2 ทีมตัวช่วย ยิ่งลักษณ์ ชี้ชะตาสถานะ จำเลย สู้ทุจริตข้าว

2 ทีมตัวช่วย ยิ่งลักษณ์ ชี้ชะตาสถานะ จำเลย สู้ทุจริตข้าว

ทันทีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งประทับฟ้อง คดีที่ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี

ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และความผิดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 ฐานปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว

 

เท่ากับชะตากรรมของอดีตนายกฯหญิงคนแรกของประเทศมีสถานะเป็น "จำเลย" ทันที

เพราะหลังจากองค์คณะผู้พิพากษามีคำสั่งประทับฟ้อง ศาลได้นัดพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 19 พ.ค. พร้อมทั้งให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลย โดยให้โจทก์หรือผู้แทนโจทก์ก็คืออัยการสูงสุดนำเจ้าพนักงานศาลไปส่งภายใน 7 วัน ตามภูมิลำเนาของ "ยิ่งลักษณ์" หากไม่พบจำเลยหรือไม่มีผู้รับแทนโดยชอบให้ปิดหมาย ซึ่งจะถือว่า "ยิ่งลักษณ์" รับทราบแล้ว

และในการพิจารณาครั้งแรกในกลางเดือน พ.ค.นั้น ถือเป็นวันสำคัญที่ "ยิ่งลักษณ์" ต้องปรากฏตัวต่อหน้าศาล ตามมาตรา 27 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการ เมือง พ.ศ. 2542 ที่ระบุว่า

"ในวันพิจารณาครั้งแรก เมื่อจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลและศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริง ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้ฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คำให้การของจำเลยให้บันทึกไว้ ถ้าจำเลยไม่ให้การก็ให้บันทึกไว้ และให้ศาลกำหนดวันตรวจพยานหลักฐานโดยให้โจทก์และจำเลยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน"

"สุรศักดิ์ตรีรัตน์ตระกูล"อธิบดีอัยการ สำนักการสอบสวน กล่าวว่า จำเลยจะต้องมาศาล 19 พ.ค. ถ้าจำเลยไม่มา ศาลอาจต้องออกหมายจับเพื่อให้จำเลยมาศาล และอาจต้องจำหน่ายคดี เพราะวันพิจารณาครั้งแรกถือเป็นวันสำคัญ ศาลจะต้องอ่านคำฟ้องอธิบายฟ้องให้จำเลยรับทราบว่าโจทก์ฟ้องว่าอย่างไร และจำเลยจะให้การอย่างไร ศาลจะต้องบันทึกไว้

"ขั้นตอนต่อไป ถือว่าจำเลยอยู่ในอำนาจของศาล และศาลต้องมีคำสั่งในการปล่อยตัวชั่วคราว หรือกักขังจำเลย ถ้าผ่านขั้นตอนนี้ ศาลจะกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐาน เมื่อศาลกำหนดวันนัด คู่ความของทั้งสองฝ่ายจะต้องยื่นบัญชีระบุพยานล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนถึงวันนัดตรวจพยานหลักฐานว่าแต่ละฝ่ายมีหลักฐานอะไรบ้าง ทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุที่จะนำเสนอต่อศาล"

"ถ้าวันนัดตรวจพยานหลักฐาน พยานฝ่ายจำเลยไม่มาก็ไม่เป็นอะไร สามารถดำเนินการตรวจต่อไปได้ เพราะผ่านกระบวนการนัดพิจารณาครั้งแรกแล้ว ถือว่าจำเลยมาแล้ว แต่ในการตรวจพยานหลักฐาน หรือการไต่สวนพยาน ศาลมีอำนาจพิจารณาลับหลังจำเลยได้"

ส่วนการออกนอกประเทศนั้น "สุรศักดิ์" กล่าวหนักแน่นว่า "เมื่อศาลสั่งประทับฟ้องแล้ว ถ้าจำเลยจะออกไป ก็คงอยู่ในดุลพินิจของศาลเพราะศาลประทับฟ้องแล้ว"


อย่างไรก็ตาม มีเสียงจากทีมทนายความ "ยิ่งลักษณ์" ยืนยันว่า ในการพิจารณาคดีครั้งแรก อดีตนายกฯจะปรากฏตัวต่อหน้าศาลแน่นอน ไม่มีหลบหนี


เมื่อพลิกแผนสู้คดีของอดีตนายกฯหญิง พบว่าจะใช้ทีมทนายความชุดเดิมที่มี "พิชิต ชื่นบาน" อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ดูแลในภาพรวมในการสู้คดี โดยมีลูกทีม 3 คน ที่ช่วยวางแผนอยู่เบื้องหน้าประกอบด้วย นรวิชญ์ หล้าแหล่ง-เอนก คำชุ่ม-สมหมาย กู้ทรัพย์ และมีทีมงานที่อยู่เบื้องหลังอีกจำนวนหนึ่ง โดยทีมทนายมีการเตรียมแผนสู้คดีที่เซฟเฮาส์ ละแวกใกล้กับบ้านพักของ "ยิ่งลักษณ์" ในซอยโยธินพัฒนา 3 และจะโยกไปที่โรงแรมเอสซีปาร์ค หากต้องหารือกับ "ยิ่งลักษณ์" ถึงแผนการต่อสู้

แม้ทีมทนายชุดนี้ถูกมองว่าไม่เคยว่าความชนะ แต่ฝ่ายยิ่งลักษณ์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็เข้าใจว่าเป็นการต่อสู้ในเกมของฝ่ายตรงข้าม การชนะคดีย่อมเป็นไปได้ยาก จึงยังใช้บริการอยู่


และในการสู้คดีในชั้นศาลนั้น ทางทีมทนายได้วางตัว "สมหมาย กู้ทรัพย์" ว่าความในชั้นศาล เพราะตามโปรไฟล์สมหมาย มีความถนัดในศาลมากกว่านรวิชญ์ และยังเคยว่าความมาแล้วหลายคดี เช่น คดี 2 ล้านล้าน-คดีโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ-คดี "ว.5 โฟร์ซีซั่นส์" ที่ยิ่งลักษณ์ ยื่นฟ้อง มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท

ขณะเดียวกันยังมีทีมเสริมเป็นอดีตรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวคอยให้ข้อมูลประกอบด้วย นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีต รมว.พาณิชย์-กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี-วราเทพ รัตนากร อดีต รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.เกษตรฯ-ยรรยง พวงราช อดีต รมช.พาณิชย์

อย่างไรก็ตาม การสู้ศึกในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แหล่งข่าวจากทีมทนายระบุว่าจะยื่นบัญชีพยาน เป็นพยานบุคคลจำนวน 18 ปาก ซึ่งมีทั้งอดีตข้าราชการ พ่อค้าข้าว รวมถึงมีพยานเอกสารต่าง ๆ ประกอบ

ขณะที่ฝ่ายอัยการสูงสุด เตรียมพยานบุคคลไว้จำนวน 13 ปาก พร้อมพยานเอกสาร ซึ่งอัยการสูงสุดมั่นใจในพยานว่าจะมัดความผิดของอดีตนายกฯได้

แต่สุดท้าย อดีตนายกฯจะรอดพ้นจากบ่วงความผิดหรือไม่ อยู่ที่การพิจารณาขององค์คณะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้ง 9 คน


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์