ณัฐวุฒิ ปัดร่วมวงประชุม กมธ.ยกร่าง รธน.

ณัฐวุฒิ ปัดร่วมวงประชุม กมธ.ยกร่าง รธน.

"ณัฐวุฒิ" ปัดร่วมวงประชุม กมธ.ยกร่าง รธน. - ค้าน "อภิรัฐมนตรี" อยู่เหนือประชาชน

จากกรณีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เชิญแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ไปให้ความเห็นเรื่องการยกร่าง รธน. ในวันที่ 21 พ.ย.นี้ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุคขอสงวนสิทธิ์ไม่เข้าร่วมวงประชุมกับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันไม่ขวางการปฏิรูปและให้ความร่วมมือฝ่ายความมั่นคงในการเชิญไปพูดคุยตลอด แต่ได้แสดงความเห็นว่าขออย่าให้รัฐธรรมนูญนี้มี"อภิรัฐมนตรี" รวมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า ฝ่ายที่เคยสนับสนุนรัฐธรรมนูญ 2550 จำนวนไม่น้อย กลับสนับสนุนการฉีกร่างรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน และสิ่งที่น่าเศร้าคือ นักกฎหมายที่เคยร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เป็นคนกลุ่มเดียวกันกับที่ร่วมคิดร่วมทำในการฉีกรัฐธรรมนูญ และกำลังจะเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญใหม่

"ความคิดที่ประกอบชอบด้วยเหตุผลแล้วตรงกันเป็นเอกภาพคือความงามในระบอบประชาธิปไตย แต่ความคิดที่แตกต่างด้วยความเคารพและเข้าใจในเหตุผลของกันและกันก็เป็นความงามอีกแบบหนึ่ง โดยส่วนตัวผมขอสงวนสิทธิ์ไม่เข้าร่วมวงประชุมกับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งในฐานะแกนนำนปช.และสมาชิกพรรคเพื่อไทย

ยืนยันว่าไม่มีความคิดเคลื่อนไหวให้เป็นอุปสรรคหรือขัดขวางภารกิจปฏิรูปที่กำลังดำเนินการอยู่ที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงเชิญไปพูดคุยขอความเห็นก็ให้ความร่วมมือมาตลอด เข้าใจตรงกันนะ

แต่ถึงกระนั้นเท่าที่เห็นข่าวก็มีบางประเด็นที่อยากแสดงความเห็น ขออย่าให้รัฐธรรมนูญนี้มี"อภิรัฐมนตรี"มาอยู่เหนืออำนาจอธิปไตยของประชาชน ขออย่าร่างรัฐธรรมนูญภายใต้หลักคิด"ยากในการแก้แต่ง่ายต่อการฉีก"

ขอให้มีบทบัญญัติให้อำนาจ"สภาเลือกตั้ง" ตรวจสอบและถอดถอน "สภาลากตั้ง" ชุดนี้ได้ไม่ใช่เข้ามาทำโน่น นั่น นี่ แล้วจากไปโดยไม่ต้องรับผิดชอบ

ผมปรารถนาจะเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยึดหลักการประชาธิปไตยและปกป้องเกียรติยศศักดิ์ศรีของประชาชนให้เราเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย

สิ่งที่น่าประหลาดคือประชาชนกลุ่มที่ไม่ยอมรับที่มาและลงประชามติไม่รับรัฐธรรมนูญ ๕๐ เป็นกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวและพยายามทุกวิถีทางไม่ให้มีการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับนั้น

ที่ประหลาดไปกว่านั้นคือประชาชนกลุ่มที่สนับสนุนและลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ๕๐ จำนวนไม่น้อยสนับสนุนการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน และสิ่งที่น่าเศร้าคือ นักกฎหมายใหญ่หลายคนในบ้านเมืองที่เคยร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ๕๐ เป็นคนกลุ่มเดียวกันกับที่ร่วมคิดร่วมทำในการฉีกรัฐธรรมนูญ และกำลังจะเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกฉบับหนึ่ง"

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์