ชี้รัฐขาดความชัดเจนปฏิรูปสื่อ มุ่งแก้เฉพาะหน้าไม่ดูภาพรวม

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)


จังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดทำแผนแม่บทส่งเสริมและพัฒนาการใช้ทรัพยากรสื่อสารมวลชน เพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง กล่าวในรายการ "คมคิดสื่อ" ทางสถานีวิทยุเอฟ.เอ็ม. 96.5 คลื่นความคิดของ อสมท. วันนี้ (26 พ.ค.) ว่า การปฏิรูปสื่อของไทยยังห่างไกลไม่ทันกระแสโลกาภิวัตน์หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย

ทั้งนี้ การปฏิรูปต้องมองที่โครงสร้างให้สื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือการศึกษาอย่างแท้จริง ต้องมีแนวคิดจัดการทรัพยากรในเรื่องความถี่ให้เสมอภาค ยึดประโยชน์สาธารณะบนพื้นฐานสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน

อดีต ส.ว.อุบลราชธานี กล่าวต่อว่า


ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่ากฎหมายสื่อมวลชนไทยยังล้าหลัง ไม่ทันต่อเทคโนโลยีและอิทธิพลของทุนหรือกลุ่มการเมืองที่เข้ามาครอบงำแทรกแซงสื่อ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องคลี่ปม และทำให้เห็นผลในทางปฏิบัติ

โดยไม่กำหนดให้รัฐบาลทำงานเพียงฝ่ายเดียว

แต่ให้ทุกคนในสังคมเข้ามาช่วยกันคิดช่วยกันทำ ร่วมเป็นเจ้าของ และต่อไปรัฐบาลใดเข้ามาก็จะไม่สามารถเข้ามาอ้างสิทธิในการเข้ามาจัดการโดยลำพังได้

ประธานคณะกรรมการจัดทำแผนแม่บทส่งเสริมและพัฒนาการใช้ทรัพยากรสื่อสารมวลชนฯ กล่าวอีกว่า


อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าภาครัฐยังมีการทำงานที่ยังไม่มีเอกภาพ เช่น มีการตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมายการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์

โดยนายกรัฐมนตรี พร้อมกับที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาการรวมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคม (กสทช.) แสดงถึงการไม่ได้มองภาพรวม ไม่บูรณาการหลักคิด โครงสร้าง การทำงาน กฎหมายที่รองรับ รวมถึงคนและงบประมาณ


ถ้าไม่คิดทั้งหมดให้เป็นเรื่องเดียวกันอย่างเป็นระบบ


ก็จะเกิดการตั้งคณะกรรมการที่กระจัดกระจาย เช่น ตั้งคณะกรรมการแผนแม่บท แล้วก็ไปตั้งคณะกรรมโทรทัศน์ดาวเทียม คณะกรรมการทีไอทีวี แล้วก็คณะกรรมการบูรณการเกี่ยวกับนโยบายการปฏิรูปสื่ออีก

แสดงให้เห็นถึงการไม่ได้คิดก่อนว่าถ้าจะปฏิรูปสื่อจะทำอะไรบ้าง

มุ่งแต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อไม่ได้คิดเชิงโครงสร้าง ก็ทำให้เกิดการทำงานที่กระจัดกระจาย มีคณะกรรมการมากมาย ทำงานทับซ้อนคาบเกี่ยวกัน นพ.นิรันดร์ กล่าว

ประธานคณะกรรมการจัดทำแผนแม่บทส่งเสริมและพัฒนาการใช้ทรัพยากรสื่อสารมวลชนฯ กล่าวด้วยว่า

ตนไม่แน่ใจว่าการปรับตัวของรัฐที่จัดให้มีคณะกรรมการกลางขึ้นมาดูภาพรวมนั้นจะทำได้สำเร็จมากน้อยเพียงใด เพราะรัฐบาลเหลือเวลาทำงานน้อยมาก ในขณะที่การปฏิรูปเป็นสิ่งที่ต้องไล่มาตั้งแต่ต้นและขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งระบบ

ไม่ว่าจะเป็นกลไกของรัฐ ข้าราชการ นักวิชาการ

ที่สำคัญ การเมืองต้องชัดเจน ถ้ายังเป็นลักษณะประนีประนอมแล้วพูดให้สังคมเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องของการสมานฉันท์ ไม่ชัดว่าจะยึดหลักอะไรด้านใดด้านหนึ่ง ก็ยากที่จะทำให้คนที่เข้ามาทำงานเกิดจิตสำนึกของรับผิดชอบร่วมกัน

ความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่การตั้งคณะกรรมการ


แต่อยู่ที่กรรมการจะต้องมีข้อสรุปในเชิงของการนำไปสู่การทำงานที่ให้ทันในระยะเวลาของรัฐบาลชุดนี้ ที่เป็นความหวังว่ามีอำนาจพิเศษในการจะทำสิ่งที่ชอบธรรมได้รวดเร็วและไม่มีผลประโยชน์ทางการเมือง

แต่ระยะหลังก็กลับเกิดความมีปัญหาระหว่างรัฐบาลกับ สนช.

ตลอดจนคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) รวมถึงรัฐบาลกับสื่อเอง เพราะความไม่ชัดเจนทางยุทธศาสตร์ว่าจะไปในทิศทางใด สื่อสารมวลชนจึงไม่สามารถรับใช้การทำงานของรัฐบาลเองได้ แม้แต่ข้าราชการก็ต้องเกียร์ว่าง เพราะมองว่ารัฐบาลนี้อยู่ไม่นาน ตรงนี้ทำให้พลาดโอกาส เพราะการไม่ทำงานให้เป็นระบบ และคงต้องเหนื่อยกันอีกมาก นพ.นิรันดร์ กล่าว


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย:

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์