รอทูลเกล้าฯถอดยศ‘แม้ว’ ‘บิ๊กตู่’ลับดาบ! สั่งถอนพาสปอร์ตทุกเล่ม

รอทูลเกล้าฯถอดยศ‘แม้ว’ ‘บิ๊กตู่’ลับดาบ! สั่งถอนพาสปอร์ตทุกเล่ม

วันที่ 29 พฤษภาคม เวลา 09.00 น. ที่ รร.อนันตราสยาม กรุงเทพฯ มีการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศของไทยเป็นเจ้าภาพ โดยมีเจ้าหน้าที่อาวุโสและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจาก 17 ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย บังกลาเทศ กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ นิวซีแลนด์ ศรีลังกา เข้าร่วม ส่วนเจ้าหน้าที่จากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปราบอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และองค์กรเพื่อผู้อพยพระหว่างประเทศ (International Organization for Migration) เข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์

“ธนศักดิ์”ยัน ไม่ใช่ปาหี่

พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ กล่าวเปิดการประชุมว่า ถือเป็นเรื่องดีที่นานาชาติจะร่วมมือกัน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง เวทีวันนี้เป็นเวทีที่จะหารือเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาวเพื่อความยั่งยืน พร้อมย้ำว่า เบื้องต้นต้องให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม ซึ่งไทยได้จัดตั้งเรือช่วยชีวิตเพื่อช่วยเหลือเบื้องต้น ก่อนส่งไปประเทศที่มีความพร้อมต่อไป นอกจากนี้ พล.อ.ธนะศักดิ์ ยังให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน อีกครั้งหนึ่ง โดยย้ำว่าการประชุมครั้งนี้ ไม่ใช่ปาหี่ แต่เป็นการหารือของหลายชาติเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

ไม่ขัดสหรัฐฯบินผ่านน่านฟ้า

นอกจากนี้ ไทยได้อนุมัติให้เครื่องบินสหรัฐฯ บินเข้าเขตน่านฟ้า เพื่อลาดตระเวนสำรวจผู้อพยพที่ลอยลำอยู่กลางทะเล โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ได้อนุมัติด้วยวาจา ซึ่งสามารถปฏิบัติงานได้ทันที โดยสหรัฐต้องประสานกับศูนย์อำนวยการลาดตระเวนและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย (ศอ.ยฐ.) ซึ่งมีกองบัญชาการกองทัพไทยเป็นผู้รับผิดชอบหลัก

เมียนมาพร้อมร่วมมือทุกปท.

ด้านดาโต๊ะ อิบบราฮิม บิล อับดุลลา รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า ในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า จะมีการประชุมระดับซัมมิต เรื่องการค้ามนุษย์ ซึ่งมี 4 ประเทศเข้าร่วมได้แก่ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และเมียนมา

นายทิต ลิน ผู้แทนพิเศษ เมียนมา กล่าวว่า ทุกประเทศควรร่วมกันแก้ปัญหา โดยเมียนมาพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกประเทศ โดยขณะนี้ได้ให้กองทัพเรือและกองทัพอากาศ ลาดตระเวนทางทะเลเพื่อช่วยผู้อพยพ พร้อมย้ำว่าปัญหานี้คือการค้ามนุษย์

จวกเละออสเตรเลีย-UNHCR

อย่างไรก็ตาม เห็นว่า UNHCR กับออสเตรเลียควรกลับไปศึกษาข้อมูลให้มากกว่านี้ ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร และปฏิเสธข้อเรียกร้องของ UNHCR ที่ให้รัฐบาลเมียนมาให้สถานะการเป็นพลเมืองแก่ชนกลุ่มน้อยชาวโรฮีนจา โดยเห็นว่าเป็นการแทรกแซงปัญหาภายในของเมียนมา และไม่ควรชี้เฉพาะเจาะจงให้เมียนมารับผิดชอบปัญหาแต่เพียงประเทศเดียว

บังกลาเทศยันต้านค้ามนุษย์

ส่วน นายชาฮิดุล ฮาเก ปลัดกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศ กล่าวยืนยันจุดยืนว่า บังกลาเทศต่อต้านขบวนการการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบ แต่ยอมรับว่า 30 เปอร์เซนต์ของเหยื่อค้ามนุษย์เป็นผู้อพยพที่เดินทางออกมาจากประเทศบังคลาเทศ ซึ่งผู้อพยพเหล่านั้นตระหนักอยู่เสมอว่าต้องการแสวงหาโอกาสและที่ทำกินที่ดีกว่า

ทุกประเทศพร้อมใจช่วยเหลือ

จากนั้น ในเวลา 19:30 น. นายนรชิต สิงหเสนี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมจะร่วมกันเพิ่มความพยายามในการค้นหาและช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่อผู้ที่ยังตกค้างในทะเลและหาแนวทางนำผู้อพยพขึ้นฝั่ง โดยให้องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน(IOMX) และ UNHCR สามารถเข้าถึงผู้โยกย้ายถิ่นฐานได้ และจะร่วมกันเพื่อปฏิบัติการคัดแยกผู้อพยพด้วย

