ปปช.จัดหนักโชว์ผลงาน แฉ2ปียุค‘ปู’ พบโกงสะพัด3แสนล้าน

ปปช.จัดหนักโชว์ผลงาน แฉ2ปียุค‘ปู’ พบโกงสะพัด3แสนล้าน

ความคืบหน้ากรณี สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

เข้าดำเนินการตรวจสอบโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลที่ได้รับงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) งบแปรญัตติปี 2555 ใน 16 จังหวัด 358 โรงเรียน รวม 689 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มีการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานและราคาแพงเกินจริง รวมทั้งอาจเข้าข่ายการทุจริต ตามที่มีการเสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม เครือข่ายกรรมการป้องกันและปราบกรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภาคประชาชน
 
ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบสนามฟุตซอล ของโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) อุตรดิตถ์ เขต 1 ที่ได้รับงบประมาณก่อสร้าง 40 แห่ง และของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อีก 14 แห่ง

ทั้งนี้จากการตรวจสอบโรงเรียนบ้านปางต้นผึ้ง หมู่ 10 ต.บ้านด่านนาขาม อ.เมืองอุตรดิตถ์

พบว่า โรงเรียนแห่งนี้ถูกปิดตายมานานกว่า 1 ปีครึ่ง แต่กลับมีการสร้างสนามฟุตซอลให้ด้วย แถมยังถูกสร้างทับกับพื้นที่ของสนามบาสเกตบอล โดยอยู่ในสภาพมีสีซีด กรอบ ด้านข้างสนามทั้ง 4 ด้าน มีหญ้าและวัชพืชขึ้นปกคลุม กลางสนามบางจุดก็มีหญ้าขึ้นแทรกเป็นจุดๆ เสาประตู และตาข่ายทั้ง 2 อัน ถูกย้ายไปไว้บนสนามหญ้ากลางโรงเรียนเพื่อใช้แทนเสาประตูฟุตบอล

ขณะที่อดีตกรรมการโรงเรียนปางต้นผึ้ง ให้ข้อมูลว่า โรงเรียนไม่เคยขอสนามฟุตซอลมาก่อน เพราะมีนักเรียนเพียง 17 คน
 
แต่ สพป.อุตรดิตถ์ เขต 1 ขอให้สร้างเลยไม่รู้จะทำอย่างไร จึงต้องยอมรับไว้ แรกๆ ก็พอมีนักเรียนเล่น แต่แค่เดือนเดียวก็ไม่เล่นอีกเพราะล้มแล้วได้รับบาดเจ็บ จึงยกประตูมาไว้ที่สนามหญ้าแทน
นายธีรพงษ์ ศรีเดช ตัวแทนเครือข่ายกรรมการป้องกันและปราบกรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภาคประชาชน กล่าวว่า จะมอบหลักฐานทั้งหมดแก่ ปปท. สตง. และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อทำการตรวจสอบ เพราะมั่นใจว่าโครงการนี้น่าจะมีการทุจริตแน่นอน รวมทั้งกรณีสนามฟุตซอลโรงเรียนบ้านปางต้นผึ้งที่สร้างทับสนามบาสเกตบอล ซึ่งถูกขึ้นบัญชีเป็นทรัพย์สินของโรงเรียนไว้แล้ว และยังไม่มีการจำหน่ายออกจากบัญชี จะเป็นอีกประเด็นที่ต้องตรวจสอบเช่นกัน

ส่วนที่ จ.นครราชสีมา นายธีระศักดิ์ วิริยะกมลพันธ์ ผู้อำนวยการ สตง.ภาค 4 นครราชสีมา
 
เปิดเผยว่า การตรวจสอบสนามฟุตซอลในพื้นที่ 16 โรงเรียนของ อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ซึ่งจะทำให้เป็นโมเดลต้นแบบการตรวจสอบโครงการในพื้นที่อื่นๆนั้น ยังอยู่ในขั้นการรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ โดยกำลังรอผลการตรวจคุณภาพพื้นยางปูสนามจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ คาดว่าจะทราบผลภายในสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ สตง. ยังได้ประสานไปยังสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.นครราชสีมา เพื่อขอยืมใช้อุปกรณ์สแกนตรวจสอบพื้นคอนกรีตของพื้นสนามฟุตซอล

ส่วนการสอบปากคำครูโรงเรียนทั้ง 16 โรงเรียนกว่า 100 ราย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตรวจรับงานนั้น ใกล้จะครบถ้วนแล้ว

