใช้วิธีการเทียบเคียงกับปี 2535 ให้ในหลวงพระราชทานคนกลางมาเป็นนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาล จะเรียกว่า สมานฉันท์แห่งชาติอะไรก็ได้ แต่จะต้องเป็นรัฐบาลที่เป็นคนกลาง ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถึงแม้การเลือกตั้งครั้งนี้ ไทยรักไทยจะได้รับเลือกตั้งมาเกือบ 100% ก็ให้ทำหน้าที่เป็นสภานิติบัญญัติไป รัฐบาลก็เป็นรัฐบาลพระราชทาน ตั้งขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษ บริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีหน้าที่ในการปฏิรูปการเมือง จัดตั้งคณะบุคคลขึ้นมาแก้ไข รธน.เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ยุบสภาชุดนี้ซะ เลือกตั้งใหม่ และดำเนินปกครองประเทศไปตามระบบธรรมดา

ขณะที่ อ.เจริญ ก็เห็นด้วยเช่นกันกับการใช้ ม.7 เพราะการเมืองไทยจะเจอภาวะสุญญากาศ จากการเปิดสภาไม่ได้ หากมีความพยายามเปิดสภาแบบถูลู่ถูกัง ก็แสดงว่า ไม่เคารพกติกาตามรัฐธรรมนูญ และว่า หลังจากนี้ ไม่มีทางที่เมืองไทยจะได้รัฐธรรมนูญที่ดี ตราบใดที่การแก้รัฐธรรมนูญการปฏิรูปการเมืองยังอยู่ในมือของพรรคการเมือง ตราบนั้นตัวแทนจากหลายๆ ฝ่ายที่จะเข้ามาร่วมปฏิรูป ในที่สุดก็อาจเป็นเพียง นอมินีของพรรคการเมือง

พรรคไทยรักไทยปฏิเสธที่จะเป็นเจ้าภาพในการปฏิรูปการเมืองมาโดยตลอด แล้วหลายเรื่องที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง มันก็จะเป็นผลประโยชน์ได้เสียของคนในรัฐบาล เพราะฉะนั้นการปฏิรูปการเมืองก็อาจจะเป็นการปฏิรูปการเมืองอย่างนั้นๆ ไม่ได้แก้ปัญหาโครงสร้างของระบบการเมืองไทย ระบบการตัดสินใจที่มีปัญหาฟอนเฟะตั้งแต่ในอดีต ยิ่งไปกว่านั้น รูปแบบของคณะที่จะนำมาสู่การปฏิรูปการเมืองที่ใช้แบบอดีต คือ แบบ สภาสนามม้า ก็จะเอื้อให้พรรคการเมืองใหญ่สามารถส่งคนตัวแทนของตัวเองเข้ามานั่งเป็นคณะกรรมการร่างปฏิรูปการเมือง เช่น ถ้าเราได้ฟังว่า คุณทักษิณเคยพูดถึงตัวแทนมอเตอร์ไซค์ เพราะฉะนั้นตัวแทนมอเตอร์ไซค์ก็อาจจะมาเป็นคณะกรรมการยกร่าง รธน.ซึ่งมันก็ไม่ตรงอีกนั่นแหละ คนเหล่านี้ผมไม่ได้ถูกท่านนะ แต่คนที่จะเป็นนอมินีในตัวแทนสาขาอาชีพจะเข้ามาควบคุมกระบวนการปฏิรูปการเมืองหมด เพราะฉะนั้นเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชนที่ต่อสู้เรียกร้องภายใน 1 เดือนที่ผ่านมา ก็ไม่มีทางที่จะบรรลุผล ประเทศไทยก็ไม่มีทางที่จะได้ รธน.ที่ดี เพราะการปฏิรูปการเมืองไม่ได้อยู่มือของคนกลางที่ไม่มีประโยชน์ได้เสีย แต่ยังอยู่ในมือของนักการเมือง ตรงนี้เป็นจุดที่ผมเห็นว่า การเมืองไทยในอนาคตไม่มีทางที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองได้ ตราบที่ตัวคณะกรรมการที่จะต้องมาปฏิรูปการเมืองอยู่ในมือของนักการเมือง จะต้องแยกออกเป็นองค์กรอิสระ เพราะฉะนั้นผมยังเห็นว่า ทิศทางการเมืองไทยกำลังจะเข้าสู่ทางตัน ผมไม่คิดว่า การประกาศเว้นวรรคของนายกฯ ทักษิณจะทำให้กระบวนการปฏิรูปการเมืองที่ประชาชนต่อสู้เรียกร้องมานั้นล้มเหลว เงื่อนไขที่สำคัญ ก็คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปิดสภาไม่ได้ และในวิกฤตความศรัทธาของ กกต.และการมีคนโนโหวตมาก ทำให้ตัวการเมืองไทยอาจจะนำไปสู่สุญญากาศ และอาจจะต้องใช้ ม.7 ได้ เราต้องการนายกฯพระราชทาน เราต้องการรัฐบาลพระราชทาน เพื่อที่จะไปมีคณะกรรมการพิเศษในการร่าง รธน.เมื่อร่าง รธน.โดยประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางแล้ว เราจะเอา รธน.นั้นให้ประชาชนออกเสียงเป็นประชามติ เมื่อประชาชนออกเสียงเป็นประชามติแล้ว รธน.นั้นก็เชื่อว่า เป็น รธน.ของประชาชนอย่างแท้จริง เราต้องการอย่างนั้น และเราเชื่อว่า ปัญหาของระบบการเมืองไทยและการเมืองไทยมันไม่ได้จบลงที่แค่คุณทักษิณประกาศเว้นวรรค ประชาชนไทยจะต้องติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงการทำงานของ กกต.ที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ และการเปิดสภา ซึ่งไม่ครบองค์ ซึ่งอันนี้ถ้ามีการเปิดสภาถูลู่ถูกัง ก็แสดงว่า เราไม่ได้เคารพกติกาตาม รธน. เงื่อนไขตัวนี้มันก็จะนำไปสู่การใช้ ม.7 ได้เหมือนกัน

อ.เจริญ ยังทำนายอนาคตการเมืองไทยด้วยว่า ความไม่สงบสุขจะต้องเกิดขึ้นอีก หากพรรคไทยรักไทยพยายามเปิดสภาแบบ ศรีธนญชัย ทั้งที่ ส.ส.ไม่ครบ 500 หลังจากนั้นเผด็จการรัฐสภาก็จะเกิดขึ้น โดยไม่มีใครสามารถตรวจสอบรัฐบาลหรือสภาได้ ขณะที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็เป็นเพียงนอมินี ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ บริหารอยู่หลังฉาก ที่สุดแล้ว...ระบบที่เป็นอยู่ก็จะฝังรากลึกในสังคมไทยไปเรื่อยๆ จะมี ทักษิณน้อย เต็มไปหมดทั้งประเทศ ขณะเดียวกัน ก็จะมีประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องกันมากขึ้นทั่วทุกหัวระแหง นี่คือ ปรากฏการณ์ที่น่าสะพรึงกลัวที่จะเกิดขึ้นกับสังคมไทยในอนาคต หากไม่นำคนกลางจริงๆ มาปฏิรูปการเมือง!!

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์