4ปมเสี่ยงทำรัฐนาวา ‘บิ๊กตู่’ ล่ม

4ปมเสี่ยงทำรัฐนาวา ‘บิ๊กตู่’ ล่ม


ในปี พ.ศ. 2557 อุณหภูมิการเมืองไทยร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง จากการลุกฮือต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม


4ปมเสี่ยงทำรัฐนาวา ‘บิ๊กตู่’ ล่ม
หวั่นตามใจ‘แป๊ะ’จนไม่ถูกต้อง
มองข้ามหัวประชาชน

ในปี พ.ศ. 2557 อุณหภูมิการเมืองไทยร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง จากการลุกฮือต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และเรียกร้องให้มีรัฐบาลเฉพาะกาล สังคมการเมืองไม่มีทางออก จนต้องมีการปฏิวัติรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 22 พ.ค. 57 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ได้ประกาศยึดอำนาจโดยจัดตั้ง “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” คสช.ขึ้นมาดูแลสถานการณ์เป็นการเฉพาะ และได้ออกกฎหลายข้อเพื่อ “ปิดช่องโหว่” ไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหว ทั้งการเคลื่อนไหวชุมนุมและการแสดงออกซึ่งความเห็นผ่านสื่อมวลชน โดยการใช้ประกาศ และคำสั่ง คสช.หลายฉบับในการควบคุมไม่ให้มีการเคลื่อนไหว และการคงกฎอัยการศึกไว้เพื่อให้ทหารเข้าคลี่คลายสถานการณ์ได้ทันทีที่มีเหตุใด ๆ

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของการปฏิวัติรัฐประหารรอบนี้เป็นการ “คืนความสุข” ให้ประชาชน ว่า ทหารเข้ามาเพื่อแก้ปัญหา โดยอาศัย โรดแม็พ 3 ขั้นตอน หลักการที่สำคัญคือ ยุติความขัดแย้ง ออกรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาเพื่อให้มีกฎหมายแม่บทในการบริหารประเทศไปในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ จัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณากฎหมายที่มีความจำเป็นเร่งด่วน จัดตั้ง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อทำข้อเสนอสำหรับปฏิรูปในเรื่องสำคัญ 11 ด้าน และจัดตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

กรอบเวลาสำคัญของการปฏิรูป คือการยกร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ โดยมีการกำหนดเวลาการยกร่างไว้ในตัวรัฐธรรมนูญ สามารถกำหนดได้ว่า ช่วงเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญ และต้องผ่านความเห็นชอบจากฝ่ายต่าง ๆ จนถึงขั้นประกาศใช้ได้ ต้องอยู่ในราวช่วงเดือน ก.ย. 2558

และจากนั้น จะเข้าสู่กระบวนการร่างกฎหมายลูกประกอบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยคาดว่า น่าจะแล้วเสร็จและ จัดการเลือกตั้งได้ประมาณเดือน ก.พ. 2559

เงื่อนไขและองค์ประกอบที่มีผลกระทบต่อการทำงานรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะประกอบด้วยปัจจัย 4 ประการคือ 1. ผลจากการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ หลังจากตัวเลขต่าง ๆ ในปี 2557 ไม่ดีเลย อัตราการเจริญเติบโตไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยความวุ่นวายทางการเมือง ตั้งแต่ช่วงต้นปี ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาลง ทำให้การส่งออกได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆพืชผลการเกษตรมีราคาตกตํ่า โดยเฉพาะข้าวและยางพารา ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจบ้านเราอย่างจัง

ในปี 2558 รัฐบาลเตรียมเดินหน้าผลักดันโครงการใหญ่อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเปิดประมูลก่อสร้างระบบขนส่ง โครงการบริหารจัดการน้ำ ทำให้เกิดการจ้างงานมหาศาล หวังกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจโดยใช้งบประมาณภาครัฐ ทำให้เห็นผลในช่วงไตรมาส 2 เพื่อทำให้คนยอมรับการทำงานของฝ่ายบริหาร

2. กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามเงื่อนเวลาในวันที่ 6 ส.ค. 58กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะส่งร่างกฎหมายให้ สปช. ให้ความเห็นชอบ ซึ่งในระหว่างนั้น เมื่อร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกเปิดตัว อาจจะมีความเคลื่อนไหวจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะ “กลุ่มอำนาจเก่า” ที่พยายามกดดันไม่ให้มีเงื่อนไขกระทบกับตนเองทั้งในรูปแบบการเลือกตั้ง การทำงานขององค์กรอิสระ และอำนาจฝ่ายบริหาร รวมถึงเรียกร้องให้กำหนดบทบัญญัติ “นิรโทษกรรม” ไว้ในกฎหมายแม่บทด้วย

ขณะที่อีกฝ่ายที่ต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็น “ยาแรง” มีการกำหนดเนื้อหาอย่างเข้มข้น ป้องกันนักการเมืองใช้อำนาจเลยเถิด หวังสกัด “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” และเครือข่าย โดยอาศัยช่องที่รัฐธรรมชั่วคราวมาตรา 35 ตีกรอบในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไว้ เนื้อหาการตีกรอบที่สำคัญ อยู่ที่ต้องมี (4) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคําพิพากษาหรือคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทําการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทํา การอันทําให้การเลือกตั้งไม่สุจริต หรือเที่ยงธรรม เข้าดํารงตําแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด

(5) กลไกที่มีประสิทธิภาพที่ทําให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมือง สามารถปฏิบัติหน้าที่หรือดําเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ ปราศจากการครอบงําหรือชี้นําโดยบุคคลหรือคณะบุคคลใด ๆ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ (7) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้เกิดความ เป็นธรรมอย่างยั่งยืน และป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่ง สร้างความนิยมทางการเมือง ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว

ประเด็นเหล่านี้ทำให้นักการเมืองบางกลุ่มหวั่นวิตกมากขึ้นและถ้ามีข้อกำหนดให้มีกระบวนการทำประชามติกับร่างรัฐธรรมนูญ อาจมีการระดมความคิดเห็นเพื่อหวังนำมาสู่การไม่ยอมรับกฎกติกาที่บัญญัติไว้ หรือการก่อคลื่นใต้น้ำต่อต้านในวิธีต่าง ๆ ยิ่งทำให้เป็นปัญหามากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของรัฐบาลและ คสช.

3. กระบวนการตรวจสอบการทุจริต โดยเฉพาะ “โครงการรับจำนำข้าว” ของรัฐบาล “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังตรวจสอบอยู่

พล.อ.ประยุทธ์ ออกมายืนยันว่า จากที่คณะทำงานตรวจสอบปริมาณและคุณ ภาพข้าวรายงานมา มีข้าวในสต๊อกรัฐบาลรวม 17.8 ล้านตัน ที่สามารถระบายได้ประมาณ 14.4 ล้านตัน ที่เหลือบางส่วนเป็นข้าวหายและข้าวไม่มีคุณภาพที่ต้องกำหนดแนวทางดำเนินการที่เหมาะสม ขณะเดียวกันก็ต้องดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องที่สร้างความเสียหายด้วย

“ในส่วนของคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวได้รายงานผลปิดบัญชีเบื้องต้นว่า โครงการรับจำนำที่ผ่านมา รวม 15 โครงการ ทำให้รัฐขาดทุนแล้วรวม 6.8 แสนล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินจำนวนนี้จะต้องนำไปใช้พิจารณาถึงความเหมาะสมต่อแผนการช่วยเหลือชาวนาในอนาคต” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้สำเร็จการอบรมหลักสูตร “นักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง” (นยปส.) รุ่นที่ 5 จำนวน 72 คน ก็ได้ระบุว่า ปัญหาที่เรากำลังศึกษากันอยู่ คือ การฉ้อราษฎร์บังหลวง ที่ยังมีอยู่มากในประเทศของเรา ยังแก้ไขให้หายไปหรือให้มีน้อยลงไม่ค่อยประสบความสำเร็จ หรือประสบความสำเร็จแต่น้อยมาก เพราะต่างคนต่างคิดว่าไม่ใช่ธุระของเขา ใครโกงอย่างไรเป็นเรื่องของคนนั้น ไม่ใช่เรื่องของคนที่ไม่โกง

“บางคนบอกไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง ใครมีหน้าที่ก็ทำไป บางคนบอกว่าจะไปเพาะศัตรูทำไม อยู่เฉย ๆ ดีแล้ว อันนั้นเป็นความคิดที่แย่มาก ใครคิดอย่างนั้นถือว่าไม่ร่วมมือกันพัฒนาชาติ หรืออาจจะพูดว่าไม่รักชาติก็ได้”

นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ก็ออกมาให้ความเห็นด้วยเช่นกันว่า แม้จะมีการร่างรัฐธรรมนูญให้ดีอย่างไร แต่ถ้าหากนักการเมืองยังทำตนเป็น “ศรีธนญชัย” คนยังหาช่องทำผิดหรือพยายามทุจริตคอร์รัปชั่น ก็แก้ไขยาก

แต่กระบวนการตรวจสอบการทุจริต หากมีผลกระทบกับใครบางคน โดยเฉพาะหากมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ยิ่งอาจทำให้ผู้รับ
ผิดชอบ หาช่องทางปลุกระดมมวลชนไม่ให้การยอมรับ และอาจนำไปถึงการต่อต้านรัฐบาลได้

4. ปัญหาความขัดแย้งภายใน คสช. ทั้งจากปัญหาความขัดแย้งในทีมเศรษฐกิจ ระหว่าง “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” กับ “นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ที่ปรึกษา คสช. อาจส่งผลให้คนใดคนหนึ่งต้องเปิดหมวกอำลาตำแหน่งที่รับผิดชอบ จนส่งผลกระทบกับภาพลักษณ์ฝ่ายบริหาร

นอกจากนี้ยังมีข่าว คนบางกลุ่มอยู่ในขั้วอำนาจเดียวกับ คสช. ต้องการผลักดัน “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะ “พี่ใหญ่” ของ “บูรพาพยัคฆ์” ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อจาก“บิ๊กตู่” เพื่อตอบแทน และทำตามฝันของ “บิ๊กป้อม” ทำให้คนบางกลุ่มไม่พอใจ เพราะวิตกในเรื่องความมากใน “คอนเนคชั่น” กับนักการเมืองค่ายต่าง ๆ ของพี่ใหญ่ใน “บูรพาพยัคฆ์” จนกระทบกับกระบวนการตรวจสอบ

ยิ่งถ้าหากมีสัญญาณการสืบทอดอำนาจ ออกมาจาก คสช. จะเป็นตัวเร่งเร้าให้เกิด “วิกฤติศรัทธา” กับผู้คุมอำนาจในปัจจุบันมากขึ้น

ดังนั้น 4 ปัจจัยหลักดังที่กล่าวมา อาจมีผลกระทบการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์และเครือข่าย แม้ว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในฐานะ “มือกฎหมายคนสำคัญของรัฐบาล” จะเคยออกมาพูดว่า “วันนี้ทุกคนลงเรือลำเดียวกันแล้ว เหมือนคำโบราณที่ว่า ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ ไม่เช่นนั้นจะถูกแป๊ะไล่ลงจากเรือ”

แต่อย่าลืมว่า ถ้าหาก “แป๊ะ” ทำอะไรที่สวนทางกับความถูกต้อง และประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ ทีมงานของแป๊ะอาจถูกตะเพิดออกจากเรือ และเปลี่ยน “ต้นหน” คนใหม่มาคุมเรือแทนได้เหมือนกัน.


4ปมเสี่ยงทำรัฐนาวา ‘บิ๊กตู่’ ล่ม


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์