โพลเทคะแนน สมคิด นั่งนายกฯ แทน แม้ว

โพลเทคะแนน สมคิด นั่งนายกฯ แทน แม้ว

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 6 เมษายน 2549 12:01 น.

เอแบคโพลล์เผยผลสำรวจผู้บริหาร-ผู้ประกอบการทั่วประเทศ พบร้อยละ 71.8 เห็นด้วยกับการตัดสินใจเว้นวรรคของ ทักษิณ เหตุจะทำให้สถานการณ์การเมืองคลี่คลายลงและไม่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ เผยร้อยละ 57.4 เห็นควรให้ สมคิดรับเก้าอี้นายกฯ รองลงมาคือ โภคิน ร้อยละ 11.8 และ พงศ์เทพ ร้อยละ 9.2

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ผู้ประกอบการธุรกิจคิดอย่างไรต่อการลงทุนในอีก 6 เดือนข้างหน้าและบุคคลที่ควรมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป:กรณีศึกษาผู้บริหาร/ผู้ประกอบการของสถานประกอบการทั่วประเทศ ในครั้งนี้ได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้บริหาร/ผู้ประกอบการของสถานประกอบการธุรกิจทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,055 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการสำรวจในวันที่ 5 เมษายน 2549 ประเด็นสำคัญที่ค้นพบจากการสำรวจในครั้งนี้ เป็นดังนี้

ผลการสำรวจความคิดเห็นของตัวอย่างต่อการติดตามข่าวการประกาศไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 95.3 ได้ติดตามข่าวดังกล่าว ทั้งนี้เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นของตัวอย่างต่อการประกาศไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนั้นพบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.8 เห็นด้วยกับการตัดสินใจของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ที่ประกาศไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลว่าเพราะจะทำให้สถานการณ์การเมืองคลี่คลายลง/ไม่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างร้อยละ 14.3 ระบุไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า เพราะเกิดความไม่แน่นอนว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่จะสานต่อนโยบายเศรษฐกิจเดิมหรือไม่ /อาจจะไม่ได้นายกรัฐมนตรีที่มีวิสัยทัศน์เหมือน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นต้น ทั้งนี้ ตัวอย่างร้อยละ 13.9 ไม่ระบุความคิดเห็น

และเมื่อสอบถามตัวอย่างถึงกรณีที่ปัญหาทางการเมืองส่งผลกระทบต่อธุรกิจในทางลบหรือไม่นั้น พบว่า ตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 52.6 ระบุว่าส่งผลกระทบในทางลบ และร้อยละ 47.4 ระบุว่าไม่ส่งผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามตัวอย่างถึงความเชื่อมั่นต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศว่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง หลังจากที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น พบว่า ตัวอย่างเกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 37.8 ระบุว่ามีความเชื่อมั่นเท่าเดิม ในขณะที่ร้อยละ 31.1 มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น และร้อยละ 31.1 เช่นกัน ที่มีความเชื่อมั่นลดลง

สำหรับความคิดเห็นต่อกรณีที่ว่า หลังจากการประกาศไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร จะส่งผลต่อกิจการธุรกิจอย่างไร ในแต่ละด้าน เป็นดังนี้

1. ด้านการลงทุนในอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 26.0 จะลงทุนเพิ่ม โดยได้ระบุเหตุผลว่า สถานการณ์การเมืองยังเอื้ออำนวยให้ประชาชนใช้จ่ายมากขึ้น / ความต้องการสินค้าในตลาดเพิ่มมากขึ้น / คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 29.6 ระบุจะไม่ลงทุนเพิ่ม เพราะทิศทางการเมืองยังไม่ชัดเจน / ไม่มีตลาดให้ลงทุน / รอดูการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ตัวอย่างเกินกว่า 1 ใน 3 คือร้อยละ 44.4 ระบุไม่แน่ใจ เพราะ เหตุการณ์ยังไม่ปกติ /ยังไม่มีความชัดเจนพอ/ยังไม่เห็นทิศทางนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลใหม่ เป็นต้น

2. ด้านการตลาดในอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่า ตัวอย่างเกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 35.6 มีโอกาสเติบโตมากขึ้น เพราะ สถานการณ์การเมืองยังเอื้ออำนวยให้ประชาชนใช้จ่ายมากขึ้น / มีความเชื่อมั่นมากขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 22.1 ระบุไม่แตกต่าง เพราะยังมีการแข่งขันสูงเหมือนเดิม / ไม่ได้รับผลกระทบจากการเมือง / ตลาดเริ่มอิ่มตัว อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างร้อยละ 18.6 ระบุมีโอกาสเติบโตน้อยลง เพราะวัตถุดิบราคาแพงขึ้น / มีการเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง / ไม่มีความแน่นอนทางการเมือง และร้อยละ 23.7 ระบุไม่แน่ใจ เพราะ รอดูสถานการณ์การเมือง / ยังไม่ทราบว่าใครจะมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

3. ด้านความเสมอภาคทางธุรกิจอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 21.5 ระบุว่ามีความเสมอภาคมากขึ้น เพราะมีความโปร่งใสมากขึ้น / อำนาจทางการเมืองลดลง มีระบบพวกพ้องลดน้อยลง ในขณะที่ร้อยละ 27.9 ระบุไม่แตกต่าง เพราะไม่มีผลกระทบจากการเมือง / ไม่มีความเสมอภาคอยู่แล้ว / มีการใช้ระบบเส้นสาย อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างร้อยละ 12.7 ระบุมีความเสมอภาคน้อยลง เพราะการควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่เพียงพอ ทั้งนี้ร้อยละ 37.9 ระบุยังไม่แน่ใจ เพราะ ยังไม่ทราบว่าใครจะมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี / สถานการณ์การเมืองยังไม่ชัดเจน

4. ด้านการตอบแทนทางธุรกิจอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 25.9 คาดว่าจะมีกำไรมากขึ้น ร้อยละ 23.1 ระบุว่ามีกำไรเท่าเดิม ร้อยละ 21.1 ระบุว่าลดลง และร้อยละ 29.9 ระบุว่าไม่แน่ใจ

เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามตัวอย่างต่อไปถึงบุคคลที่เหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 5 อันดับแรก ได้แก่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (ร้อยละ 57.4) รองลงมาคือ นายโภคิน พลกุล (ร้อยละ 11.8) และ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา (ร้อยละ 9.2) ตามลำดับ

ดร.นพดล กล่าวว่า ผู้ประกอบการธุรกิจส่วนมากยังคงไม่แน่ใจหรือลังเลในเรื่องการขยายการลงทุนในอีก 6 เดือนข้างหน้า ยังไม่แน่ใจต่อความเสมอภาคทางธุรกิจและไม่แน่ใจในเรื่องผลตอบแทนทางธุรกิจเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่า เหตุการณ์ยังไม่ปกติเลยเสียทีเดียวและไม่มีความชัดเจนเพียงพอว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าใครควรมาเป็นนายกรัฐมนตรี กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจส่วนใหญ่ระบุเป็นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์