ซิ่งรถบุกทบ. ไล่ล็อกชุลมุน

ซิ่งรถบุกทบ. ไล่ล็อกชุลมุน

หลังจากที่สภาร่างรัฐธรรมนูญมีมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเป็นเอกฉันท์ จากนี้ไปสำนักเลขาธิการสภาฯจะใช้เวลาในการจัดพิมพ์ร่าง 20 ล้านเล่มเป็นเวลา 14 วัน และใช้เวลาอีก 10 วัน ในการจัดส่งทางไปรษณีย์ โดยในวันที่ 31 ก.ค. จะเป็นวันเผยแพร่พร้อมกันทั่วประเทศ ก่อนที่จะลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 19 ส.ค.นั้น 

นายกฯหวั่นประชามติทำเลือกตั้งสะดุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 7 ก.ค. พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในรายการ “เปิดบ้านพิษณุโลก” ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ โดยมีนางศิริบูรณ์ ณัฐพันธ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ถึงปัญหาสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองว่า ในภาพรวมเราได้ผ่านขั้นตอนต่างๆ ที่จำเป็นมาพอสมควร เช่น การร่างรัฐธรรมนูญที่มีการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ จากสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไปแล้วเมื่อวันที่ 6 ก.ค. ทำให้นายกฯยิ้มได้ เมื่อถามว่าจะให้ความมั่นใจได้หรือไม่ว่า จะจัดการเลือกตั้งให้ทันปลายปีนี้ และจะมีปัจจัยอะไรที่ทำให้วันเลือกตั้งเลื่อนออกไปจากปลายปีนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า อย่างที่เคยเรียนว่าวันที่ 25 พ.ย. เป็นวันที่สามารถทำได้เร็วที่สุด ส่วนช่วงเวลาที่เหมาะคือวันที่ 16 หรือ 23 ธ.ค. 2550 เพราะหลังจากได้เฉลิมฉลองพิธีมหามงคล 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้ว ก็สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ ปัจจัยที่จะทำให้การเลือกตั้งช้าลง คือการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญว่าประชาชนจะยอมรับหรือไม่ เมื่อมีการลงประชามติแล้ว ขั้นตอนการดำเนินการต่อไปสามารถช่วยกันเร่งได้ เช่น กฎหมายลูกที่มีความจำเป็น สมัยที่เป็นวุฒิสมาชิก ก็เป็นคณะกรรมาธิการยกร่างกฎหมายลูก ในเรื่องคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็สามารถทำได้ในห้วงระยะเวลา 

เชื่อแก้ไขกฎหมายลูกเสร็จทัน 45 วัน 

เมื่อถามว่า ระยะเวลา 45 วันในการร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญจะทำได้ทันหรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า อันนี้เป็นการปรับปรุงแก้ไข คาดว่าสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ ไม่จำเป็นต้องใช้เวลามากนัก นั่นคือสิ่งที่นายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธาน ส.ส.ร. ให้ข้อมูลมา นอกจากนี้ ได้หารือนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในเรื่องการเตรียมการ การทำความเข้าใจ ซึ่งประธาน กกต.ก็บอกว่าดำเนินการได้ทัน ส่วน สนช.ก็ได้หารือกับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน สนช.ว่า กำหนดวันเลือกตั้งที่เหมาะสมคือวันที่ 16 หรือ 23 ธ.ค. รวมถึงประธาน คมช.ก็บอกว่า เป็นช่วงเวลาที่เหมาะที่สุด เมื่อถามว่า แสดงว่าต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าการทำประชามติต้องผ่านความเห็นชอบจากประชาชน ทุกอย่างจึงเป็นไปตามกระบวนการที่ว่ามา นายกฯตอบว่า ใช่ครับ เมื่อถามว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติจะทำอย่างไร พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ก็จะทำให้เกิดสะดุดขึ้นมา ในกรณีที่จำเป็นต้องนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับปรุงแก้ไข ซึ่งก็ใช้เวลา 

