พระสุเทพแนะร่างรธน. ม้วนเดียวจบ! ไม่ต้องทำ‘ประชามติ’

พระสุเทพแนะร่างรธน. ม้วนเดียวจบ! ไม่ต้องทำ‘ประชามติ’

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ที่วัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี พระสุเทพ ปภากโร หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ให้สัมภาษณ์ถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่เห็นด้วยเพราะถ้ารัฐธรรมนูญดีจริงก็ไม่จำเป็นต้องทำ “ถ้ารัฐธรรมนูญดีจริง เป็นรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยออกแบบมาได้พอดีตัว ตัดเสื้อเข้ากับตัวคนไทยได้พอดี ใส่หล่อแล้ว ก็ไม่ต้องไปทำประชามติให้สิ้นเปลือง แต่ข้อสำคัญอาจจะดูใส่หล่อสำหรับประเทศไทย แต่ไม่พอดีตัวนักการเมือง และพรรคการเมือง อย่างนี้แม้จะทำประชามติไป ก็เป็นปัญหาเพราะบรรดานักการเมืองและพรรคการเมือง เขาไม่เอาอยู่แล้ว”พระสุเทพ กล่าว

ค้านทดลองใช้รธน.ก่อน5ปี

ผู้สื่อข่าวเมื่อถามว่า คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อนอย่างน้อย 5 ปีแล้วค่อยแก้ไขว่า ไม่จำเป็นและไม่ควร เพราะวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นบุคคลที่มีความเหมาะสมที่สุด ที่จะเป็นหัวหน้ารัฐบาลที่ทำการแก้ไขสิ่งเหล่านี้ เพราะไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง

หวั่นรัฐบาลหน้าทำเพื่อตัวเอง

“อีก 5 ปีข้างหน้า หากมีรัฐบาลก.และรัฐบาลข.ที่จะเป็นกลางนั้น รับรองว่าไม่มี พวกเขาจะต้องแก้ให้เอื้อประโยชน์กับรัฐบาลของเขา หรือของพรรคตัวเอง เพราะฉะนั้นจึงทำตรงนี้ให้สมบูรณ์ไปเลย อาตมาไม่ได้จะขัดแย้งแต่รู้สึกว่าไม่ถูกต้อง รัฐธรรมนูญจะมีกี่มาตราไม่ใช่เรื่องสำคัญ จะ315 มาตราหรือ 600 มาตราขอให้ออกมาดี ถ้าไม่เข้าท่ามีแค่ 5 มาตราก็ดูว่ามากไปแล้ว เวลานี้ทำให้เสร็จทำให้ถูกต้องทั้งกฎหมายหลัก และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ”พระสุเทพระบุ

หนุนบิ๊กตู่อยู่ยาว5ปีถ้าคุมได้

พระสุเทพ กล่าวอีกว่า สำหรับตนวันนี้ไม่ได้เป็นนักการเมืองลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)แล้วไม่คิดที่จะไปเลือกตั้งอีก เรามองในแง่ประโยชน์ของประเทศชาติ ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ อยู่แล้วแก้ปัญหาประเทศได้ ทำให้ประเทศดีขึ้น ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ 3 ปี 5 ปี ก็ไม่เห็นน่ารังเกียจอะไร ไม่ใช่เอาแต่ความเท่ห์ เอาแต่ยี่ห้อ แล้วก็กินไม่ได้ แบบนี้ไม่รู้รูปแบบประชาธิปไตยจะเป็นอย่างไร

‘ไพบูลย์’ย้ำใช้ก่อนทำประชามติ

ส่วนนายไพบูลย์ นิติตะวัน ในฐานะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวย้ำถึงข้อเสนอการทำประชามติว่า ในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ ตนจะเสนอให้เพิ่มเติมในบทเฉพาะกาลว่า ให้รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ 90 วันก่อนทำประชามติ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อ คสช.เพราะไม่ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญปี 57 รวมถึงโรดแมปก็จะไม่เคลื่อนไปด้วย ส่วนการเสนอให้นำรธน.40 หรือ50 มาใช้

