บิ๊กตู่’เล็งตรวจภัยแล้งอีสาน แดงขอนแก่นยินดีอ้าแขนรับ

บิ๊กตู่’เล็งตรวจภัยแล้งอีสาน แดงขอนแก่นยินดีอ้าแขนรับ

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

สั่งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) เตรียมลงพื้นที่ต่างจังหวัด เบื้องต้นกำหนดวันที่ 19 พฤศจิกายน ลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น และจ.กาฬสินธุ์ เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะภัยแล้ง รวมถึงชี้แจงการทำงานในโครงการต่างๆของรัฐบาล

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวในเรื่องนี้ว่า กระทรวงมหาดไทยจะลงพื้นที่พร้อมนายกรัฐมนตรี
 
เพราะมีส่วนรับผิดชอบร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)ที่ได้เตรียมการเรื่องนี้มานาน โดยหาข้อมูลเรื่องน้ำ พื้นที่ที่น่าจะประสบภัยแล้ง รวมถึงเตรียมการเรื่องเครื่องมือ การประสานงานและการจัดแผนงานเพื่อลงพื้นที่ช่วยเหลือ ขณะนี้เริ่มแก้ไขปัญหาบางส่วน อาทิ ปัญหาเกี่ยวกับน้ำบาดาล แหล่งเก็บน้ำต่างๆ นอกจากนี้ จะไปดูการทำงานของศูนย์ดำรงธรรมช่วงที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะตอบสนองสังคมได้ดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเมินว่าจะเจอกระแสต่อต้านขณะลงพื้นที่หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เรายืนอยู่บนจุดที่เห็นต่างกันได้
 
แต่ต้องไม่นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง แล้วเกิดความไม่สงบ มันสูญเสียกันทุกคน ประเทศเสียโอกาสที่จะพัฒนาทุกเรื่อง ทุกคนก็เห็นอยู่ อย่างไรก็ตาม คิดว่าขณะนี้ทุกคนเข้าใจ เพราะการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ต้องอยู่บนพื้นฐานความสงบเรียบร้อย ฉะนั้นการทำอะไรที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งลุกลาม ทุกคนคงไม่เห็นด้วย เพราะเคยมีบทเรียนมาแล้ว

มีความเห็นจากนายนภดล สีดาทัน แกนนำและทนายความของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ขอนแก่น

กรณีที่นายกฯเลือกจะลงพื้นที่จ.ขอนแก่น รับฟังปัญหาประชาชนจังหวัดแรกว่า พวกเรากลุ่มคนเสื้อแดงเห็นดีด้วย โดยทางกลุ่มฯจะไม่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน หรือออกมาประท้วงเด็ดขาด อยากเห็นความปรองดองเหมือนกัน พวกเราก็ยังอยู่อย่างปกติ อยากให้บ้านเมืองปกติ กลุ่มคนเสื้อแดงก็รอให้มีรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ฉะนั้น สบายใจได้ไม่มีการออกมาคัดค้านต่อต้านประท้วงนายกฯระหว่างลงพื้นที่แน่นอน

ขณะที่นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทานและสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.)กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ว่า
 
ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศมีน้อยมากเกือบทุกแห่ง ซึ่งทุกคนต้องยอมรับความจริงและเข้าใจธรรมชาติ หาทางแก้ไขให้สอดคล้องกับธรรมชาติทั้งน้ำท่วมน้ำแล้ง และปัญหาที่สำคัญการจัดการเรื่องน้ำแล้งคือ ปัญหาในพื้นที่ ซึ่งจริงๆแล้วต้องให้แต่ละท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพในการบริหารการส่งน้ำ ไม่ใช่ให้ข้าราชการตั้งงบประมาณกันไป แต่ละหน่วยงานถึงวุ่นวายกันอยู่อย่างนี้ ส่วนการแก้ปัญหาของกรมชลประทานที่ห้ามชาวนาทำนาปรัง แล้วจ้างไปขุดลอกคูคลอง ควรมีความชัดเจน วัตถุประสงค์ของการขุดลอกคือให้น้ำไหลเร็วซึ่งตอนนี้คลองก็ไม่มีน้ำ อย่าคิดว่าเอาแค่จ่ายเงินไปให้เงินหมด ให้เวลามันผ่านไป

ทั้งนี้ ไม่อยากพูดว่า คิดได้อย่างไรเรื่องจ้างงานชาวนา ทั้งที่การจัดการภัยแล้งสามารถป้องกันล่วงหน้าได้
 
โดยอบต.แต่ละหมู่บ้านขุดบ่อน้ำประจำหมู่บ้าน ไว้กินใช้ แบ่งส่วนไว้ทำนาปลูกพืช แต่ก็ไม่เคยสำเร็จ เพราะฝ่ายราชการไม่เข้าใจการแก้ปัญหา ถ้าปีไหนจังหวัดประกาศเป็นเขตภัยแล้ง ผู้ว่าราชการจังหวัดก็จะได้งบประมาณฉุกเฉินทันที 50ล้านบาท ซึ่งตนก็ไม่รู้ว่าเอาไปทำอะไรบ้าง อีลุ่ยฉุยแฉกหมด เห็นก็แต่ขนน้ำไปแจกชาวบ้าน ที่จริงวิธีการคิดแก้ปัญหาไม่ได้ซับซ้อน แต่การขับเคลื่อนต้องหาคนเข้าใจพร้อมลงมือปฎิบัติ


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์