รังสิตโพลล์ แสกหน้าเกินครึ่งไม่เอา แม้ว ชี้ 12 ล.เสียงเมิน ทรท.

รังสิตโพลล์ แสกหน้าเกินครึ่งไม่เอา แม้ว ชี้ 12 ล.เสียงเมิน ทรท.

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 30 มีนาคม 2549 23:47 น.

รังสิตโพลล์ ตีแสกหน้า ชี้ คนไทยเกินครึ่ง (53.1 เปอร์เซ็นต์) ไม่พอใจผลงานรัฐบาล ทักษิณ ขณะที่มีเพียง 28.4 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่ยังปลื้ม ขณะเดียวกัน 57.5 เปอร์เซ็นต์ วอนอย่ากลับมาเป็นนายกฯอีกเลย มีแค่ 23.1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่ยังเห็นดีเห็นงาม และมีถึง 45.4 เปอร์เซ็นต์ จะกาในช่องไม่เลือกใคร ชี้ 12 ล้านเสียงบอกเลิกศาลา ทรท.แล้ว

วันนี้ (30 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 15.00 น. นายทวีเกียรติ ประเสริฐเจริญสุข รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต แถลงข่าวผลสำรวจความเห็นจากประชาชน ในหัวข้อ ทัศนะประชาชนต่อสถานการณ์การเลือกตั้งที่จะมาถึง ว่า ระหว่างวันที่ 28-29 มีนาคม 2549 โดยแยกพื้นที่ที่ทำการสำรวจเป็น 24 จุด กระจายไปในเขตกรุงเทพมหานคร 9 แห่ง และต่างจังหวัด 12 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี สมุทรปราการ สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ลำปาง เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี สงขลา สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช รวมแล้วมีประชาชนให้ข้อมูลทั้งสิ้น 2,341 ราย

นายทวีเกียรติ กล่าวว่า ข้อมูลภูมิหลังของผู้ให้ข้อมูล พบว่า เป็นหญิงมากกว่าชายเล็กน้อย (ร้อยละ 51.3 ต่อ 48.7) ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 18-25 ปี (ร้อยละ 36.0) ลดหลั่นลงไป ได้แก่ อายุระหว่าง 26-39 ปี 40-59 ปี และ 60 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 35.6 , 22.0 และ 6.4 ตามลำดับ) ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด (ร้อยละ 68.0) ที่เหลือเป็นคนกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล (ร้อยละ 32.0) ส่วนใหญ่เป็นประชาชนทั่วไป (ร้อยละ 47.1) ลดหลั่นลงมาเป็นภาคเอกชนและภาครัฐ/ราชการ (ร้อยละ 30.1 และ 22.8 ตามลำดับ) ด้านการศึกษา พบว่า ส่วนใหญ่มีการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป (ร้อยละ 63.9) และมีเพียงส่วนน้อยที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี (ร้อยละ 36.1)
สำหรับรายได้พบว่าเกินครึ่งเล็กน้อยมีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท (ร้อยละ 52.2) ที่เหลือสูงกว่า 15,000 บาท (ร้อยละ 47.8)

สำหรับผลการสำรวจ พบว่า ความคิดเห็นต่อความพอใจในการบริหารงานของรัฐบาล พบว่า เกินครึ่งไม่พอใจ (ร้อยละ 53.1) ที่เหลือพอใจ (ร้อยละ 28.4) และ ไม่ออกความเห็น (ร้อยละ 18.5) สำหรับความเห็นต่อการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร พบว่า ส่วนใหญ่มองว่าไม่ควรเป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป (ร้อยละ 57.5) มีเพียงส่วนน้อยที่ยังคิดว่าควรเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป (ร้อยละ 23.1) และไม่มีความเห็น (ร้อยละ 19.4) ขณะที่ความเห็นต่อการมีนายกรัฐมนตรีพระราชทาน พบว่า เกือบครึ่งเห็นด้วย (ร้อยละ 48.4) ที่เหลือไม่เห็นด้วย (ร้อยละ 26.4) และไม่มีความเห็น (ร้อยละ 24.8)