มั่นใจเลือกตั้งปลายปีนี้แน่นอน

เมื่อถามว่า มีตัวแทนคนทำงานอยู่ในใจด้วยไหม พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ถ้าจะพูดถึงเรื่องนี้แล้ว เป็นเรื่องที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ถ้าประชามติไม่ผ่านจึงไปเลือกรัฐธรรมนูญฉบับอื่นมาปรับปรุงแก้ไข เราไม่ทำงานข้ามขั้น อย่างไรก็ตาม คิดว่าการเลือกตั้งน่าจะทันตามกำหนด เพราะประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจสิ่งที่เราทำอยู่ในปัจจุบันนี้น่าจะสอดคล้องกับสภาวะความเป็นอยู่ สภาวะแวดล้อมทางการเมืองต่างๆ ฉะนั้น จะเป็นเรื่องที่ คิดว่าน่าจะเหมาะ เมื่อถามว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ จะหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดขึ้นมา เพื่อให้ทันการเลือกตั้งภายในปีนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ตรงนี้เป็นคำถามค่อนข้างใหญ่ แต่ด้วยความตั้งใจของตนก็พยายามให้ได้ภายในปีนี้ เพื่อให้เป็นไปตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และคำพูดที่ได้แถลงไว้ตั้งแต่เบื้องต้น เราต้องช่วยกัน เพราะไม่ใช่เรื่องที่ตนจะทำได้คนเดียว แต่เป็นเรื่องความร่วมมือจากประชาชนส่วนใหญ่ 

ปฏิเสธรัฐบาลทำฝนเทียมไล่ผู้ชุมนุม 

พล.อ.สุรยุทธ์ยังกล่าวถึงการแก้ปัญหาการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองต่างๆว่า เรามีหลักการอย่างเดียวคือ ขอให้ชุมนุมโดยไม่ผิดกฎหมาย ชุมนุมโดยสันติวิธีก็ทำได้ ไม่ต้องไปสกัดกั้น มีพื้นที่บางส่วนที่อาจจะเป็นเขตหวงห้ามเช่น ลานพระราชวังดุสิต หน้าบ้านประธานองคมนตรี ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจกันว่าบางส่วนคงจะขอไว้ เมื่อถามว่า นายกฯได้ทำฝนเทียมไล่ม็อบหรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ถ้าทำได้อย่างนั้นก็คงดี ถึงขนาดกำหนดสถานที่ เวลาได้จะดีมากเลย ถ้าเผื่อเป็นอย่างนี้ได้ เราคงจะขายแนวคิดเรื่องการทำฝนเทียมให้ประเทศอื่นได้อีกเยอะ ยืนยันว่าไม่ได้ทำฝนเทียม ไม่ได้ทำในลักษณะที่เป็นประโยชน์ทางการเมืองอย่างนี้ เราจะทำเพื่อประโยชน์เกษตรกร

วอนทุกคนหันหน้าเข้าหากันยุติศึก

เมื่อถามว่า จะมีวิธีอย่างไรทำให้ความคิดที่แตกแยกลดลง เพื่อให้บ้านเมืองกลับไปสู่ความสงบสุข พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันทำความเข้าใจในสังคมว่า เราจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาทางการเมืองกันอย่างไร คงต้องมองไปข้างหน้าว่าจะแก้ไขกันอย่างไร ถ้าย้อนกลับมาศึกษาเรื่องคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นแสดงให้เห็นว่า ในอดีตที่ผ่านมาเรามีข้อบกพร่อง มีความผิดพลาดอะไรบ้าง ถ้ามาศึกษาและหาทางปรับแก้กัน อนาคตจะดีขึ้นกว่าเดิม ถ้าเราทำอะไรโดยที่ไม่คำนึงถึงอนาคต หรือว่ามองเฉพาะปัจจุบันก็คงจะลำบากที่จะทะลุผ่านความขัดแย้งที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ได้

ให้ประชาชนร่วมมือแก้ปัญหาทุจริต

เมื่อถามว่า ประชาชนสงสัยว่านายกฯจะจัดการปัญหาทุจริตคอรัปชันให้เกิดเป็นรูปธรรมได้อย่างไร พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า คงไม่ได้เป็นปัญหาของรัฐบาล แต่เป็นปัญหาของประชาชนที่ต้องช่วยกัน รัฐบาลเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะพยายามขายความคิดในเรื่องเหล่านี้ว่าควรทำกันอย่างไร โดยพูดถึงการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ตั้งแต่การดูแลตัวเอง ครอบครัว สังคม บ้านเมือง ซึ่งเป็นส่วนที่จะทำให้เรายืนอยู่บนหลักที่มองเห็นว่าอะไรที่ถูก อะไรที่ควรทำ มีเหตุมีผล จะหวังให้รัฐบาลแก้อย่างเดียวคงไม่ได้ เรื่องกระบวนการยุติธรรมเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเป็นธรรม เมื่อมีความเป็นธรรมแล้วจะสามารถดำเนินการในส่วนต่างๆได้ง่ายขึ้น ความเป็นธรรมที่ว่านี้ แม้แต่ในวงธุรกิจเองก็ต้องมีธรรมาภิบาลที่เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นธรรม 