สหรัฐฯ-ออสซี่บริจาคเงินหนุน

นายนรชิต กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีการเพิ่มความร่วมมือในด้านการข่าว โดยแบ่งปันข้อมูลกันเพื่อให้สามารถระบุที่อยู่ของเรือผู้โยกย้ายถิ่นฐานได้ รวมถึงจะตั้งปฏิบัติการร่วมกันในการให้การสนับสนุนที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละประเทศ และแบ่งปันทรัพยากรต่างๆ ตามที่องค์การระหว่างประเทศได้ร้องขอ โดยสหรัฐฯ ประกาศบริจาคเงิน 3 ล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อ IOM และออสเตรเลียจะเพิ่มให้ 5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย จากเดิมให้แล้ว 6 ล้านดอลลาร์ แก่รัฐยะไข่ ของเมียนมา และเมืองคอกซ์ บาซาร์ ของบังคลาเทศ ส่วนญี่ปุ่นรับปากจะนำเรื่องนี้ไปเสนอต่อรัฐบาลต่อไป รวมถึงสวิสเซอร์แลนด์จะช่วยเหลือหลายล้านสวิสฟรังซ์

ไม่คุยประเด็นให้สัญชาติ

นายนรชิต กล่าวด้วยว่า ในการป้องกันการค้ามนุษย์และการโยกย้ายถิ่นฐาน ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันให้มีการเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย ผ่านกรอบความร่วมมือขององค์การสหประชาชาติในการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ (UNTOC) รวมถึงเพิ่มความร่วมมือในการปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ จัดตั้งปฏิบัติการสืบสวนพิเศษ เพิ่มความโปร่งใสในการบรรจุเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเพิ่มช่องทางในการให้เป็นผู้เข้าเมืองถูกกฎหมาย ส่วนการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุนั้น ที่ประชุมเห็นร่วมให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านการสร้างอาชีพ เพิ่มการค้าและการลงทุน ให้การฝึกอาชีพ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และยินดีเปิดรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ ส่วนเมียนมาได้เห็นชอบกับผลการประชุมดังกล่าว และยินดีที่ต่างชาติจะเข้าร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ต้นเหตุ อย่างไรก็ตาม ไม่มีการพูดคุยถึงการให้สัญชาติคนโรฮีนจาแต่อย่างใด

แก๊งค้ามนุษย์มอบตัวเพิ่มอีก2

สำหรับความคืบหน้าคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา วันเดียวกัน ที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธร ภาค 9ส่วนหน้า(ศปก.ภ.9สน.) พล.ต.ท.มนตรี โปตระนันท์ ผบช.ภ.9 และ เรือโทสมนึก เสียงก้อง รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ร่วมประชุมเพื่อสรุปภาพรวมของคดีและติดตามความคืบหน้าของคดี โดยเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม มีผู้ต้องหา 2 คน เข้ามอบตัวเพิ่มที่ สภ.ปาดังเบซาร์ คือ นายสะอารี เขร็ม อายุ 47 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ต.ปาดังเบซาร์ และ นายเจริญ ทองแดง อายุ 50 ปี ซึ่งทั้ง 2 คนอยู่ในกลุ่มของ นายบรรจง ปองผล หรือ โกจง อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ ทำให้ขณะนี้สามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับได้แล้ว 51 คน จาก 77 หมายจับ

ปปง.ลงพื้นที่สงขลาสัปดาห์หน้า

ส่วนการยึดทรัพย์เครือข่ายค้ามนุษย์เจ้าหน้าที่ยังคงเร่งตรวจสอบ เพื่อยึดทรัพย์เพิ่มเติมโดยสัปดาห์หน้าทางเจ้าหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) จะลงพื้นที่ติดตามยึดทรัพย์เครือข่ายค้ามนุษย์ใน จ.สงขลา เพิ่มเติมจากที่ยึดทรัพย์ใน จ.ระนอง และ จ.สตูล ไปแล้วกว่า 85 ล้านบาท ด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ตามยุทธการปิดปลายทางนั้น ได้ดึงมวลชนในพื้นที่เป้าหมายทั้ง จ.สงขลา จ.สตูล จ.ตรัง และ จ.ระนอง กว่า 1 หมื่น เข้ามาเป็นแนวร่วมในการแจ้งเบาะแส รวมถึงการตั้งจุดตรวจจุดสกัดเชื่อมโยงในพื้นที่เป้าหมาย 64 จุด

บิ๊กตู่ชี้ต้องช่วยเพื่อนมนุษย์

เมื่อเวลา 17.00 น. วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ออกอากาศผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่า รัฐบาลไทยมีความชัดเจนในการช่วยเหลือชาวโรฮีนจาตามหลักมนุษยธรรม ตามขีดความสามารถของเรา ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกประเทศที่ต้องช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แต่จำเป็นต้องกำหนดหลักการช่วยเหลือให้ชัดเจน ทั้งในเรื่องการดูแลรักษาพยาบาล น้ำ อาหาร และการอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปประเทศปลายทาง

ผบ.ตร.เชิญ50ประเทศแจง

ทางด้าน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. เปิดเผยว่า ในวันอังคารที่ 2 มิถุนายน เวลา 10.30 น. ได้เชิญคณะทูตและเจ้าหน้าที่ทูตจากประเทศต่างๆ ประมาณ 50 ประเทศ มาที่ห้องประชุมศรียานนท์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการในกรณีชาวโรฮีนจา โดยให้ พล.ต.อ.เอก และเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดชี้แจงการทำงานของตำรวจไทย เพื่อให้ต่างประเทศได้เข้าใจถึงข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์