คำนูญมั่นใจอำนาจพ.ร.ฎ.อภัยโทษ ไม่ใช่ช่องทางให้ทักษิณกลับบ้าน

คำนูญมั่นใจอำนาจพ.ร.ฎ.อภัยโทษ ไม่ใช่ช่องทางให้ทักษิณกลับบ้าน

10 เม.ย.58 นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ

กล่าวถึงกรณีที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บางส่วนติดใจในประเด็นของสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ ในร่างรัฐธรรมนูญฯ ภาค 4 การปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง ว่า กมธ.ยกร่างฯ จะชี้แจงตามหลักการที่แถลงมาโดยตลอดว่า รัฐธรรมนูญนี้แตกต่างจากฉบับอื่น เพราะจะมีความต่อเนื่องในการปฏิรูปประเทศที่ริเริ่มโดย สปช.แม้จะมีรัฐบาลตามปกติ แต่การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศจะเดินหน้าต่อไป ส่วนองค์ประกอบที่มาของกลไกใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่จะกำหนดในกฎหมาย ประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็จะรับฟังความคิดเห็นต่อไป

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่มีการทบทวนถ้อยคำในมาตรา 1 ของภาค 4

โดยตัดศาลออกจากความผูกพันในภาคนี้ และเปลี่ยนคำว่า "ก่อให้เกิดหน้าที่" เป็น "ก่อให้เกิดความรับผิดชอบ" จะมีการทบทวนอำนาจของคณะกรรมการปรองดอง ที่สามารถร่างพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษโดยมีเงื่อนไขกรณีให้ความจริง หรือสำนึกผิดต่อกรรมการปรองดองหรือไม่นั้น ยังไม่มีการพิจารณา แต่ถ้ามีการขอแก้ไขเพิ่มเติมเข้ามาก็พร้อมพิจารณาอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ความจำเป็นที่กรรมการปรองดองต้องมีอำนาจในการร่างพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษนั้น ความจริงก็แค่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เท่านั้น หากไม่มีอำนาจเลยก็จะทำให้กระบวนการที่เกิดขึ้นไม่เป็นประโยชน์เท่าที่ควร แต่อำนาจในการตัดสินใจเป็นเรื่องของ ครม.และส่วนที่เกี่ยวข้อง

"ในส่วนของภาค 4 อาจจะไม่ออกมาตามร่างแรกทั้งหมด เพราะต้องดูปฏิกิริยาของภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะ ครม. , คสช.และ สปช.ที่จะเสนอแก้ไข รวมทั้งความเห็นประชาชนและผู้สื่อข่าว ว่ามีประเด็นใดที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจหรือไม่สมบูรณ์ ก็จะนำมาพิจารณาในทุกประเด็นเพื่อความรอบคอบ ซึ่งยืนยันว่า ไม่มีเรื่องนิรโทษกรรมในร่างรัฐธรรมนูญแน่นอน แต่ร่างพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษเป็นขั้นตอนที่กว่าจะถึงขั้นตอนนั้น ก็มีระยะเวลาและหลักเกณฑ์ตามที่คณะกรรมการปรองดองจะพิจารณา ไม่ใช่ว่าสิ่งที่เขียนไว้ต้องเกิดขึ้น อาจไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้" นายคำนูณ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า อำนาจของคณะกรรมการปรองดองจะกลายเป็นประตูเปิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

กลับประเทศไทยโดยไม่มีความผิดหรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า คงไม่ใช่แน่นอน เพราะไม่ได้มีจุดมุ่งหมายออกกฎหมายอภัยโทษ หรือนิรโทษกรรมแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นการเฉพาะ การระบุให้เป็นอำนาจของกรรมการปรองดองอภัยโทษกับคนที่สำนึกผิด หรือให้ข้อเท็จจริงกับกรรมการนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อสำนึกผิดแล้วจะได้รับการอภัยโทษทุกราย เช่น มา 10 ราย อาจได้รับการอภัยโทษเพียงแค่ 2 - 3 รายเท่านั้น

ทั้งหมดอยู่ที่เงื่อนไขการที่มีคณะกรรมการปรองดองเพื่อเปิดเวทีแก้ปัญหาส่วน จะแก้ได้หรือไม่

ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการปรองดองทำงานไป หากยังคงร่างเดิม แต่ถ้ามีการปรับแก้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการแปรญัตติและการพิจารณาของ กรรมาธิการฯ อีกทั้งอำนาจในการให้อภัยโทษของคณะกรรมการปรองดอง ไม่ถือว่าเป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจ เพราะเป็นเพียงแค่การเสนอ ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไร แม้เกณฑ์ในการกำหนดการอภัยโทษจะไม่เหมือนหลักเกณฑ์ปกติ เพราะขึ้นอยู่กับกรรมการปรองดองนั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังไม่ให้มีสิ่งที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้น แต่ต้องรอให้เกิดคณะกรรมการปรองดองก่อน ซึ่งสาธารณชนจะตรวจสอบได้

ทั้งนี้ จึงอยากให้รอดูร่างสุดท้ายก่อน โดยหลังสงกรานต์ก็คงไม่มีความคืบหน้าอะไรเพิ่มเติม เพราะในวันที่ 17 เม.ย.จะส่งร่างอย่างเป็นทางการ ให้สมาชิก สปช.รับไปศึกษาอย่างเป็นทางการ เพื่อเตรียมอภิปราย ในวันที่ 20 - 26 เม.ย.ส่วนการเผยแพร่ตัวร่างแรกต่อสาธารณะน่าจะเป็นหลังวันที่ 20 เม.ย.


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์