ปชช.ที่ใช้รธน.มีมากกว่าสมาชิกพรรค ซีไอเอสงค์ ฮึ่มนักเลือกตั้ง

การร่างรัฐธรรมนูญผ่านมาเกินครึ่งทางแล้ว


เนื้อหาในร่างแรกที่ออกมา ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ยับตั้งแต่ยังร่างไม่เสร็จ

โดยเฉพาะพรรคการเมือง ต่างทยอยกันออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย รวมถึงละเลยการมีส่วนร่วมของพรรคการเมือง

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ส่งกระเพื่อมไปถึงศูนย์กลางอำนาจรัฐ "พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์" นายกรัฐมนตรี ถึงกับต้องเปิดทำเนียบรัฐบาล ให้ตัวแทนพรรคการเมืองใหญ่น้อย ได้อภิปรายระบายความในใจ

ดับกระแสร้อนทางการเมือง ก่อนจะเผาไหม้ประชามติให้พังพาบลง


"น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ" ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ


แม่ทัพใหญ่ของขบวนการร่างรัฐธรรมนูญ เปิดใจถึงแรงกดดันที่รุมเร้ามาจากพรรคการเมืองไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

ฟังเสียงที่สะท้อนมาจากพรรคการเมืองแล้วกังวลว่า จะกระทบต่อกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่??

ผมก็เห็นใจ เพราะนักการเมืองที่ต้องลงเลือกตั้งตามกติกาที่วางไว้ แต่ไม่ใช่ว่าจะมาพูดแต่ผลกระทบของตัวเอง อยากจะขอร้องว่า พรรคการเมือง หรือนักการเมือง น่าจะสนใจซักถามว่า

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ประโยชน์ประชาชนมากกว่าเก่าหรือไม่ หรือได้แก้ไขในประเด็นที่ประชาชนเคยขัดข้องไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือยังขาดการมีส่วนร่วมทางการเมืองตรงไหน แต่เราไม่เคยได้ยินอะไรแบบนั้น

พรรคการเมืองนั้นอยู่กับประชาชน น่าจะตั้งคำถามว่า เฮ้ย! รัฐธรรมนูญนี่มันตัดทอนอำนาจประชาชนไปหรือไม่ แต่นี่เปล่าเลย

ไม่เคยได้ยินเสียงของพรรคการเมืองมาบอกว่า เอ๊ะ! นี่เรื่องนี้ประชาชนยังไม่ได้นะ เคยได้ยินไหม ถามจริงๆ เถอะ มีแต่ออกมาพูดเรื่องที่มาของนักการเมือง ก็เกี่ยวข้องเฉพาะผลประโยชน์ส่วนตัว



คิดอย่างไรกับเสียงท้วงติง กมธ.ยกร่างฯ ว่าร่างรัฐธรรมนูญโดยมีอคติต่อพรรคการเมือง??

พรรคต่างๆ ต้องยอมรับว่า วิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้นครั้งที่แล้ว เกิดมาจากฝ่ายการเมืองทั้งสิ้น รัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ก็ถูกฝ่ายการเมืองบิดเบือนหลักการ เช่น การชุมนุมของประชาชน ตามมาตรา 40 องค์กรอิสระต่างๆ ก็ถูกฝ่ายการเมืองต่างแทรกแซง วิกฤติถึงขั้นต้องล้มรัฐธรรมนูญ ตรงนี้ฝ่ายการเมืองต้องยอมรับด้วย กมธ.จึงต้องหาทางป้องกัน

ขอยกพระพุทธเจ้าที่ทรงบัญญัติข้อวินัย หรือข้อห้ามของพระภิกษุสงฆ์ ก็มักจะมาตามหลังจากการที่มีพฤติกรรมที่คาดไม่ถึงทั้งนั้น ไม่ใช่บัญญัติไว้ล่วงหน้า

เช่นเดียวกับกฎหมายอาญา หรือกฎหมายแพ่ง ก็จะออกย้อนหลังตามเหตุที่กระทำ ร่างรัฐธรรมนูญก็เหมือนกัน ไม่ใช่จะดูแค่ฉบับปี 40 แต่เราดูตั้งแต่ฉบับปี 2475 ว่าอะไรดี หรืออะไรไม่ดี

