ไปดู! เส้นทางเก้าอี้บิ๊กทหาร จากข้อมูลสู่มโน?!

ไปดู! เส้นทางเก้าอี้บิ๊กทหาร จากข้อมูลสู่มโน?!

 

มติชนรายวัน 7 กันยายน 2557


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิ่งส่งเสียงเตือนสื่อว่าอย่า "มโน" วิเคราะห์วิจารณ์การโยกย้ายทหาร โดยแยกเป็นกลุ่มนั้น สายนี้

แต่ถ้ามาดูกันจริงๆ การโยกย้ายตำแหน่งสำคัญๆ ของกองทัพ มีที่มาที่ไป เป็นฐานพอให้เปรียบเทียบได้ว่า ส่วนใหญ่แล้ว ตำแหน่งสำคัญๆ มาจากตรงไหนของกองทัพ

อย่างตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) นับตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ถือเป็นตำแหน่งสำคัญต่อการกำหนดทิศทางของการเมืองไทย จนถูกจารึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลายยุคหลายสมัย

ภูมิหลังในหน่วยงานที่แต่ละ ผบ.ทบ.เคยสังกัดมา ก่อนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแห่งกองทัพบกเป็นปัจจัยสำคัญต่อแรงสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายทางอำนาจ

ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าหน่วยทหารหน่วยใดที่มีอิทธิพลต่อการกุมกำลังของกองทัพบก

ในที่นี้จะเริ่มตำแหน่ง ผบ.ทบ. หลังจากสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นต้นมา

พล.อ.ประยุทธ์ จารุมณี ผบ.ทบ. ลำดับที่ 23 (ระหว่าง 26 สิงหาคม 2524-30 กันยายน 2525) เติบโตมาจากเจ้ากรมข่าวทหารบก พ.ศ.2514 จากนั้นขยับเป็นผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายข่าว

พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ผบ.ทบ.ลำดับที่ 24 (ระหว่าง 1 ตุลาคม 2525-27 พฤษภาคม 2529) เติบโตมาในหน่วยกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1.รอ.) หรือสายวงศ์เทวัญ

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ผบ.ทบ.ลำดับที่ 25 (ระหว่าง 28 พฤษภาคม 2529-28 มีนาคม 2533) เติบโตมาจากทหารสื่อสาร

พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผบ.ทบ.ลำดับที่ 26 (ระหว่าง 29 มีนาคม 2533-6 เมษายน 2535) เติบโตจากทหารปืนใหญ่, พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี ผบ.ทบ.ลำดับที่ 27 (ระหว่าง 7 เมษายน 2535-31 กรกฎาคม 2535) เติบโตมาจากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1รอ.) หรือสายวงศ์เทวัญ

พล.อ.วิมล วงศ์วานิช ผบ.ทบ.ลำดับที่ 28 (ระหว่าง 1 สิงหาคม 2535-30 กันยายน 2538) เติบโตมาจากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1รอ.) สายวงศ์เทวัญ

พล.อ.ประมณฑ์ ผลาสินธุ์ ผบ.ทบ.ลำดับที่ 29 (ระหว่าง 1 ตุลาคม 2538-30 กันยายน 2539) เติบโตมาจากสายยุทธการ

พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ผบ.ทบ.ลำดับที่ 30 (ระหว่าง 1 ตุลาคม 2539-30 กันยายน 2541) เติบโตมาจากสายทหารราบ เคยเป็นทั้ง รอง ผบ.พล.2 รอ. ทั้ง ผบ.พล.11 ถูกจัดว่าเป็นบูรพาพยัคฆ์

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผบ.ทบ.ลำดับที่ 31 (ระหว่าง 1 ตุลาคม 2541-30 กันยายน 2545) เติบโตมาจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จ.ลพบุรี

พล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์ ผบ.ทบ.ลำดับที่ 32 เติบโตมาจากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1รอ.) หรือสายวงศ์เทวัญ

พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ผบ.ทบ.ลำดับที่ 33 เติบโตมาจากสายทหารช่าง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผบ.ทบ. ลำดับที่ 34 เติบโตมาจากสายกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.2รอ.) หรือบูรพาพยัคฆ์

