ไขข้อข้องใจคนไทย ปมตั้งอาชีวะ? ฟังรัฐบาลนิวซีแลนด์ขอตอบเอง

ไขข้อข้องใจคนไทย ปมตั้งอาชีวะ? ฟังรัฐบาลนิวซีแลนด์ขอตอบเอง

นายเอกภพ เหลือรา หรือ ตั้ง อาชีวะ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูง หนึ่งในผู้ต้องหาที่ทางการไทยต้องการตัว พำนักอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์ ในฐานะอะไร?

อยู่ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองหรือไม่ ประเทศไทยและนิวซีแลนด์ มีพันธสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันหรือไม่ และผู้ต้องหาในคดี มาตรา 112 สามารถถูกส่งตัวกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยได้หรือไม่ คำถามที่ค้างคามาเนิ่นนาน ในวันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ร่วมกับ ทีมข่าวต่างประเทศไทยรัฐออนไลน์ ได้พยายามเสาะแสวงหาคำตอบ ผ่านไปทางสถานทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย จนที่สุดได้รับคำตอบจากกระทรวงต่างประเทศนิวซีแลนด์ ในข้อสงสัยต่างๆ มาดังนี้

ถาม : 1. ขอทราบขั้นตอนในการยื่นขอสถานะการเป็นพลเมืองนิวซีแลนด์ หรือการขอวีซ่าถาวร??


ตอบ : นโยบายคนเข้าเมืองของนิวซีแลนด์ อนุญาตที่จะรับแรงงานที่มีฝีมือและมีทักษะขั้นสูง รวมทั้งครอบครัวของพวกเขามาอยู่ในนิวซีแลนด์ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของเราเติบโต ขณะเดียวกัน ก็ยังอนุญาตให้พลเมืองนิวซีแลนด์ให้การสนับสนุนครอบครัวที่มีความใกล้ชิดกับพวกเขาเข้ามาอยู่ในนิวซีแลนด์ด้วย

ทั้งนี้ มีบุคคลหลายประเภทที่มีสิทธิยื่นสมัครขอเข้ามาอยู่อาศัยในนิวซีแลนด์ ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดสามารถเข้าไปดูได้ในเว็บไซต์ Immigration New Zealand (INZ)

อย่างไรก็ตาม การยื่นขอเป็นพลเมืองนิวซีแลนด์ เป็นงานกระทรวงมหาดไทยนิวซีแลนด์ ซึ่งสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการยื่นคำขอตามลิงก์ที่แนบมานี้ http://www.dia.govt.nz/New-Zealand-citizenship

ถาม : 2. การยื่นขอเป็นพลเมืองหรือขอวีซ่าถาวรในนิวซีแลนด์นั้น ผู้ต้องสงสัยในคดีอาญาจากประเทศไทยสามารถดำเนินการยื่นขอได้หรือไม่?

ตอบ : กรมตรวจคนเข้าเมืองนิวซีแลนด์ไม่สามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานะของคนเข้าเมืองเป็นรายบุคคลได้ โดยไม่ได้รับการยินยอมจากบุคคลนั้น และเรื่องการขอเป็นพลเมืองนิวซีแลนด์นั้น ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยนิวซีแลนด์

ถาม : 3. ต้องการทราบกฎระเบียบของการยื่นขอลี้ภัยทางการเมืองในนิวซีแลนด์ และคุณสมบัติสำคัญที่สุดที่ใช้ในการพิจารณาขอลี้ภัยทางการเมืองในนิวซีแลนด์คืออะไร?

ตอบ : รัฐบาลนิวซีแลนด์ดำเนินการตามพันธสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และความรับผิดชอบตามพันธสัญญาอย่างเคร่งครัด

ซึ่งการลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับสถานะของผู้ลี้ภัย (Refugee Convention) ปี 1951 และพิธีสารปี 1967 ได้ถูกกำหนดให้พิจารณาคำอ้างทั้งหมดเพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัย จากผู้ที่พยายามจะเข้ามาขอลี้ภัยอยู่ในพรมแดนของนิวซีแลนด์ โดยสถานะผู้ลี้ภัยนั้น สามารถถูกนำมาอ้างได้เมื่อเดินทางมาถึงสนามบินหรือท่าเรือของนิวซีแลนด์ หรือยื่นภายหลังเดินทางมาถึงนิวซีแลนด์แล้ว โดยผู้ขอลี้ภัยนั้น คือประชาชนซึ่งมีคุณสมบัติในการขอลี้ภัย ตาม Refugee Convention ซึ่งได้รับการแก้ไขใหม่และอยู่ในพิธีสารปี 1967

เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการตัดสินคำอ้างเพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัยในนิวซีแลนด์ ถือเป็นลำดับขั้นตอนแรกเพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัย จากนั้นจะไปสู่ขั้นตอนของการยื่นเรื่องขอลี้ภัย และการคุ้มครองของศาลยุติธรรม โดยคุณสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการยื่นเรื่องขอสถานะผู้ลี้ภัยในนิวซีแลนด์ตามลิงก์ข้างล่างนี้ -http://www.immigration.govt.nz/NR/rdonlyres/E809F05F-60EF-4483-9272-92B0EACDB440/0/claimingrefugeeprotectionstatus.pdf

ส่วนกรณีการให้สิทธิผู้ลี้ภัยที่แยกออกมานั้น ภายใต้โครงการโควตาผู้ลี้ภัยของนิวซีแลนด์ ได้กำหนดให้รับผู้ลี้ภัยปีละ 750 คน ซึ่งถูกเสนอมายังนิวซีแลนด์ โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ซึ่งผู้ลี้ภัยเหล่านี้ถูกพิจารณาโดยกองบังคับการตรวจคนเข้าเมืองนิวซีแลนด์เพื่อเข้ามาพำนักอยู่ในนิวซีแลนด์ ภายใต้โครงการโควตาผู้ลี้ภัย ซึ่งต้องได้รับการยอมรับในฐานะผู้ลี้ภัยและเสนอมาโดย UNHCR

โดยตามข้อตกลง UNHCR มีหน้าที่ตัดสินเลือกบุคคลเพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกประเทศที่ดีสุดให้แก่ผู้ลี้ภัย หรือการพิจารณาว่าสมควรจะส่งผู้ลี้ภัยไม่ว่าจะชายหรือหญิง ไปยังประเทศที่สาม เพื่อความปลอดภัยของพวกเขา ซึ่งผู้ลี้ภัยทั้งหมดจะต้องยอมรับในข้อตกลงเข้ามาพำนักอยู่ในนิวซีแลนด์ ภายใต้โครงการโควตาผู้ลี้ภัย ซึ่งจำเป็นต้องมีคุณสมบัติตามนโยบายผู้ลี้ภัย, สุขภาพ, ความมั่นคง และความเสี่ยงของการเข้าเมือง

ถาม : 4. คนไทยที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยทำความผิดในคดีอาญา มาตรา 112 สามารถขอลี้ภัยอยู่ในนิวซีแลนด์ได้หรือไม่?

ตอบ :  กรมตรวจคนเข้าเมืองนิวซีแลนด์ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับบุคคลที่ขอลี้ภัยว่า จะได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยหรือไม่ เนื่องจากตามมาตรา 151 ในกฎหมายคนเข้าเมืองปี 2009 ของนิวซีแลนด์นั้น ได้กำหนดว่าต้องรักษาคำขอลี้ภัยเหล่านั้นไว้เป็นความลับ เพื่อให้ความเคารพต่อผู้อ้างสิทธิลี้ภัย รวมทั้งผู้ลี้ภัยและการคุ้มครองประชาชน

ถาม : 5. ประเทศไทยและนิวซีแลนด์มีสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่?

ตอบ : ไทยและนิวซีแลนด์ ไม่มีข้อตกลงหรือสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน แต่การส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ระหว่างนิวซีแลนด์กับนานาประเทศนั้น ดำเนินการตามกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนของนิวซีแลนด์ ปี 1999 ซึ่งทางการนิวซีแลนด์อาจถูกผูกพันในฐานะเป็นรัฐที่รับช่วง ตามสนธิสัญญาส่งตัวผู้ก่อการร้าย ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงโดยสหราชอาณาจักร ก่อนหน้าที่นิวซีแลนด์จะได้รับเอกราช

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสนธิสัญญาและกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน สามารถดูได้ที่ http://www.mfat.govt.nz/Treaties-and-International-Law/06-International-Courts-and-Tribunals/6-Extradition.php

ถาม : 6. ต้องการทราบสถานะของนายเอกภพ เหลือรา หรือตั้ง อาชีวะ ในนิวซีแลนด์ว่าเขาได้เป็นพลเมืองนิวซีแลนด์ หรือได้สิทธิ์พำนักถาวรในนิวซีแลนด์หรือยัง???

ตอบ : กรมตรวจคนเข้าเมืองนิวซีแลนด์ ไม่สามารถแสดงความเห็นใดๆ เกี่ยวกับสถานภาพของคนเข้าเมืองเป็นรายบุคคลได้ หากไม่ได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้น...

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์