ไม่ใช่เจตนาว่า อคติกับพรรคการเมืองฝ่ายไหน แต่คุณทำให้เห็นอย่างนี้แล้วจะไม่หาทางป้องกันได้อย่างไร คนอื่นเขาไม่ได้ทำจะไปป้องกันคนอื่นได้อย่างไร ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คือ การป้องกันสิ่งที่ฝ่ายการเมืองเคยทำไว้



บางพรรคการเมืองระบุว่า มีสมาชิกพรรคหลายสิบล้านคน เปรียบเหมือนเจ้าของบ้านที่ กมธ.ต้องให้ความสำคัญ ไม่ใช่ร่างกันมาแล้วมาถามทีหลัง??

ประชาชนที่จะใช้รัฐธรรมนูญนี้มีมากกว่าสมาชิกพรรคการเมือง คือ มีทั้งประเทศเลย ผมยังไม่เคยอ้าง ผมอยากให้พรรคการเมืองได้ดูทั้งฉบับก่อนที่จะออกมาพูดอะไร

ผมยืนยันว่า กมธ.ยกร่างฯ ทั้ง 35 คน รับฟังความเห็น แต่ขอให้เป็นความเห็นเพื่อคนส่วนใหญ่ สำหรับคนส่วนน้อยก็ไม่ใช่ละเลยก็เสนอมา พรรคการเมืองก็เป็นภาคส่วนหนึ่งเหมือนกับกลุ่มอาชีพต่างๆ หรือทั้ง 12 องค์กร ที่เรารอรับฟังอยู่


ห่วงหรือไม่ถ้าพรรคการเมืองไม่พอใจเนื้อหารัฐธรรมนูญ จะมีการเคลื่อนไหวให้ประชาชนไม่รับรัฐธรรมนูญ หรือคว่ำประชามติ??

ก็สุดแล้วแต่เขา ผมไม่มีสิทธิจะไปห้ามใคร เรื่องความสงบเรียบร้อยของการทำประชามตินั้น เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่ต้องดูแลให้ได้ รัฐบาล หรือฝ่ายทหาร มีกลไกในการรักษาความสงบเรียบร้อย


มีการมองกันว่า การวินิจฉัยยุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญ จะมีผลต่อการลงประชามติ ท่านคิดอย่างนั้นหรือไม่

เรื่องทางการเมืองนั้น ผมเคยพูดหลายครั้งว่า การบริหารบ้านเมืองอย่าทำให้ประชาชนเกิดอึดอัด หรือรู้สึกไม่ดีมันจะพลอยพาลไปหมดเลยไม่ว่าเรื่องอะไรทั้งนั้น รวมถึงรัฐธรรมนูญด้วย



ในฐานะที่อยู่ในแวดวงข่าวกรองมานาน วิเคราะห์เหมือนกับ กมธ.ยกร่างฯ บางคนหรือไม่ว่า ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะมีเหตุการณ์ "นองเลือด"??

ผมพูดตรงๆ นะว่า คงไม่ถึงขั้นนองเลือด คิดกันเกินไป แต่อาจจะเป็นการพูดจากฝ่ายที่ต้องการต่อรอง ข่มขู่ ก็ได้ อย่าไปหวั่นไหว กลไกในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน หรือกลไกในการสร้างความเข้าใจก็มีอยู่

และที่สำคัญที่สุด ผมไม่เชื่อว่าประชาชนทุกฝ่าย ทุกพวกอยากจะเกิดความรุนแรง การปลุกระดม ยุยงอาจจะมีอยู่ แต่คงไม่ถึงขั้นนองเลือด ผมมองอย่างนั้น มองจากความรู้สึกจริงๆ


ส่วนที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาประกบ เพื่อรองรับหากฉบับ ส.ส.ร.ไม่ผ่านประชามติ??

ตามที่เข้าใจ คือ นั่นเป็นผลการประชุมของ สนช. ที่ชะอำ แล้วรวบรวมมาเป็นความคิดเห็น ซึ่งเราก็ต้องฟัง แต่คงไม่ใช่การร่างมารอไว้ทั้งฉบับ เพราะ สนช.ไม่มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ร.



ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพ จาก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์