ก็ไม่ได้แก้ปัญหาประเทศ ไม่อย่างนั้นจะมาร่างใหม่ทำไม

‘บัณฑูร’เชื่อคสช.รอให้มีคนชง

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การลงประชามติเป็นข้อเรียกร้องที่ฝ่ายเสนออยากให้รัฐธรรมนูญเชื่อมโยงกับประชาชนมากที่สุด ซึ่งตนคิดว่าทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาจจะรอให้มีผู้ริเริ่มเสนอความเห็นอย่างเป็นทางการในการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อการลงประชามติ แต่ผู้ริเริ่มเสนอยังรอท่าทีกันอยู่

เผย”บวรศักดิ์-กมธ.”เห็นด้วย

เมื่อถามว่า ความเห็นของกมธ.เรื่องการปทำประชามติเป็นไปในทิศทางใด นายบัณฑูร กล่าวว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ เคยพูดว่าเห็นด้วย ซึ่งตนก็เห็นด้วยในนามส่วนตัวทุกท่านก็สนับสนุนการทำประชามติ แต่ยังไม่ได้มีการหารือวาระนี้อย่างเป็นทางการ ดูจากสถานการณ์วันนี้หลายคนก็ถามถึง ไม่ใช่เรื่องเสียหายที่หลายคนเรียกร้อง เป็นการตัดสินใจของคสช.โดยแท้ และขณะนี้สนช. หลายคณะก็หารือกันอยู่

“พีระศักดิ์”ย้ำเสนอทำรายมาตรา

ในขณะที่นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวย้ำถึงข้อเสนอให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเฉพาะประเด็นที่มีความสำคัญ มีข้อถกเถียงและภาคส่วนสังคมให้ความสนใจ เช่น ที่มาของนายกฯที่ไม่จำกัดว่าต้องมาจากส.ส. เท่านั้น, ที่มา ส.ว. แม้จะมีการแก้ไขให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนใน 77 จังหวัดแต่ต้องผ่านการคัดกรองจากคณะกรรมการในจังหวัด ถือว่ายังเป็นประเด็นที่มีข้อถกเถียง

ระบุทางเทคนิคสามารถทำได้

ส่วนที่หลายฝ่ายระบุว่าร่างมาตราของรัฐธรรมนูญนั้นมีการเชื่อมโยงประเด็นกัน หากเลือกทำเฉพาะประเด็นอาจกระทบกับส่วนอื่นๆ ด้วยนั้น ตนมองว่าการกำหนดกติกาเพื่อนำไปสู่การทำประชามตินั้น มีประเด็นทางเทคนิคและรายละเอียดที่ต้องพิจารณาซึ่งขึ้นอยู่กับคสช.และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาและเสนอร่างกฎหมายประกอบกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว

“สุจิต”ค้านกระทบหลายมาตรา

ด้านนายสุจิต บุญบงการ รองประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 3 กล่าวว่า การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยแยกทำทีละประเด็นที่มีปัญหานั้น ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากประเด็นต่างๆ เช่น ที่มาของส.ว. หากทำประชามติว่าจะให้ใช้รูปแบบใด แล้วประชาชนลงมติว่าไม่เอาตามที่บทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญ อาจจะมีปัญหาต่อรายละเอียดอื่นๆ ที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับประเด็นที่มา ส.ว. ซึ่งถูกออกแบบไว้ให้เชื่อมโยงและสอดคล้องกัน ดังนั้นการแยกประเด็นร่างรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปทำประชามตินั้น ไม่สามารถทำได้

สนช.ชี้ไม่ควรแยกประเด็น

ขณะที่นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ สนช. และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะอนุ กมธ.ยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า ในเงื่อนไขของพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 ไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าการทำประชามติแต่ละเรื่องนั้น สามารถทำได้ทั้งรูปแบบเต็มฉบับ หรือแยกทีละประเด็นได้

ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่ควรแยกประเด็นออกจากกัน เนื่องจากประเด็นต่างๆ มีความเกี่ยวโยงกันไว้ในหลายมาตรา นอกจากนั้นแล้วตามกฎหมายประชามติกำหนดให้ต้องจัดให้ความรู้กับประชาชนก่อนลงคะแนนประชามติ ดังนั้นอาจเกิดความยุ่งยากได้หากแยกทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญทีละประเด็น เพราะหลักการนั้นมีความเชื่อมโยงกัน