นายทวีเกียรติ กล่าวว่า ทางด้านการเลือกตั้ง พบว่า เกือบครึ่งจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งแต่จะกาในช่องไม่ลงคะแนน (ร้อยละ 45.4) ยังคงเลือกพรรคไทยรักไทย (ร้อยละ 19.6) เลือกพรรคอื่น(ร้อยละ 14.6) ไม่ใช้สิทธิเลือกตั้ง (ร้อยละ 9.5) และที่เหลือไม่ออกความเห็น (ร้อยละ 10.9)

อย่างไรก็ตาม เมื่อทำการพยากรณ์เฉพาะผู้ที่เลือกพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว หรือมีผู้ที่เคยเลือกไทยรักไทย 19 ล้านเสียง ปัจจุบันยังคงเลือกพรรคไทยรักไทยเพียงร้อยละ 37.7 (หรือประมาณ 7.2 ล้านเสียง) กล่าวได้ว่า 12 ล้านเสียงที่เคยรักและเลือกพรรคไทยรักไทยได้เปลี่ยนใจไปกาช่องไม่ลงคะแนนร้อยละ 37.4 (หรือประมาณ 7 ล้านเสียง) เลือกพรรคอื่นร้อยละ 11.3 (หรือประมาณ 2 ล้านเสียง) ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 4.1 (8 แสนเสียง) และไม่มีความเห็นร้อยละ 9.4 (หรือประมาณ 1.9 ล้านเสียง)

อย่างไรก็ดี เมื่อย้อนไปพิจารณาถึงผลการสำรวจของรังสิตโพลล์ เมื่อวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า คนที่เคยรักพรรคไทยรักไทยและวันนั้นยังรักพรรคไทยรักไทย มี 10 ล้านเสียง และผลสำรวจเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา มีประมาณ 7 ล้านเสียง และปัจจุบันแม้ว่าฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะมีการชุมนุมขับไล่ทุกวัน แต่พรรคไทยรักไทยยังสามารถรักษาแฟนพันธุ์แท้ไทยรักไทยได้ที่ 7 ล้านเสียง แต่ที่น่าสนใจ คือ ผู้ที่เคยเลือกพรรคไทยรักไทย แต่ความเห็นปัจจุบัน คือ จะกาช่องไม่เลือกใครเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 7 ล้านเสียง จากเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่มีประมาณ 4.8 ล้านเสียง

นายทวีเกียรติ กล่าวด้วยว่า หากถามถึงการคาดการณ์ว่าจะมีการโกงเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 ในระดับใด พบว่า มีเพียงส่วนน้อยที่มองว่าจะไม่มีการทุจริตเลือกตั้ง (ร้อยละ 6.5) ส่วนใหญ่มองว่าจะมีการทุจริตอย่างมาก ทุจริตพอสมควร และทุจริตน้อย (ร้อยละ 39.8 , 33.7 และ 20.0 ตามลำดับ) และเมื่อถามว่าภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 ผ่านพ้นไปแล้วสถานการณ์ความขัดแย้งทางสังคม ในการขับไล่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร จะสงบเรียบร้อยลงหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่มองว่าไม่สงบ (ร้อยละ 68.3) มองว่าจะสงบลง(ร้อยละ 14.1) และไม่ออกความเห็น (ร้อยละ 17.6)

ผลการสำรวจนี้ ชี้ให้เห็นนัยยะทางการเมืองที่สำคัญ 2 ประการ คือ ประชาชนไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 จะทำให้สถานการณ์การขับไล่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะสงบลง และชี้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้แม้จะมีพรรคการเมืองใหญ่เพียงพรรคเดียวที่เสนอตัวเข้าแข่งขันแต่ก็จะมีการทุจริตเลือกตั้งครั้งมโหฬารขึ้นอย่างแน่นอน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์