กล่อม “ทักษิณ” กลับมาสู้คดีเมืองไทย

พล.อ.สุรยุทธ์ยังกล่าวถึงกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ ว่ายังกลับมาเมืองไทยไม่ได้ เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐบาลและกระบวนการยุติธรรมว่า ในแง่ของรัฐบาลแล้วไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวเลย ปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลในภาพรวมๆเท่านั้น ในการดำเนินการต่างๆรัฐบาลไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวเลย ทุกอย่างไปตามกระบวนการ รวมถึงในส่วนตุลาการรัฐธรรมนูญทั้ง 9 ท่าน ก็ผ่านการคัดกรองกันมาตามกระบวนการของตุลาการ หากจะบอกว่าไม่เป็นธรรมคิดว่าคงไม่ใช่ เมื่อถามว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวว่าธงของ คมช.คือ หาก พ.ต.ท.ทักษิณกลับประเทศต้องติดคุก พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า เรื่องข่าวลือนี้ลำบากที่จะไปห้าม เพราะคนมักพูดกันว่าธงเป็นอย่างนี้ ฟันธงเลยอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องของการพูดคุย แต่การดำเนินการเป็นเรื่องของรูปคดี เรื่องการสอบสวน พยานหลักฐาน หากมาต่อสู้กันตามกระบวนการยุติธรรมจะเป็นประโยชน์ที่จะทำให้เห็นชัดเจนว่ามีอะไรบ้าง เมื่อถามว่า นายกฯอยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาสู้คดีไหม พล.อ. สุรยุทธ์ตอบว่า คิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณควรกลับมาสู้คดี แต่จะเป็นเวลาไหน ตนไม่ได้กำหนด เพราะพูดมาตลอดว่า ถ้าศาลพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเหมาะสมเมื่อใด รัฐบาลในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารก็พร้อมให้การดูแลความปลอดภัย พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัว

มั่นใจรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติ 

เที่ยงวันเดียวกัน ที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) พล.อ.สุรยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการล้มร่างรัฐธรรมนูญว่า เรื่องนี้รัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะดำเนินการ เพราะเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายทำร่วมกัน ทั้ง ส.ส.ร.และ กกต. รวมถึงทุกภาคส่วนที่จะช่วยกันชี้แจงทำความเข้าใจให้ประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านความเห็นชอบของ ส.ส.ร.ไปแล้ว คงไม่มีปัญหา แต่แน่นอนว่า บางส่วนอาจไม่เห็นด้วย ก็เป็นเรื่องธรรมดา ผู้สื่อข่าวถามว่า ห่วงหรือไม่ว่าประชาชนจะเบื่อไม่ไปลงประชามติ เพราะขณะที่รัฐบาลรณรงค์ประชาสัมพันธ์ แต่ยังมีขบวนการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญออกมาเคลื่อนไหว พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า คิดว่าประชาชนเข้าใจ ตนไปต่างจังหวัดมาหลายครั้งก็คิดว่าประชาชนเข้าใจว่าทุกคนควรไปใช้สิทธิอย่างไร ส่วนใหญ่อยากเห็นการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปลายปีนี้ เมื่อถามว่าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประชาชนอาจมีส่วนในการลงประชามติไม่ทั่วถึง จะดำเนินการอย่างไร นายกรัฐมนตรีตอบว่า สัปดาห์หน้าจะลงพื้นที่ คงได้ทำความเข้าใจกับข้าราชการต่างๆในพื้นที่ คิดว่าเราได้เตรียมการทำความเข้าใจ เรามีสื่อหลายประเภทที่สามารถทำความเข้าใจเป็นภาษาท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ เราก็ใช้ โอกาสเหล่านี้ทำความเข้าใจกับประชาชน เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าในช่วงเวลาที่เหลืออยู่จะทำความเข้าใจได้ 

“บุญรอด” กำชับ ผวจ.ชี้แจงร่าง รธน.

พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม กล่าวหลัง พบปะประชาชนใน จ.อุบลราชธานี และอำนาจเจริญว่า ได้ให้นโยบายกับทางจังหวัดให้ไปอธิบายให้ประชาชนเข้าใจถึงร่างรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง เพื่อจะได้ใช้วิจารณญาณในการลงประชามติและการเลือกตั้ง โดยบอกว่ารัฐธรรมนูญปี 50 ปรับปรุงแก้ไขขจัดข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญปี 40 ที่ทำให้คนไม่ดีเข้ามาปกครองในบ้านเมือง และมีปัญหา เพื่อเขาจะได้ใช้วิจารณญาณในการรับร่างรัฐธรรมนูญ และไปใช้สิทธิเลือกตั้งพิจารณาเลือกคนดีเข้า สภา เป็นคนที่มีคุณธรรม จะได้ไม่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ล่มจมเหมือนที่ผ่านมา เท่าที่ไปพบผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งสองจังหวัดมีเสียงตอบรับดี ได้ลงไปในพื้นที่ ปรากฏว่าแกนนำชาวบ้านในตำบลต่างๆได้บอกว่า ขณะนี้ได้เตรียม อบรมและชี้แจงประชาชนให้เข้าใจ เพื่อที่จะให้ประชาชนลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งชาวบ้านก็บอกว่า จะเลือกคนดีเข้าสภาฯ ถือว่าเราได้เดินทางมาได้ครึ่งทางแล้ว และถ้าไปถึงวันที่ 19 ส.ค. ก็จะถึงสามในสี่ก็เหลือเพียงหนึ่งส่วนสี่ เราก็จะบรรลุเป้าหมาย และเมื่อถึงจุดนี้เชื่อมั่นว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติ  