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ลำดับที่ 35 เติบโตมาจากสายหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ลำดับที่ 36 เติบโตมาจากกองพลที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.2รอ.)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ลำดับที่ 37 คนปัจจุบัน เติบโตมาจากกองพลที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.2รอ.) นายทหารสาย "บูรพาพยัคฆ์" เช่นกัน

และ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. ที่คาดหมายว่าจะมานั่งเก้าอี้ ผบ.ทบ.คนที่ 38 เป็นนายทหารอยู่ในสาย "บูรพาพยัคฆ์" เช่นกัน

ทั้งนี้ จากชื่อของ ผบ.ทบ.และหน่วยงานที่แต่ละคนเคยสังกัด เก้าอี้ "ผบ.ทบ." มาอยู่ในมือ พล.2 รอ. ถึง 3 คน แต่หากย้อนดูก่อน

เหตุการณ์รัฐประหาร 2549 พบว่า ขุมกำลังสำคัญที่ครองอำนาจในกองทัพบกอย่างยาวนานมักถูกยึดครองจากสาย พล.1 รอ. หรือที่นิยมเรียก "วงศ์เทวัญ" โดยตลอด เพราะนายทหารกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่เติบโตมาจากกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) และกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) ซึ่งมีหน่วยระดับคุมกำลังรบที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร

แต่ประวัติศาสตร์ก็ถูกเขียนใหม่ หลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 ทหารในสาย พล.2รอ. นาม "บูรพาพยัคฆ์" ได้กลายเป็นเครือข่ายนายทหารใหม่ที่เติบโตขึ้น พร้อมทั้งผงาดเข้ามามีอิทธิพลครองตำแหน่งสำคัญในกองทัพ จาก "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สู่ "บิ๊กป๊อก" พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา กระทั่งปัจจุบันเป็น "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเห็นว่าไม่มีนายทหารนอกสาย "บูรพาพยัคฆ์" ที่จะเบียดขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ.ได้เลย

แม้ยามวิกฤตความขัดแย้งขั้วการเมืองแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทั้ง "เหลือง-แดง-กปปส." ทหารกลุ่มนี้ล้วนมีบทบาทในการประคับประคองบ้านเมืองมาโดยตลอด เพื่อป้องกันมิให้เข้าสู่สถานการณ์จลาจล บ้านเมืองวุ่นวาย หากแต่ก็เกิดความสูญเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมากทั้งเหตุการณ์พฤษภาฯ 2552-2553 และวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง 2556-2557 เป็นต้น

จนกระทั่ง ความขัดแย้งทางการเมืองได้ยุติลง เพื่อลดความสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจกระทำการรัฐประหาร วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยเข้ามาควบคุมอำนาจและบริหารประเทศ จากนั้นได้สถาปนาเป็น "รัฏฐาธิปัตย์" แห่ง "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" (คสช.) และสานต่อนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ในขณะเดียวกันยังทำให้ทหารสาย "บูรพาพยัคฆ์" มีชื่อติด ครม.ชุดนี้อยู่หลายคน

อาทิ พี่ใหญ่ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร มานั่งเป็นรองนายกฯควบ รมว.กลาโหม ดึงเอาพี่รองอย่าง "บิ๊กป๊อก" พล.อ.อนุพงษ์ มานั่งเป็น รมว.มหาดไทย และเตรียมส่งไม้ต่อให้ "บิ๊กโด่ง" พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะรอง ผบ.ทบ. "ทหารเสือราชินี" กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) ที่ถูกรวมเป็น "บูรพาพยัคฆ์" ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.คนต่อไป

จากปรากฏการณ์ทั้งหมดถือเป็น "ยุคทอง" ทหารสายตะวันออกแห่ง "บูรพาพยัคฆ์" ที่ครองอำนาจ

นั่นคือฐานข้อมูลเชิงสถิติในการคิดวิเคราะห์ แต่ถ้าวิเคราะห์เรื่อยเปื่อยเกินเลย ก็ต้องน้อมรับข้อหา "มโน" กันไป


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์