บทจบ การเมือง มากับ นายกฯคนกลาง บทจบ ของใคร

บทจบ การเมือง มากับ นายกฯคนกลาง บทจบ ของใคร

เห็นรายชื่อ 12 องค์กรที่ได้รับเชิญเข้าร่วมหารือกับกลุ่ม 40 ส.ว.อันมี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย นั่งเป็นประธานแล้ว "เหนื่อย"

ตัดชื่อบุคคลอันมาในฐานะตัวแทน "ประธานศาลฎีกา" ออกไป ตัดชื่อบุคคลอันมาในฐานะตัวแทน "ประธานศาลปกครองสูงสุด" ออกไป

ตัดออกไปด้วย "ความเคารพ"

แล้วเดินผ่านรายชื่อ นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาส ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสน. นายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


ยิ้มเห็นแก้ม แย้มเห็นไรฟัน

เหมือนกับเห็นรอยยิ้มของ นายอิสระ ว่องกิจกุศล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เหมือนกับเห็นไรฟันของ นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง

ยิ่งเมื่อมีกำหนดไปพบ "ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทสไทย" ที่นิด้ายิ่งชัด

คนเหล่านี้ล้วนเคยมี "ส่วนร่วม" ในการเคลื่อนไหวกับ กปปส.มาตั้งแต่ต้น เคลื่อนจนก่ออาการป่วน โกลาหลให้บังเกิดขึ้น แล้วก็หันมาเล่นบทใหม่ เป็นบทในการหาทางออกให้กับประเทศ

บท "คนดี" เหมือนๆ กับที่ "คนดีแต่พูด" เคยแสดงมาแล้ว


ละครการเมืองอัน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กดดันอย่างแข็งกร้าวให้ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย เป็นผู้ออกหน้ามิได้เป็นเรื่องใหม่อะไรเลย

ขอให้ดูคนที่แวดล้อม นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย แต่ละคน

อย่าง นายคำนูณ สิทธิสมาน อย่าง นายไพบูลย์ นิติตะวัน อย่าง นายสมชาย แสวงการ อย่าง นายประสาร มฤคพิทักษ์ อย่าง นายวันชัย สอนศิริ

หรืออย่าง นายอภิชาต ดำดี ซึ่งมาจากกระบี่

คนเหล่านี้จะแตกต่างอะไรจาก พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม จะแตกต่างอะไรจาก พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์

และแตกต่างอะไรจาก พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์

ข้อดีจากการเคลื่อนไหวของ ส.ว.มี 2 อย่างอย่างเด่นชัด กล่าวคือ 1 สะท้อนสภาวะจนแต้มอับตันของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขณะเดียวกัน 1 ลากดึงเอาเครือข่ายที่เคยร่วมมือและ "สมคบคิด" กันตั้งแต่ก่อนและหลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ออกมาอย่างล่อนจ้อน เปล่าเปลือย

ไม่ว่าคนนั้นจะชื่อ นางอมรา พงศาพิชญ์ ที่ไปปรากฏตัว ณ กองบังคับการทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ระหว่างเหตุการณ์เดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

เรียกตามสำนวนไทยก็ต้องว่าเป็นการ "ดิ้น" เฮือกสุดท้าย

ในที่สุด เส้นทางของ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ก็จะเดินย้ำซ้ำไปรอยเดียวกันกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.

คือ เล่นงานได้เฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

รูปธรรมและความเป็นจริงก็คือ มิอาจและไม่สามารถก่อสภาวะ "สุญญากาศ" ทางการเมืองให้เกิดขึ้นได้

ความเพียรของ นายสุรชัย เลี้ยวบุญเลิศชัย คือทางเลือก 1

เป็นทางเลือก 1 ก่อนที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะประกาศยึดอำนาจ ทำตนเป็น "องค์รัฏฐาธิปัตย์" เรียกตัวข้าราชการให้ไปรายงานตัวในวันที่ 17 พฤษภาคม

เหมือนที่เคยประกาศเมื่อเดือนธันวาคม 2556

เหมือนที่เคยประกาศเมื่อเดือนเมษายน 2557

หากมีควาามมั่นใจในความเป็น "องค์รัฏฐาธิปัตย์" เหตุใด นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่ประกาศชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ

แล้วรอ "ลงนาม" รับสนอง "พระบรมราชโองการ" เองเล่า

ประเด็นอันแหลมคม ร้อนแรงยิ่งกว่านั้นนอกจากการเดินหน้าในแนวทางนี้ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แล้วประชาชนยังรอรับฟัง "ชื่อ" ของนายกรัฐมนตรีคนกลาง

ด้วยความ "ระทึก" ใน "ดวงหทัย" อย่างยิ่ง


จากนี้จึงเด่นชัดยิ่งว่าการเคลื่อนไหวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 ได้เข้าใกล้ "บทจบ" อย่างยิ่งแล้ว

คำถามอยู่ที่ว่า 1 เป็นบทจบของสิ่งที่เรียกว่า "ระบอบทักษิณ" หรือว่า 1 เป็นบทจบของ กปปส.และ
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

จำเป็นต้องร้องเพลง "จูบ" กะ "รอ" ต่อไปอีกเล็กน้อย

 

................

 

(ที่มา:มติชนรายวัน16 พ.ค.57)


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์