มีคนกำลังบ่อนทำลายประชาธิปไตย 

เมื่อถามว่า มีบางกลุ่มที่พยายามจะคว่ำรัฐธรรมนูญ โดยมีการจ้างประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ.บุญรอดตอบว่า ก็เป็นความพยายามของเขาที่จะขัดขวางและ สร้างความวุ่นวาย ตั้งแต่ต้นมาจนถึงปัจจุบัน และเขาก็จะดำเนินการต่อไปจนกระทั่งถึงช่วงสุดท้ายเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลงประชามติ หรือการเลือกตั้งที่จะตามมา เมื่อถามว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้จะดำเนินการอย่างไร เพราะเป็นผู้ที่บ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย พล.อ.บุญรอดกล่าวว่า เรื่องนี้ทุกสิ่งทุกอย่างเขาเคลื่อนไหว และไม่ผิดกฎหมายก็มีสิทธิ์ที่จะเคลื่อนไหว เพราะจุดสุดท้ายคนที่ตัดสินคือประชาชน อย่างเรื่องการลงประชามติ ประชาชนส่วนใหญ่จะเป็นคนตัดสิน แน่นอนจะมีคนร่วมจัดตั้งขึ้นมาจะสนับสนุนฝ่ายตรงข้าม ก็คงจะได้มาในบางส่วน แต่เชื่อ ว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นพลังเงียบในส่วนกลางจะสนับสนุนให้ผ่านการลงประชามติ เมื่อถามว่า ประชาชนอยากให้มีการเลือกตั้งมากกว่าใช่หรือไม่ พล.อ.บุญรอดตอบว่า ใช่ ประชาชนคอย และก็หวังเป็นอย่างยิ่ง เขาก็ รู้สึกอึดอัดและรำคาญสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะอยาก ให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยเสียที และยิ่งรัฐบาลและ คมช. พยายามที่จะให้มีการเลือกตั้ง มีความชัดเจนในการกำหนด วันเลือกตั้ง โดยเลื่อนจากเดือน ธ.ค.มาเป็นเดือน พ.ย. ทุกฝ่ายก็พยายามทำงานให้มาสู่จุดนั้น  

ระบุชัดเป็นฝีมือพวกกลุ่มอำนาจเก่า 

เมื่อถามว่า ได้ประเมินหรือไม่ว่ากลุ่มที่ออกมาคว่ำบาตรมีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ พล.อ.บุญรอดตอบว่า เท่าที่ไปต่างจังหวัดและได้รับฟังกลุ่มที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคอีสาน ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และ ที่มีการรายงานว่า มีจำนวนผู้คัดค้านเป็นหมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นหัวคะแนนไปเกณฑ์คนมา เมื่อถามว่า ขณะนี้มีความเป็นห่วงอะไรที่สุด พล.อ.บุญรอดตอบว่า ก็ไม่เป็นห่วง หมายถึงว่า ถ้ารอบนอกไม่เป็นห่วง แต่ว่าสถานการณ์ใน กทม. ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันไม่เห็นจะมีสิ่งบอกเหตุว่า นำไปสู่ความรุนแรงในอนาคต ตราบใดที่ยังไม่เกิดความรุนแรง คิดว่าเป็นธรรมดาที่มีการเคลื่อนไหวเชิงการเมือง ทั้งการประท้วงหรืออะไรต่างๆ สุดท้ายก็ถึงเวลาลงประชามติ ก็ต้องผ่านไป หลังจากนั้นเป็นเรื่องของกฎหมายพรรค การเมือง และหลังจากนั้นก็เป็นการเลือกตั้ง คิดว่าเขาคงจะวางแผนสู้กันเป็นระยะๆ ซึ่งระยะนี้เป็นเรื่องการคว่ำ รัฐธรรมนูญ พอระยะหนึ่งเมื่อมีการเลือกตั้งแล้วก็พยายามสู้กันเรื่องเลือกตั้งอีก เมื่อถามว่า เป็นกลุ่มอำนาจเก่าใช่หรือไม่ พล.อ.บุญรอดตอบว่า ก็นั่นนะซิ กลุ่มอำนาจ เก่าเขาก็อย่างนี้ ตอนนี้เขาอยู่เบื้องหลังของการเคลื่อนไหวทั้งปวง แต่พอมาถึงจุดสุดท้ายแล้ว อย่างน้อยที่สุดเขาก็ต้องส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง 

กกต.เชื่อคนเข้าใจสาระสำคัญ รธน.

