สุรยุทธ์ชี้ทหารลุยการเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย

"สุรยุทธ์"ชี้ทหารลุยการเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย

 ยังคงมีการวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่มีข่าวว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) อาจลงสมัครรับเลือกตั้ง

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เปิดบ้านพิษณุโลก” ถึงเรื่องนี้ว่า คงไม่เข้าไปเกี่ยวข้องเพราะเป็นเรื่องสิทธิ อย่างที่ได้พูดไปแล้วว่า การเข้ามาทำงานการเมืองของ พล.อ.สนธิ หากตัดสินใจเข้ามาก็เป็นสิทธิของแต่ละบุคคล โดยเมื่อ พล.อ.สนธิ พ้นหน้าที่ไปแล้วก็เป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ส่วนตำแหน่งประธาน คมช.คิดว่าไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ พล.อ.สนธิ สามารถแก้ไขปัญหาได้ ถ้าลงมาทำงานการเมือง หรือลงเลือกตั้งจริงๆ

ต่อข้อถามว่า หาก พล.อ.สนธิ จะทำงานการเมืองจริง มองว่าต้องการปกป้องตัวเองหรือไม่ เพราะการเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงไม่สามารถตอบตรงนี้ได้ เพราะการวินิจฉัยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่างที่ตนพูดแล้วว่าเป็นสิทธิ

เมื่อถามย้ำว่า ภาพลักษณ์ของ พล.อ.สนธิ เป็นทหารมาตลอด ถ้าวันหนึ่งสวมหมวกทางการเมือง บุคลิก หรือลักษณะของ พล.อ.สนธิ จะพอเป็นไปได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยู่ที่ตัวของ พล.อ.สนธิ เอง เพราะการจะลงมาทำงานการเมือง คงไม่ได้เป็นเรื่องที่จะเปลี่ยนแปลงกันได้ง่ายๆ นัก และจากลักษณะการทำงานทางทหารและปรับมาทำงานทางการเมืองนั้น ต้องมีการเรียนรู้ ต้องปรับตัวกันพอสมควร คงไม่ได้เป็นเรื่องที่ง่ายนัก


ส.ส.ร.เปิดประตูการเมืองรับสนธิ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.สนธิ จะลงเล่นการเมืองจะเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 ได้ห้ามมิให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 35 คนลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. หรือ ส.ว.เป็นเวลา 2 ปี ไม่เกี่ยวกับ คมช. และเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญก็ไม่ถือว่า คมช.มีส่วนได้เสียในการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะหากตีความว่า คมช.เกี่ยวข้อง หรือมีส่วนได้เสีย ก็ต้องห้ามสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ให้เล่นการเมืองด้วย ดังนั้น การเหมารวม คมช.ไปด้วยถือว่าเป็นการตีความที่กว้างเกินไป

"หาก พล.อ.สนธิ จะเล่นการเมืองจริงๆ ก็ถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองไทย ที่สามารถจะลงคะแนนเลือกตั้ง หรือลงสมัครแข่งขันรับเลือกตั้งได้ ถ้าตีความโดยห้ามไม่ให้ประธาน คมช.ลง ก็เท่ากับว่าเป็นการตัดสิทธิทางการเมืองของพลเมือง ซึ่งไม่ถูกต้อง การตัดสินใจลงรับสมัครเลือกตั้งของ พล.อ.สนธิ น่าจะเป็นทางออกที่ดีของสังคมไทย เพราะถ้าไปคัดค้านไม่ให้ลงมาเล่นตามกติกา ก็เท่ากับว่าบังคับให้ คมช.ต้องถืออำนาจอยู่ต่อไป ก็จะกลายเป็นการสืบทอดอำนาจ ดังนั้น หากลงมาเลือกตั้งให้ประชาชนตัดสินจึงเป็นสิ่งที่ควรยอมรับ” รองประธาน ส.ส.ร. กล่าว