ขณะที่ผู้บริหารบริษัทที่ยื่นเสนอราคาทุกราย ยังไม่มีใครเข้าชี้แจงกับทางสตง.แม้แต่รายเดียว โดยมีบางรายที่ติดตามจะเข้ามาชี้แจงในวันที่ 24 ตุลาคม ซึ่ง สตง. คงต้องรอฟังคำชี้แจงก่อนว่าเป็นอย่างไร แต่ทั้งนี้หากไม่มีบริษัทใดมาชี้แจงก็ไม่มีปัญหา เพราะสตง.ก็มีพยานหลักฐานมากพอสมควรที่จะดำเนินการได้แล้ว คาดว่าจะสามารถสรุปผลการตรวจสอบได้ภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้

ขณะที่ นายปฐมฤกษ์ มณีเนตร ผ.อ.สพป. เขต 1 นครราชสีมา กล่าวถึงกรณี ปปท. เสนอให้ สพฐ. ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง

เพื่อเอาผิดทางวินัยข้าราชการครูที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลจำนวน 727 คน ว่า ตอนนี้ครูทุกคนต่างรู้สึกเป็นกังวลและเครียดมาก ซึ่งได้กำชับไปแล้วว่าให้รายงานข้อมูลไปตามข้อเท็จจริง ทั้งนี้โดยส่วนตัวรู้สึกเห็นใจครูทุกคน เพราะทุกโรงเรียนก็อยากได้สนามให้เด็กและเยาวชนในชุมชนได้เล่น ซึ่งมีประโยชน์มาก ส่วนเรื่องราคาที่ตามข้อมูลระบุว่าแพงกว่าท้องตลาดนั้น ต้องไม่ลืมว่า งบนี้เป็นงบแปรญัตติ ไม่ใช่งบปกติ

ด้าน นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นแห่งชาติ (ภตช.) กล่าวว่า
 
ภตช. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบใน จ.อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และยโสธร ไปแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบใน จ.นครราชสีมา ซึ่งเบื้องต้นพบว่าโครงการนี้ส่อไปในทุจริตอย่างเป็นกระบวนการ และมีการวางแผนเป็นระบบมาอย่างดี

ส่วนการเกี่ยวข้องของข้าราชการครูจำนวนหลายร้อยคนนั้น

 ตอนนี้มีประเด็นว่า มีบางพื้นที่เขาขอคุณลักษณะกับราคากลางมาจาก สพฐ. แต่บางพื้นที่เขาไม่ได้ขอราคากลางกับคุณลักษณะจาก สพฐ. แต่เขาได้รับเป็นแผ่นซีดีจากผู้นำงบมาลงให้ เป็นซีดีคุณลักษณะราคากลาง 3 รูปแบบ ทั้งราคา 2 ล้าน 2.5 ล้าน และ 5 ล้าน ซึ่งการนำซีดีมาให้แบบนี้หมายความว่า โรงเรียนเป็นคนหาราคากลางเอง เป็นคนทำคุณลักษณะเอง ความผิดจึงจะตกอยู่กับโรงเรียน ทั้งที่โรงเรียนอาจไม่รู้เรื่องการทุจริต

แต่บางพื้นที่ฉลาด คือ มีการขอคุณลักษณะจากส่วนกลางมา ดังนั้นความผิดก็จะมีตกอยู่ที่ สพฐ. ซึ่งเป็นคนดูแลงบประมาณในขณะนั้น
 
โดยตอนนี้เรากำลังตรวจสอบว่า ช่วงที่ก่อนการเซ็นสัญญามีผู้ใหญ่ใน สพฐ.คนใดมากำกับเพื่อให้โรงเรียนต่างๆ ดำเนินการไปตามเป้าหมายหรือไม่ ตอนนี้เรากำลังเช็คว่าเป็นใครที่มาลงพื้นที่เอง ทั้งนี้ทุกจังหวัดที่เราตรวจสิ่งที่สรุปเรื่องความเสียหายคล้ายกันหมดคือ เรื่องการฮั้ว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดเป้าหมายที่จะต้องสืบสาวราวเรื่องไปให้ถึงตัวการใหญ่ให้ได้ เราไม่ต้องการให้ความผิดดังกล่าวตกมาอยู่กับครู อาจารย์ ซึ่งเขาจะไม่มีจิตใจในการสอนนักเรียนในช่วงเทอมสอง และตนค่อนข้างผิดหวังผู้ใหญ่ในสพฐ.ที่พยายามจะปิดเกมเรื่องนี้ให้เร็วที่สุดเพื่อปิดคดี ไม่ต้องการสืบสาวราวเรื่องให้ไปถึงต้นตอที่แท้จริง ถือเป็นการรังแกช้าราชการครูชั้นผู้น้อยที่เป็นผู้สอนนักเรียน


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์