นางสดศรี สัตยธรรม กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ส.ส.ร.ต้องจัดส่งร่างรัฐธรรมนูญ 2550 จำนวน 20 ล้านฉบับ ไปให้ประชาชนทุกครัวเรือนก่อนที่จะลงประชามติในวันที่ 19 ส.ค.นี้ 10 วัน โดยการเผยแพร่จะสร้างความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแก่ประชาชน ซึ่งการจัดวันออกเสียงประชามติ เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ เชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจส่วนสำคัญของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ กกต.มีหน้าที่เพียงการรณรงค์ให้ประชาชนไปออกเสียงประชามติเท่านั้น ส่วนการใช้สิทธิเป็นของประชาชน หากติดภารกิจไม่สามารถไปลงประชามติได้ ก็ไม่ถือว่าขาดสิทธิ และหลังลงประชามติหากมีการรับร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลง พระปรมาภิไธย   และออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งต่อไป 

มท.1 ขู่ถ้าไม่รับร่างเลือกตั้งมีปัญหา

นายอารีย์ วงศ์อารยะ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการดำเนินการของกระทรวงมหาดไทย ในการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน หลัง ส.ส.ร.มีมติรับร่างรัฐธรรมนูญว่า กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ในการให้การสนับสนุน โดยมีโครงการพัฒนาพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องการเลือกตั้ง การหาคนดีมาเป็นผู้แทน ขณะเดียวกันก็แทรกความรู้เรื่องการลงประชามติไปด้วย เพราะ ส.ส.ร.ได้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว ก็เป็นภาระของเราในการทำความเข้าใจกับประชาชนให้เข้าใจว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้รับการรับรองจาก ส.ส.ร.ถึง 98 เสียงเป็นเอกฉันท์ แสดงให้เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นร่างที่มีความหมาย ไม่มีการคัดค้านใดๆทั้งสิ้น และประชาชนก็รับทราบขั้นตอนการร่างมาตลอด ดังนั้นต้องให้ประชาชนเข้าใจว่า จะต้องทำความเข้าใจในตัวร่างและควรรับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เช่นนั้นปัญหาในเรื่องการเลือกตั้งก็จะเป็นปัญหาต่อไป  

ประกาศกร้าวไม่กลัวกระแสต้าน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ห่วงกระแสคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้หรือไม่ นายอารีย์ตอบว่า เราไม่แคร์ ไม่กลัวกระแส มันเป็นความคิดของแต่ละบุคคล ใครที่จะไม่เห็นด้วยหรือไปแสดงอย่างไรก็เป็นสิทธิ แต่เราต้องอยากเห็นร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้รับการรับรองจากประชาชน เพื่อที่จะให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ถ้าเลือกตั้งเร็วจะมีรัฐบาลโดยเร็ว ซึ่งจะเป็นรัฐบาลที่ประชาชนต้องการ หากไปขัดขวางหรือสร้างปัญหา ก็จะทำให้เกิดความล่าช้าในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลต่อไปอีก ซึ่งในความเห็นของตนคิดว่าไม่ถูกต้อง ควรเริ่มไปก่อน และหากประชาชนพอใจนโยบายพรรคใดก็เลือกเข้ามา ไม่ควรไปกีดขวาง ทำให้ เสียหายเปล่าๆ เมื่อถามว่า สามารถดำเนินคดีกับฝ่ายที่ออกมาขัดขวางประชามติได้หรือไม่ นายอารีย์ตอบว่า ไม่ มันเป็นสิทธิของเขา ขออย่างเดียวว่า การไปใช้สิทธิในทางลบไม่เห็นด้วย ก็อย่าไปทำให้เกิดปัญหาทางข้อกฎหมาย อย่าไปขัดขวาง เช่น คนอยากไปลงคะแนนเสียงแล้วไปกีดขวางไม่ให้ไป อย่างนี้ผิดกฎหมายก็ต้องว่าไปตามกฎหมาย

