พุทธะอิสระตีแผ่วงการสงฆ์ แจงยิบ! ค่าตอบแทนตามสมณศักดิ์

พุทธะอิสระตีแผ่วงการสงฆ์ แจงยิบ! ค่าตอบแทนตามสมณศักดิ์

วันที่ 8 เม.ย. พระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หลวงปู่พุทธะอิสระ (Buddha Isara)


 ถึงกรณีที่ตนเองได้ยื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบการใช้งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ของสำนักพุทธศาสนา และมหาเถรสมาคม โดยระบุว่า

งบประมาณที่รัฐอนุมัติให้เป็นค่าตอบแทน เรียกว่าเงิน "นิตยภัต" สำหรับเป็นค่าตอบแทนพระสังฆาธิการ พระราชาคณะผู้ทรงสมณศักดิ์และมหาเปรียญ ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๑,๒๒๕,๕๗๒,๔๐๐ บาท (หนึ่งพันสองร้อยยี่สิบห้าล้านห้าแสนเจ็ดหมื่นสองพันสี่ร้อยบาทถ้วน)

เงินเหล่านี้ทุกบาททุกสตางค์มาจากภาษีของประชาชนผู้หาเช้ากินค่ำปากกัดตีนถีบเพื่อให้ได้เงินมาแล้วยังต้องเจียดจานแบ่งส่วนหนึ่งนำมาเสียภาษีให้รัฐรัฐจึงนำมาใช้พัฒนาบ้านเมืองสังคมเศรษฐกิจไม่เว้นแม้แต่อุดหนุนชีวิตของนักบวช

เพื่อช่วยให้มีชีวิตผ่อนคลายจากความขาดแคลน ในเวลาทำหน้าที่ปกครองบริหารจัดการสังฆมณฑลและศาสนจักรให้สงบเรียบร้อย

ถูกตรงตามคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา รัฐเขาจึงจ่ายเงินให้เป็นค่าตอบแทนด้วยเพราะคิดว่า เจ้าคณะปกครองตามลำดับชั้น จะทำหน้าที่แบ่งเบาภาระของรัฐบาล ไม่ปล่อยให้บุคลากรในสังฆมณฑลมาสร้างปัญหาให้แก่สังคมดังเช่นปัจจุบันนี้

แต่พวกเจ้าคณะปกครองแทนที่จะมีจิตสำนึกรับผิดชอบรู้จักหน้าที่ทำตัวอย่างที่ดีให้แก่ผู้น้อยผู้ใต้บังคับบัญชากลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามอย่างที่เห็นๆกันอยู่ในปัจจุบัน

อีกทั้งพวกเจ้าคณะปกครองทั้งหลายนี้หลายรูปมีพฤติกรรมเอาเปรียบข้าราชการประจำและลูกจ้างชั่วคราวทั้งประเทศอย่างน่าเกลียดมากๆ พี่น้องคงสงสัยว่าพวกนี้เอาเปรียบยังไง หากสงสัยจะลากไส้ออกมาให้ดู

เราลองมาดูค่าจ้างในการทำหน้าที่เจ้าคณะปกครองแต่ละลำดับชั้นกันว่า แต่ละตำแหน่งมีเงินค่าจ้าง หรือจะเรียกให้ดูดีก็คือเงินนิตยภัต เงินอุดหนุน เงินค่าตอบแทน

สรุปแล้วก็คือ รัฐต้องนำเงินภาษีมาจ่ายให้แก่เจ้าคณะปกครองพวกนี้ทุกๆ เดือนโดย

- สมเด็จพระสังฆราชเจ้า จะได้รับเงินเดือนละ ๓๗,๗๐๐ บาท
- สมเด็จพระสังฆราช โดยมิได้มาจากเชื้อพระวงศ์ก็ได้เดือนละ ๓๔,๒๐๐ บาท
- ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชได้เดือนละ ๓๐,๘๐๐ บาท
- สมเด็จพระราชาคณะ ๒๗,๔๐๐ บาท
- กรรมการมหาเถรสมาคม ๒๓,๙๐๐ บาท
- เจ้าคณะใหญ่หนเหนือใต้ออกตกและธรรมยุติได้เดือนละ ๒๓,๐๐๐ บาท

- พระราชาคณะและรองพระราชาคณะ ได้เดือนละ ๒๐,๕๐๐ บาท
- เจ้าคณะภาคและแม่กลองบาลี แม่กองธรรม ได้ตำแหน่งละ ๑๗,๑๐๐ บาท
- รองเจ้าคณะภาค ๑๓,๗๐๐ บาท
- เจ้าคณะจังหวัดและตำแหน่งเลขาสมเด็จพระสังฆราช ได้เดือนละ ๑๐,๓๐๐ บาท
- พระราชาคณะที่ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะปกครองและรองชั้นสัญญาบัตรและเจ้าคุณชั้นธรรม ทั้งหมดได้เดือนละ ๑๓,๗๐๐ บาท