"อภิสิทธิ์"ลั่น"สนธิ"ไม่เข้าปชป.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมในเวทีเสวนา “รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กับสังคมไทยในอนาคต” ที่คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดขึ้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อร่วมกันให้ความรู้ประชาชนเป็นแนวทางในการตัดสินใจออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ โดยกล่าวตอนหนึ่งถึงปัญหาการสืบทอดอำนาจของ คมช. ว่า หาก พล.อ.สนธิ ตัดสินใจลงเล่นการเมือง ซึ่งอาจจะมีการตั้งพรรคการเมืองใหม่ หรือเป็นหัวหน้าพรรคชาติไทย และเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งอย่างถูกต้อง ก็ไม่ถือว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ และเชื่อว่าหาก พล.อ.สนธิ ตัดสินใจเล่นการเมืองคงจะไม่อยู่พรรคประชาธิปัตย์แน่นอน

"หากท่านมาเป็นนักการเมืองเต็มตัว ประชาชนจะบังคับให้ท่านแสดงจุดยืนของท่านเอง แต่ที่น่าห่วง ก็คือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ ซึ่งก็คือตัวอย่างของการสืบทอดอำนาจ เป็นการเอาอำนาจออกจากคนที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่ทุกส่วนจะต้องช่วยกันดู อย่างไรก็ตาม ข้อสงสัยที่ว่าเพราะอะไรที่อดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านจึงรีบเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นเพราะต้องการให้บ้านเมืองผ่านพ้นวิกฤติโดยเร็ว ประกอบกับมองในภาพรวมแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 50 นั้น ดีเพียงพอที่จะทำให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และขอให้ประชาชนตัดสินใจออกเสียงประชามติโดยใช้วิจารณญาณให้ดีที่สุด" นายอภิสิทธิ์ กล่าว


ชวนแนะอย่าสนข่าวสนธิจะเล่นการเมือง

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.สนธิ อาจลงเล่นการเมืองว่า ถือเป็นเรื่องส่วนตัว ยังไม่ทราบเรื่องนี้ชัดเจน แต่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันค่อนข้างมาก ทั้งนี้ พล.อ.สนธิ จะคิดลงเล่นการเมืองจริงหรือไม่ คงไม่มีใครทราบ ดังนั้น ขณะนี้ควรรอความแน่นอนจาก พล.อ.สนธิ ก่อน จะเหมาะสมกว่า

"ขณะนี้คิดว่าไม่มีใครรู้หรอกว่า พล.อ.สนธิ จะเล่นการเมืองหรือไม่ ดังนั้น อย่าไปให้ความสนใจจนกว่า พล.อ.สนธิ จะตัดสินใจ เมื่อถึงเวลาค่อยมาว่ากัน หากขณะนี้ไปให้ความสำคัญกับการตัดสินใจของคนมากเกินไปจะหาข้อยุติไม่ได้ และจะทำให้ไม่ได้เรื่องเท่าที่ควร" นายชวน กล่าว

นายพิภพ ธงไชย ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า ถ้า พล.อ.สนธิ ตัดสินใจลงการเมืองจะทำให้ภาพลักษณ์ของทหารทั้งหมดเสียหาย เพราะประชาชนจะสรุปว่าที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจมาก็เพื่อต้องการแสวงหาอำนาจทางการเมือง ถ้าคิดว่าสิ่งที่ตนเองทำถูกต้องก็ไม่จำเป็นต้องใช้ฐานการเมืองมาคุ้มครอง แต่ให้เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมตัดสิน คมช.ควรจะทำงานให้โปร่งใสตามหลักนิติธรรมแล้วลงจากอำนาจด้วยความสง่างามให้ประชาชนปรบมือให้ แล้วให้พลังประชาชนคุ้มครอง

"ผมเชื่อว่าขณะนี้ พล.อ.สนธิ ตกอยู่บนความลังเลและสับสน กลัวว่าหากหลุดจากตำแหน่ง ผบ.ทบ.แล้วจะถูกอำนาจเก่าตีโต้ เพราะตั้งแต่รัฐประหารยึดอำนาจมายังจัดการกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ และไม่สามารถควบคุมองคาพยพในการปกครองประเทศให้บรรลุเป้าของการยึดอำนาจทั้ง 4 ข้อ เรียกว่าเป็นเผด็จการที่ล้มเหลว จึงทำให้ไม่กล้าที่จะลงจากอำนาจกลางคัน ขณะที่ยังจัดการกับระบอบทักษิณไม่เด็ดขาด" นายพิภพ กล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์