ไพบูลย์ เร่งส่ง 40 รายชื่อผู้ต้องหาหนีคดี ม.112 ให้กต.

ไพบูลย์ เร่งส่ง 40 รายชื่อผู้ต้องหาหนีคดี ม.112 ให้กต.


เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่กระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานเกี่ยวกับการติดตามตัวผู้ต้องหากระทำความผิดมาตรา 112 กล่าวถึงการดำเนินการกับกลุ่มที่ยังเคลื่อนไหวกระทำความผิด เช่น เครือข่าย “บรรพต” ที่ถูกจับกุมได้ก่อนหน้านี้ว่า ขณะนี้ทุกหน่วยงาน ต่างทำหน้าที่ของตัวเองในส่วนที่เคลื่อนไหวอยู่ต่างประเทศ ยกตัวอย่างของ "ตั้ง อาชีวะ" ยอมรับว่า การนำกลับมาดำเนินคดีคงเป็นเรื่องยาก เพราะแต่ละประเทศมีเงื่อนไขและข้อจำกัดของกฎหมายต่างกัน แต่สิ่งที่ไทยต้องการคือการสะท้อนให้ต่างประเทศรู้ถึงความรู้สึกของคนไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทำฐานข้อมูลของผู้กระทำผิด เพื่อรวบรวมให้กระทรวงต่างประเทศช่วยประสานประเทศต่างๆ ที่มีเบาะแสว่า บุคคลเหล่านี้ใช้เป็นที่พำนักหรือเคลื่อนไหว จะได้รับทราบข้อมูลและมีหลักฐานแสดงให้เห็นชัดเจนว่า บุคคลเหล่านี้มีพฤติการณ์เคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง โดยฝ่ายปราบปรามมีหน้าที่ต้องหาหลักฐานข้อเท็จจริง วันเวลา พฤติการณ์และข้อหาในการกระทำผิดเพื่อรวบรวมเป็นหลักฐานส่งให้กระทรวงต่างประเทศ

ล่าสุดกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้รายงานข้อมูลผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับฐานกระทำผิดตามมาตรา 112 จำนวน 40 คนที่เคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศ ให้ตนรับทราบ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนคือ ส่งข้อมูลให้กระทรวงต่างประเทศไปทำความเข้าใจกับประเทศปลายทาง และแจ้งว่าไทยต้องการได้ตัวบุคคลเหล่านี้กลับมาดำเนินคดีตามกฎหมายไทย ซึ่งที่ผ่านมาไทยดำเนินการในลักษณะดังกล่าวน้อยมา

หลักฐานที่กระทรวงต่างประเทศจะส่งให้ประเทศที่คนกลุ่มนี้เคลื่อนไหวอยู่ จะมีการระบุอย่างชัดเจนว่า เป็นใคร อยู่ที่ไหน กระทำความผิดอย่างไร เพื่อให้เห็นว่า ไทยมีหลักฐานและไม่สบายใจที่มีการเคลื่อนไหวและอยากได้ตัวกลับมารับโทษตามกฎหมาย” รมว.ยุติธรรมกล่าว

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ส่วนการจับกุมนายกฤษณ์ บุดดีจีน ผู้ต้องหากระทำผิดมาตรา 112 และความผิดความตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณีเผยแพร่แถลงการณ์ปลอมซึ่งมีการมองว่า เป็นเพราะบุคคลดังกล่าว เป็นกลุ่ม นปช. จึงถูกจับกุมตัวนั้นยืนยันว่าการดำเนินการเอาผิดกับบุคคลที่เผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสม ต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นสื่อ หรือบุคคลทั่วไปแต่ได้รับบทลงโทษระดับใดเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่ต้องพิจารณาถึงเจตนา แต่ย้ำว่าใครเป็นผู้เผยแพร่กฎหมายก็ต้องเอาผิดโดยไม่เลือกปฏิบัติต้องเป็นไปตามหลักของกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กรณีผู้ต้องหาระบุเป็นเพียงผู้โพสต์ข้อความเท่านั้น ตนยอมรับว่าผู้ต้องหารายดังกล่าว อาจไม่ใช่ผู้เริ่มต้น แต่ก็เป็นผู้โพสต์อันดับต้นๆ ดังนั้นจะเป็นแนวทางในการสอบสวนให้รู้ถึงต้นตอ ว่ามาจากที่ใด การจะเชื่อมโยงว่าเป็น นปช.จึงถูกจับกุมเป็นคนละประเด็น ไม่ใช่ถูกจับกุมเพราะเป็น นปช. การดำเนินการดังกล่าวต้องการให้รู้ว่าใครเป็นผู้ทำซึ่งผลการสอบเบื้องต้นระบุว่าผู้ต้องหาเป็นผู้รับข้อมูลระดับต้นซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเชื่อมโยงข้อมูลให้ถึงตัวต้นตอได้เร็วขึ้น


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์