ผวจ.บุรีรัมย์ดึงประชาชนลงประชามติ 

นายสันทัด จตุชัย ผวจ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า จ.บุรีรัมย์ ได้กำหนดแนวทางการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ และการออกเสียงประชามติ โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระดับจังหวัด อำเภอและกิ่งอำเภอ เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนและพัฒนาประชาธิปไตย และการส่งเสริมให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพตามหน้าที่ของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขั้นตอนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีการกำหนดขึ้นกลางเดือน ส.ค.นี้ โดยเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่จะมีส่วนร่วมสนับสนุนรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ออกไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติด้วยความสมัครใจ อย่างพร้อมเพรียงกันให้มากที่สุด ทำให้เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีความชอบธรรมโดยเสียงของคนส่วนใหญ่ ซึ่งทางจังหวัดไม่ได้คำนึงถึงผลการออกเสียงประชามติว่าเป็นอย่างไร แต่เพื่อให้ประชาชนลงประชามติได้รับรู้ถึงความสำคัญของเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ และวิธีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญอย่างถูกต้อง 

ประชาธิปัตย์เตรียมถกรับร่าง รธน. 

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่สภาร่างรัฐธรรมนูญมีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 แล้วว่า ในวันที่ 9 ก.ค.นี้ เวลา 11.00 น. ที่ร้านช้อนเงินช้อนทอง หัวหน้าพรรคพร้อมแกนนำของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน จะนัดหารือเรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 ส.ค.นี้ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในด้านเนื้อหาสาระในรัฐธรรมนูญ และท่าทีของพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค ต่อเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญและการทำประชามติว่าจะรับหรือไม่ นอกจากนี้จะมีการหารือเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เนื่องจากในวันที่ 11 ก.ค. ทาง กกต.ได้เชิญหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ ไปประชุมสัมมนาร่วมกับ กกต. ถึงเรื่องดังกล่าวด้วย ประเด็นสำคัญที่จะได้พูดคุยคือเรื่องการแก้ไขปัญหาสมาชิกซ้ำซ้อนของพรรคการเมือง และการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ส่วนท่าทีของพรรคต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น ในวันที่ 8 ก.ค. เวลา 09.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ได้นัดประชุมคณะทำงานด้านรัฐธรรมนูญ เพื่อหารือถึงข้อเด่น ข้อด้อย ก่อนกำหนดจุดยืนของพรรคต่อไป แต่เท่าที่อ่านภาพรวมทั้งฉบับรับได้

เรียกร้องให้เปิดช่องวิพากษ์วิจารณ์ได้

นายองอาจกล่าวว่า ส่วนการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ถือเป็นสิทธิของประชาชน แต่ไม่อยากเห็นกลุ่มการเมืองหรือคณะบุคคลใดใช้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไปหาประโยชน์แอบแฝง และรัฐบาลควรเปิดช่องให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน อีกทั้งรัฐบาล ส.ส.ร. และ กกต.ควรใช้ช่องทางการสื่อสารที่มีอยู่ไปถึงประชาชนให้มากที่สุด และควรให้สถาบันการศึกษาทุกระดับเข้ามามีส่วนร่วมในการเผยแพร่ความเข้าใจในรัฐธรรมนูญ ส่วนขั้นตอนการลงประชามตินั้นขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์เป็นกังวลในขั้นตอนการทำประชามติ เพราะร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กำหนดโทษรุนแรงเกินไป ขอฝากให้ ส.ส.ร.พิจารณาปรับแก้ในขั้นการแปรญัตติด้วย และขอเสนอให้มีการเลื่อนวันการขอใช้สิทธิลงประชามตินอกภูมิลำเนา จากเดิมที่กำหนดไว้ระหว่างวันที่ 10-19 ก.ค. ออกไปเป็นสิ้นเดือน ก.ค. แทน หรือเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่นอกภูมิลำเนาสามารถใช้สิทธิ์นอกเขตได้

ปัดทาบทาม “สนธิ” เข้าร่วมพรรค

เมื่อถามว่า  พรรคเคยพูดคุยกับ พล.อ.สนธิเกี่ยวกับ อนาคตหลังเกษียณอายุราชการหรือไม่ เพราะ พล.อ.สนธิมีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ในเรื่องการเมือง นายองอาจตอบว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้พูดคุยหรือมีปฏิสัมพันธ์ใดๆกับ พล.อ.สนธิ และขึ้นอยู่กับ พล.อ.สนธิว่าจะตัดสินใจอย่างไร เป็นสิทธิที่ท่านอยากจะแสดงความชัดเจนตอนไหน พรรคคงไม่สามารถไปชี้นำได้ อย่างไรก็ตาม ถ้า พล.อ.สนธิลงเล่นการเมืองท่านก็ไม่มีสิทธิไปกุมอำนาจใดๆ เพราะถือเป็นประชาชนคนหนึ่ง จึงไม่น่ามีผลอะไร และเหมือนกับอดีตนายทหารหลายคนที่โดดเข้ามาเล่นการเมืองในรูปแบบต่างๆ ส่วนกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเว็บไซต์ข้ามทวีปเพื่อชี้แจงในเรื่องการทุจริตคอรัปชันนั้น เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ต้องไปตื่นเต้นอะไร ถือเป็นเรื่องดีที่จะได้ฟังว่า พ.ต.ท.ทักษิณอยากจะพูดหรือคิดอะไรกับประเทศชาติบ้านเมือง แทนที่จะพูดผ่านคนนั้นคนนี้ ซึ่งอาจจะผิดบ้างถูกบ้าง ตรงบ้างไม่ตรงบ้าง 

เตรียมจัดเสวนาชำแหละเนื้อหา รธน.

