เผยศาลอาญาเคยชี้คดีสลายม็อบปี 53 เป็นอำนาจของดีเอสไอ

เผยศาลอาญาเคยชี้คดีสลายม็อบปี 53 เป็นอำนาจของดีเอสไอ


เผยศาลอาญาเคยชี้คดีสลายม็อบปี 53 เป็นอำนาจของดีเอสไอ


 วันที่ 28 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ศาลอาญา ได้ไต่สวนมูลฟ้องคดีหมายเลขดำ อ.310/2556 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ในฐานะอดีตหัวหน้าชุดคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553, พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกับเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตและเป็นเจ้าพนักงานสอบสวน กระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 90, 157, 200 กรณีเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554-13 ธันวาคม 2555 ได้มีการสรุปสำนวนนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพในข้อหาก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนาและเล็งเห็นผล จากการที่ออกคำสั่งศอฉ.ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ซึ่งโจทก์เห็นว่าการแจ้งข้อหาบิดเบือนจากข้อเท็จจริง และดีเอสไอไม่มีอำนาจ ต้องเป็นการวินิจฉัยของ ป.ป.ช.

 โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า สืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มนปช.ระหว่างปี 2551-2553 มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมหลายหมื่นคน ต่อมามีความรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีจึงได้ประกาศใช้พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ต่อมาเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าปฏิบัติการขอคืนพื้นที่บริเวณแยกผ่านฟ้าและถ.ราชดำเนิน จนเกิดการปะทะกับกลุ่มที่อ้างว่าเป็นชายชุดดำ มีเจ้าหน้าที่ทหารและผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต หลังจากนั้นโจทก์ที่ 2 ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารสามารถใช้อาวุธปืนและจัดให้มีหน่วยพลทหารซุ่มยิงระยะไกลได้ ซึ่งการชุมนุมของกลุ่มนปช.ดำเนินเรื่อยมา และได้ยุติลงเมื่อเหตุการณ์วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งบางรายเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร หลังจากนั้นพนักงานอัยการได้ยื่นไต่สวนชันสูตรสาเหตุการตาย

 โดยศาลได้มีคำสั่งว่าผู้เสียชีวิตบางราย โดยเฉพาะนายพัน คำกอง ที่เสียชีวิตจากกระสุนปืนความเร็วสูงที่ยิงมาจากฝั่งของเจ้าหน้าที่ทหาร ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสี่ จึงเป็นการดำเนินการไปตามพยานหลักฐาน กระทำไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย พยานหลักฐานที่นำสืบของโจทก์จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่ มีเจตนาบิดเบือนแจ้งข้อกล่าวหาหรือกลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด 

 ส่วนที่โจทก์ระบุว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ทั้งสองมีตำแหน่งทางการเมือง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และฉบับแก้ไขนั้นเห็นว่า คดีที่จำเลยได้ดำเนินการทำสำนวนและส่งให้พนักงานอัยการนั้น เป็นคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งอัยการสูงสุดก็ได้มีคำสั่งให้ฟ้องโจทก์ ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสี่ จึงเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ ไม่ได้บิดเบือนหรือกลั่นแกล้ง จึงพิพากษายกฟ้อง

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์