ประชามติหลังสปช.โหวตไม่ได้

นายวุฒิศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีข้อเสนอระบุให้ทำประชามติหลังจากที่สปช. ลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้น ตนมองว่าทำไม่ได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ได้กำหนดเงื่อนไขชัดเจนว่า เมื่อสปช.ลงมติเห็นชอบก็จะเข้าสู่กระบวนการประกาศใช้ แต่หากสปช.ไม่เห็นชอบต้องเริ่มดำเนินการใหม่ ดังนั้นข้อเสนอดังกล่าวจึงทำไม่ได้

เชิญตัวแทนพรรค- คณบดีฯถก

ทางด้านนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวถึงการจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นก่อนจะยื่นญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า จะมีการจัด 2 เวที คือ การเชิญตัวแทน 74 พรรคการเมือง และภาคประชาชน มาร่วมสัมมนาในวันที่ 15 พฤษภาคม ที่รัฐสภาและจะเชิญคณบดีหรือตัวแทนจากคณะนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาแสดงความคิดเห็น ซึ่งจะกำหนดวันเวลาอีกครั้งเพื่อนำข้อมูลจากเวทีทั้ง 2 มารวบรวมเสนอให้กมธ.ยกร่างฯ ภายในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้

“บวรศักดิ์”วาง4กรอบให้กกร.

ส่วนนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) เปิดเผยภายหลังนายบวรศักดิ์ วรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า นายบวรศักดิ์ให้กรอบรัฐธรรมนูญในลักษณะกว้างๆ เพื่อให้สามารถรองรับกฎหมายลูกได้ในอนาคต ประกอบด้วย4 กรอบใหญ่ คือ 1. สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ เพื่อขยายและยกระดับสิทธิเสรีภาพของประชาชน 2.การเมืองใสสะอาดสมดุล เพื่อปรับสมดุลอำนาจ ถ่วงดุล และตรวจสอบ 3.หนุนสังคมที่เป็นธรรม และ4.นำชาติสู่สันติสุข ซึ่งที่ประชุม กกร.ยังไม่แสดงความเห็นใด เพราะจะนำข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณาและจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของบุคลากรทั้ง 3 องค์กรภายในเดือนนี้

จัดระดับกึ๋นภาคเอกชน24พค.นี้

นายอิสระ วงกุศลกิจ ประธานสภาหอการคัาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า งานสัมมนารับฟังความเห็นภาคเอกชนทั่วประเทศต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีขึ้นวันที่ 24 พฤษภาคม ตัวแทนจากกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะร่วมหารืออย่างละเอียดอีกครั้ง จากนั้นในงานจะมีภาคเอกชนจากทั่วประเทศ ทั้ง3 องค์ของกกร.ประมาณ 200-300 คน ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญปี 2540 และ2550 ปัญหาอยู่ส่วนไหน แต่จะไม่ชี้นำ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของเอกชน โดยข้อสรุปจะส่งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณา นำเสนอรัฐบาลต่อไป

กมธ.จัดเวทีกรุงเก่าฟังความเห็น

วันเดียวกันคณะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จัดโครงการเวทีเผยแพร่ความรู้เรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญแก่ประชาชน ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเผยแพร่สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนได้ทราบ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิ หน้าที่ และมาตราที่ร่างขึ้นใหม่เพื่อประโยชน์ของประชาชน นำโดยพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิชปรากฏว่ามีประชาชนสนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า 4 พันคน

หยั่งเสียงสอบถามทำประชามติ

ทั้งนี้ผู้ร่วมรับฟังได้รับแบบสอบความคิดเห็นที่สำรวจความพอใจ และความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งมีคำถามว่า หากจะต้องลงประชามติจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วยขณะที่กมธ.ตอบคำถามเรื่องการทำประชามติว่าไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 จึงไม่เกี่ยวข้องกับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการตัดสินใจของครม.และคสช.ถ้าเห็นว่าควรทำประชามติจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อนซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนครึ่ง

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์