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในกรณีที่สภาร่างรัฐธรรมนูญลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถือเป็นก้าวสำคัญของการฟื้นฟูประชาธิปไตย แต่ยังต้องรอผลการลงประชามติวันที่ 19 ส.ค. ดูมีแนวโน้มดีขึ้นหลังจากองค์กรชาวพุทธประกาศไม่รณรงค์โนโหวตรัฐธรรมนูญ ต้องแสดงความชื่นชมต่อท่าทีล่าสุดขององค์กรชาวพุทธ ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ต่อเรื่องรัฐธรรมนูญนั้น ได้มีนโยบายให้สาขาพรรคและอดีต ส.ส.ของพรรคจัดกิจกรรมเสวนารัฐธรรมนูญ โดยจะไม่มีการชี้นำแต่อย่างใด เพราะเคารพในดุลยพินิจของประชาชน และเป็นภารกิจของพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่จะต้องช่วยกันส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความเข้าใจในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญประกอบการพิจารณาลงประชามติ 

“จาตุรนต์” จวก พ.ร.บ.ประชามติมัดมือชก

 นายจาตุรนต์ ฉายแสง หัวหน้ากลุ่มไทยรักไทย กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการออกบทลงโทษทั้งผู้ สนับสนุนและคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ ลงในร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ...เพราะถือเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนในการแสดงออกทางความคิดเห็น เป็นความพยายามที่จะมัดมือชกให้ประชาชนสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่มีประเทศไหนทำเช่นนี้ โดยขณะนี้ผู้มีอำนาจได้สั่งให้ข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการทหาร ออกไปข่มขู่และบีบบังคับให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า ใครไม่เห็นด้วยเท่ากับเป็นพวกคิดทำลายชาติ เราอยากขอร้องให้ คมช. หยุดพฤติกรรมเช่นนี้เสีย 

“สิ่งที่ควรกำหนดลงใน พ.ร.บ.ประชามติ คือ กำหนดให้ข้าราชการวางตัวเป็นกลาง ไม่ใช้อำนาจหน้าที่ในทางให้คุณให้โทษแก่ประชาชน เพื่อบีบบังคับให้ไปลงประชามติในทางหนึ่งทางใด นอกจากนี้ ควรเปิดโอกาสให้พรรคการเมือง นักวิชาการ และสื่อมวลชนมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่” นายจาตุรนต์กล่าว 

เห็นโฉมหน้าผู้บริหารใหม่ 11 ก.ค.

นายจาตุรนต์กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มไทยรักไทยถูกมองว่ากำลังประสบปัญหาเรื่องความเป็นเอกภาพหลังกลุ่มการเมืองต่างๆพยายามเข้ามามีบทบาทอีกครั้ง ว่า การออกมาผนึกกำลังของทุกฝ่ายที่พร้อมร่วมอุดมการณ์ กับกลุ่มไทยรักไทยถือเป็นเรื่องที่ควรทำ ขณะนี้สิ่งที่จำเป็นคือการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ พร้อมทั้งสร้างกระแสการยอมรับจากประชาชน คณะทำงานบริหารจัดการกลุ่มไทยรักไทยได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 4 ก.ค. ให้ แต่งตั้งคณะทำงานเตรียมการสร้างแกนนำชุดใหม่ โดยมีนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นประธาน เนื่องจากนายสมพงษ์เป็นแกนนำที่ไม่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ก็ร่วมในคณะดังกล่าวด้วย โดยกำลังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับหลายฝ่าย เพื่อหาแกนนำใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทนแกนนำหน้าเก่า คาดว่าจะเห็นโฉมหน้าคณะทำงานบริหารจัดการกลุ่มไทยรักไทยชุดใหม่ ในวันที่ 11 ก.ค. ส่วนคณะทำงานบริหารจัดการกลุ่มไทยรักไทย 23 คน ที่เพิ่งตั้งขึ้นมาล่าสุดนั้น ก็จะถอยออกไปเป็นพี่เลี้ยง หรือเป็นที่ปรึกษาต่อไป 