- พระราชาคณะชั้นเทพ ได้เดือนละ ๑๐,๓๐๐ บาท
- พระราชาคณะชั้นราช ได้เดือนละ ๖,๙๐๐ บาท
- เปรียญธรรม ๙ ประโยค ได้เดือนละ ๖,๙๐๐ บาท
- เจ้าคุณปลัดขวา ปลัดซ้าย ปลัดกลาง และเจ้าคุณชั้นสามัญ เช่นเจ้าคุณเมธีธรรมาจารย์ ทั้งหมด ได้เดือนละ ๕,๕๐๐ บาท

- พระราชาคณะชั้นสามัญ เปรียญ ๗ ได้เดือนละ ๕,๒๐๐ บาท
- เจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอกได้ ๔,๘๐๐ บาท
- เจ้าคุณรองเจ้าคณะจังหวัด หรือเจ้าอาวาสอารามหลวงชั้นโทได้เดือนละ ๔,๕๐๐ บาท

- เจ้าคณะอำเภอได้เดือนละ ๔,๑๐๐ บาท
- พระครูชั้นเอกได้เดือนละ ๓,๘๐๐ บาท
- เลขานุการเจ้าคณะหนได้ ๓,๘๐๐ บาท
- เลขานุการเจ้าคณะภาคได้เดือนละ ๓,๔๐๐ บาท
- รองเจ้าคณะอำเภอและพระครูชั้นโทลงมา ได้เดือนละ ๓,๑๐๐ บาท
- เจ้าคณะตำบลได้เดือนละ ๒,๕๐๐ บาท
- เจ้าอาวาสได้ ๒,๒๐๐ บาท
- ผู้ช่วยเจ้าอาวาสได้ ๑,๘๐๐ บาท
- เลขานุการเจ้าคณะตำบลได้ ๑,๒๐๐ บาท

เหล่านี้คือข้อมูลคร่าวๆ ที่ยกมาให้เห็นว่า นักบวชพวกนี้ล้วนได้รับเงินเดือนจากรัฐ แต่ปฏิเสธการทำหน้าที่ ละเลย ละเว้น ไม่ปฏิบัติ หรือเลือกปฏิบัติ อีกทั้งยังไม่ยอมรับการตรวจสอบจากภาครัฐและประชาชน เช่นนี้จะไม่เรียกว่าเอาเปรียบแล้วจะเรียกว่าอะไร

ทำตนเป็นผู้อยู่เหนือกฎหมาย เหนือการตรวจสอบ เหนือปัญหา ไม่รับผิดชอบ และวางเฉยต่อความทุกข์ยากเดือดร้อนของพุทธบริษัท ไม่สนใจที่จะทำหน้าที่ตามที่ได้กำหนดไว้ใน พรบ.คณะสงฆ์ ที่ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของเจ้าคณะพระสังฆาธิการ

เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ มีอำนาจหน้าที่ในการปกครองคณะสงฆ์ในเขตปกครองของตน คือ บริหารการคณะสงฆ์และการพระศาสนาตามที่กำหนดใน ๔ องค์การเดิม แต่มิได้จัดเป็นองค์การ ซึ่งเป็นตัวองค์กรบริหาร คงยึดเอาเฉพาะลักษณะงานในองค์การนั้น ๆ เปลี่ยนเรียกว่า "การ" กล่าวคือ
๑.การรักษาความเรียบร้อยดีงาม (เดิมคืองานในองค์การปกครอง)
๒.การศาสนศึกษา (เดิมคืองานในองค์การศึกษา)
๓.การเผยแผ่พระพุทธศาสนา (เดิมคืองานในองค์การเผยแผ่)
๔.การสาธารณูปการ และ
๕. เพิ่มการศึกษาสงเคราะห์และการสาธารสงเคราะห์เข้า พร้อมทั้งเอาการนิคหกรรม (เดิมคือการวินิจฉัยอธิกรณ์) รวมเข้า
อยู่ในอำนาจหน้าที่เจ้าคณะชั้นนั้นๆ เพื่อมิให้เกิดความถ่วงดุลแห่งอำนาจดังเช่นกฎหมายฉบับเดิม เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปโดยถูกต้อง สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม ได้กำหนดให้มีรองเจ้าคณะ เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะในชั้นนั้นๆ อีกส่วนหนึ่ง แม้ในส่วนวัด ก็ให้มีรองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส เพื่อเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนั้นๆ

หากจะถามบรรดาเจ้าคณะปกครอง เมื่อรับเงินรัฐมาแล้ว ได้ทำหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฎหมายสงฆ์อย่างสมบูรณ์แล้วหรือยัง

ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมานี้แหละ จึงควรเป็นคำอธิบายได้อย่างดีว่า ทำไมต้องปฏิรูปมหาเถรและกิจการคณะสงฆ์ ทำไมจึงไม่ทำแค่จัดการกับนายธัมมชโย ญาติกปิละปลาอเวจีแต่เพียงผู้เดียว

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์