เตือนแกนนำเก่าไม่ควรยุ่งเกี่ยวชักใย

นายจาตุรนต์กล่าวว่า ที่มีข่าวก่อนหน้านี้ว่าแกนนำชุดเก่าจะทำหน้าที่ในช่วงเปลี่ยนผ่านราว 1-2 เดือนนั้น ส่วนตัวคิดว่าควรร่นเวลาเข้ามาให้เร็วขึ้นอีก ต้องรีบส่งไม้ต่อให้แกนนำใหม่เร็วที่สุด เพื่อให้เกิดความพร้อมต่อการจัดตั้งพรรคใหม่ ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดจึงไม่เปิดโอกาสให้อดีต ส.ส. และผู้สมัคร เข้ามามีส่วนพิจารณาเลือกคณะทำงานบริหารจัดการกลุ่มชุดใหม่ด้วย นายจาตุรนต์ตอบว่า นายสมพงษ์ถือเป็นผู้มีอาวุโสสูงสุด จึงเหมาะจะเป็นโต้โผหลักในการระดมพล เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าแกนนำเก่าจะพยายามดันเด็กของตัวเองเข้าไปเป็นแกนนำใหม่เพื่อรักษาบทบาทภายในพรรค และคอยชักใยอยู่เบื้องหลัง นายจาตุรนต์ตอบว่า แกนนำเก่าไม่ควรเข้าไปกำหนดอะไรอีกต่อไปแล้ว ที่ผ่านมาก็พูดตลอดว่า พวกเราจะช่วยประคับประคองพรรคในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งไม่สามารถไปกำหนดอะไรได้แล้ว เพราะแม้แต่การจดทะเบียนจัดตั้งพรรคก็ยังไม่สามารถทำได้ ดังนั้น ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแกนนำใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการก่อตั้งพรรค หาสมาชิก หาหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค รวมไปถึงการแต่งตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เมื่อถามว่า คณะทำงานบริหารจัดการกลุ่มไทยรักไทยชุดใหม่ มีสิทธิคว่ำแถลงการณ์ 6 ข้อ ของกลุ่มไทยรักไทย เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่รณรงค์ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ นายจาตุรนต์ตอบว่า ก็ได้ก็ว่ากันไป แต่สุดท้ายทุกอย่างจะมีผลก็ต่อเมื่อเราสามารถจัดตั้งพรรคการเมืองได้ มีผู้บริหารพรรคชุดใหม่เข้ามาจัดการประชุมพรรค ก็แล้วแต่ที่ประชุมจะคุยกันว่าจะมีมติอย่างไร จะยืนยันตามเดิมหรือไม่ 

แม่ทัพ 3 ปัดข่าวอุ้มแกนนำผู้ชุมนุม

ด้าน พล.ท.จิรเดช คชรัตน์ แม่ทัพกองทัพภาคที่ 3 กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนำกลุ่มพลเมืองภิวัตน์ และกรรมการแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) บริเวณสถานีขนส่งเชียงราย เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังเปิดเวทีปราศรัยตามยุทธศาสตร์ “ดาวกระจาย” เพื่อเรียกร้องให้ คมช.ให้ลาออกว่า เป็นการเชิญมาเพื่อถามว่าใครจ้างมาเท่านั้น แต่ที่ไม่ให้เข้าเยี่ยม เพราะเพียงแต่เรียกตัวมาสอบถาม จึงไม่ได้เปิดให้เข้าเยี่ยม เนื่องจากไม่ใช่การควบคุมตัว 

นปก.บุก บก.ทบ.ปะทะกันเล็กน้อย

ทางด้านการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ที่มี นพ.เหวง โตจิราการ เป็นแกนนำ ได้นัดชุมนุมที่หน้ากองบัญชาการทหารบก (บก.ทบ.) เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ คมช. เลิกปิดกั้นข่าวสารทางสื่อ และปล่อยตัวนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ที่ถูกทหารจับกุมที่ จ.เชียงราย โดยระหว่างที่ นพ.เหวงกำลังติดต่อนายทหารชั้นผู้ใหญ่ให้มารับหนังสือ นายสุชาติ นาคบางไทร แกนนำกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ได้ขับรถกระบะทะเบียน ศศ 167 สีฟ้า วิ่งเข้าภายใน บก.ทบ.พร้อมจอดรถขวางประตู ก่อนจะปีนขึ้นหลังคารถเรียกร้องให้ทหารปล่อยตัวนายสมบัติ พร้อมกล่าวหาว่า ทหารเป็นเผด็จการรังแกประชาชน ทำให้ทหารต้องตัดสินใจปิดประตูรั้ว และนำตัวนายสุชาติลงมา ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารกับม็อบ ได้รับบาดเจ็บคนละเล็กคนละน้อย ก่อนท

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์